×

รู้จักวัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์ (Bivalent Vaccine) ที่เริ่มฉีดในอเมริกาและสิงคโปร์แล้ว

19.10.2022
  • LOADING...
วัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์ (Bivalent Vaccine)

เมื่อ 2 ปีก่อนวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) เคยถูกพูดถึงว่าจะเป็นวัคซีนที่สามารถ ‘อัปเดต’ ตามการกลายพันธุ์ของไวรัสได้เร็วที่สุด เพราะสร้างจากสารพันธุกรรมที่สังเคราะห์ขึ้นมาในห้องแล็บ นักวิทยาศาสตร์จึงสามารถสร้างวัคซีนรุ่นใหม่ได้ทันทีที่ทราบรหัสพันธุกรรมที่เปลี่ยนไปของไวรัส

 

เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2022 องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US FDA) ได้อนุมัติวัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์ (Bivalent Vaccine) ของ Moderna และ Pfizer เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับวัยรุ่น/ผู้ใหญ่อายุ 12 ปีขึ้นไป และล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2022 สำหรับเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป

 

วัคซีนแบบ 2 สายพันธุ์นี้ประกอบด้วยสายพันธุ์อะไรบ้าง ประสิทธิผลเป็นเท่าไร และขณะนี้มีประเทศใดบ้างที่อนุมัติให้ใช้วัคซีนรุ่นใหม่นี้แล้ว หาคำตอบได้จากบทความนี้

 

สายพันธุ์ในวัคซีนรุ่นใหม่

 

ไวรัสกลายพันธุ์ตลอดเวลาจากสายพันธุ์ดั้งเดิม (อู่ฮั่น) มาเป็นอัลฟา เดลตา จนมาถึงโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1, BA.4 และ BA.5 ซึ่งขณะนี้ก็ยังกลายพันธุ์ต่อไปอีก ตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่นักวิทยาศาสตร์สนใจคือโปรตีนหนาม (Spike) เพราะเป็นส่วนที่ไวรัสใช้เกาะกับเซลล์ของร่างกาย

 

mRNA เป็นสารพันธุกรรมที่เป็นต้นแบบในการสร้างโปรตีนของร่างกาย วัคซีนโควิดชนิด mRNA สังเคราะห์ขึ้นจากรหัสพันธุกรรมของไวรัส เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกาย จะเป็นต้นแบบในการสร้างโปรตีนหนามขึ้นมากระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันแทนการติดเชื้อจริง เราจึงมีแอนติบอดี (Antibody) ต่อหนามของไวรัส 

 

ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลงตามระยะเวลา เราจึงต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามช่วงเวลาที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขแนะนำ ระดับแอนติบอดีที่สูงสามารถป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ได้ แต่เมื่อไวรัสต่างไปจากเดิมมาก (โอมิครอนทั้งหมดมีความแตกต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิมร่วมกัน 21 ตำแหน่ง)

 

นักวิทยาศาสตร์จึงคิดค้นวัคซีนแบบ 2 สายพันธุ์ขึ้น ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วย mRNA ของสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์โอมิครอนอย่างละครึ่ง เช่น วัคซีนแบบ 2 สายพันธุ์ของ Moderna สำหรับผู้ใหญ่ขนาด 50 ไมโครกรัม แบ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม 25 ไมโครกรัม และสายพันธุ์โอมิครอน 25 ไมโครกรัม 

 

ปัจจุบันวัคซีนแบบ 2 สายพันธุ์ ยังมีความแตกต่างในสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนว่าเป็น BA.1 หรือ BA.4/BA.5 (2 สายพันธุ์หลังนี้มีโปรตีนหนามเหมือนกัน) ขึ้นกับการขออนุมัติจากองค์การอาหารและยาในแต่ละประเทศ และน่าจะเกี่ยวกับแผนการผลิตและกระจายวัคซีนของบริษัทด้วย

 

ประสิทธิผลของวัคซีน 

 

หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าโควิดจะระบาดตามฤดูกาลเหมือนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในประเทศใกล้เขตร้อนมักพบการระบาดช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ส่วนเขตอบอุ่นมักพบการระบาดช่วงฤดูใบไม้ร่วงต่อฤดูหนาว ไวรัสไข้หวัดใหญ่ก็กลายพันธุ์ตลอดเวลาเช่นกัน วัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ทุกปี 

 

การทดสอบวัคซีน ประกอบด้วยการศึกษาในสัตว์ทดลองและคน ซึ่งในคนยังแบ่งเป็นอีก 4 เฟส ได้แก่ เฟส 1 ทดสอบความปลอดภัยในคนที่มีสุขภาพแข็งแรง, เฟส 2 ทดสอบความปลอดภัยและภูมิคุ้มกันในคนจำนวนมากขึ้น, เฟส 3 ทดสอบประสิทธิผลของวัคซีน และเฟส 4 ติดตามหลังออกสู่ตลาด

 

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในแต่ละปีไม่ได้ทดสอบเต็มรูปแบบเหมือนครั้งแรกสุด ซึ่งอาจทดสอบเพียงในสัตว์ทดลอง เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถผลิตวัคซีนได้ทันเวลา วัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์ก็อาจใช้แนวคิดเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งบริษัท Moderna และ Pfizer ต่างทดสอบวัคซีนรุ่นใหม่ถึงเฟส 2 แล้ว 

 

บริษัท Moderna ตีพิมพ์ผลการศึกษาเฟส 2 ในวารสารทางการแพทย์ NEJM เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2022 เปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 2 (เข็มที่ 4) ระหว่างวัคซีนรุ่นใหม่ (สายพันธุ์ดั้งเดิม และ BA.1) กับรุ่นเก่า (สายพันธุ์เดียว) พบว่ารุ่นใหม่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่า กล่าวคือ

 

  • ภูมิคุ้มกันต่อ BA.1: วัคซีนรุ่นใหม่ 2,372.4 หน่วย ส่วนรุ่นเก่า 1,473.5 หน่วย
  • ภูมิคุ้มกันต่อ BA.4/BA.5: วัคซีนรุ่นใหม่ 727.4 หน่วย ส่วนรุ่นเก่า 492.1 หน่วย แต่สังเกตว่าทั้งคู่น้อยกว่า BA.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ในวัคซีนรุ่นใหม่ 
  • นอกจากนี้ ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตาของวัคซีนรุ่นใหม่ยังสูงกว่ารุ่นเก่าอีกด้วย

 

การศึกษานี้ไม่ได้ออกแบบเพื่อประเมินประสิทธิผลของวัคซีน แต่จากการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนรุ่นใหม่ ติดเชื้อ 11 ราย ส่วนกลุ่มที่ได้รับวัคซีนรุ่นเก่า ติดเชื้อ 9 ราย ทั้งหมดไม่มีอาการรุนแรงต้องรักษาในโรงพยาบาล และไม่ได้ตรวจหาสายพันธุ์ของไวรัส

 

ผลข้างเคียงของวัคซีนทั้ง 2 รุ่นใกล้เคียงกัน ได้แก่ ปวดบริเวณที่ฉีด (วัคซีนรุ่นใหม่ 77.3% เทียบกับรุ่นเก่า 76.6%), บวม (6.9% เทียบกับ 6.6%), อ่อนเพลีย (54.9% เทียบกับ 51.4%), ปวดศีรษะ (43.9% เทียบกับ 41.1%), ปวดกล้ามเนื้อ (39.6% เทียบกับ 38.6%) และไข้ (4.4% เทียบกับ 3.4%)

 

ในขณะที่ Pfizer เผยแพร่ผลการศึกษาเฟส 2 ในเว็บไซต์ของบริษัท เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2022 ศึกษาระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ BA.4/BA.5 หลังฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแบบ 2 สายพันธุ์ที่ระยะเวลา 1 สัปดาห์ พบว่าภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในกลุ่มอายุ 18-55 ปี และกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไป

 

ประเทศที่อนุมัติวัคซีนรุ่นใหม่

 

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2022 US FDA อนุมัติวัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์เป็น ‘บูสเตอร์ที่อัปเดต’ (Updated Boosters) กล่าวคือ เป็นเข็มกระตุ้นหลังได้รับวัคซีนครบ หรือได้รับเข็มกระตุ้นมาแล้ว 2 เดือน สำหรับผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป (วัคซีน Moderna) และวัยรุ่น/ผู้ใหญ่อายุ 12 ปีขึ้นไป (วัคซีน Pfizer)

 

เริ่มฉีดในอเมริกาตั้งแต่ 2 กันยายนเป็นต้นมา และล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2022 US FDA ได้อนุมัติขยายกลุ่มอายุเป็นเด็ก 6 ปีขึ้นไป (วัคซีน Moderna) และเด็ก 5 ปีขึ้นไป (วัคซีน Pfizer) ทำให้ปัจจุบันเกือบทุกกลุ่มอายุในอเมริกาจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นแบบ 2 สายพันธุ์แทน

 

ประเทศอื่นๆ ที่อนุมัติการใช้วัคซีนรุ่นใหม่แล้ว ได้แก่ แคนาดา, สหภาพยุโรป, สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย แต่เป็นแบบสายพันธุ์ดั้งเดิม และ BA.1 ส่วนประเทศที่ใกล้กับไทย คือ สิงคโปร์ ซึ่งเริ่มฉีดวัคซีนให้กับผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ในขณะที่พบการระบาดของสายพันธุ์ XBB เพิ่มขึ้น ซึ่งกลายพันธุ์ต่อมาจาก BA.2 แสดงว่าวัคซีนรุ่นใหม่อาจอัปเดตไม่ทันการกลายพันธุ์ของไวรัส แต่ก็ใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่มากกว่ารุ่นเก่า

 

สำหรับประเทศไทยยังไม่มีข่าวว่าจะนำเข้าวัคซีนรุ่นใหม่เมื่อใด โดยเมื่อปลายเดือนกันยายน 2022 กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า “คาดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นปีละ 1-2 ครั้งแบบวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (รอคำแนะนำจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค) รวมทั้งข้อมูลวัคซีนรุ่นใหม่ และระยะเวลาที่ป้องกันโรคได้”

 

โดยสรุป วัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์ ประกอบด้วยสายพันธุ์ดั้งเดิมและโอมิครอน โดยในอเมริกาเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ส่วนประเทศอื่นๆ เป็น BA.1 ปัจจุบันยังอนุมัติให้ใช้เป็นเข็มกระตุ้นเท่านั้น ซึ่งมีข้อมูลว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ต่างๆ ได้สูงกว่ารุ่นเก่า ในขณะที่ผลข้างเคียงใกล้เคียงกัน 

 

สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ที่ถึงกำหนดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4 ไม่ควรรอวัคซีนรุ่นใหม่ เพราะยังไม่นำเข้ามาในประเทศไทย ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องวางแผนจัดการวัคซีนรุ่นเก่าที่ยังค้างอยู่และเตรียมจัดซื้อวัคซีนรุ่นใหม่ไปพร้อมกัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X