×

กาหลมหรทึก: ทำความรู้จัก ‘ปราปต์’ ผู้เขียนนิยายสืบสวนสอบสวนที่เขย่าวงการวรรณกรรมไทย

11.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins read
  • ทำความรู้จักกับปราปต์ หรือชื่อจริง เต็ก-ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ นักเขียนหนุ่มเรื่อง กาหลมหรทึก นิยายแนวสืบสวนสอบสวนของเมืองไทยที่กำลังจะกลายเป็นละครทางช่อง ONE ปลายเดือนนี้
  • ปราปต์ไม่เคยเรียนด้านอักษรศาสตร์มาก่อน แต่เขาสามารถนำ ‘กลโคลง’ รูปแบบฉันทลักษณ์แต่โบราณของไทยมาสร้างเป็นปมปริศนาในคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง พร้อมการใช้ภาษาที่สละสลวย สร้างบรรยากาศแบบไทยแท้ภายในเวลาเพียง 3 เดือน และได้รับรางวัลทางวรรณกรรมมากมาย
  • ตัวจริงของปราปต์ไม่ได้ยึดอาชีพนักเขียนเป็นงานหลัก แต่เขาเป็นหนุ่มออฟฟิศในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ประนีประนอมระหว่างความฝันของตัวเองและความห่วงใยของแม่ที่อยากให้มีงานประจำได้อย่างลงตัว

มีเรื่องน่าทึ่งมากมายเมื่อกล่าวถึงนวนิยายเรื่อง กาหลมหรทึก (กา-หน-มะ-หอ-ระ-ทึก) หนังสือชื่อแปลกที่คว้าหลายรางวัลอันทรงเกียรติมาครอง ทั้งตำแหน่งรางวัลนวนิยายยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2557 จากเวทีนายอินทร์อะวอร์ด, รองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดในปีเดียวกัน, เข้ารอบสุดท้ายของเวทีซีไรต์ และล่าสุดนิยายเรื่องนี้กำลังจะกลายเป็นละครทางช่อง ONE ในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้


ขึ้นชื่อว่าเป็นนิยายสืบสวนสอบสวน คนอ่านมักนึกถึงนักเขียนรุ่นใหญ่ในตำนานอย่าง อกาธา คริสตี้, เซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์, ซิดนีย์ เชลดอน, โยโคมิโซะ เซชิ หรือแดน บราวน์ ที่เนื้อหาหลากหลายมาพร้อมกับการเดินเรื่องอย่างมีชั้นเชิง ชวนติดตาม ว่าบทสรุปจะเป็นอย่างที่คิด หรือหักมุมไปในทิศทางที่นึกไม่ถึง  


สำหรับนิยายสืบสวนสอบสวนในไทย บ่อยครั้งจะพ่วงเรื่องความรักหรือผีสางเข้ามาดึงความสนใจผู้อ่านมากกว่าจะให้น้ำหนักปมปริศนาที่ชวนให้ขบคิด แต่ปราปต์สามารถนำรูปแบบประพันธ์ของไทยโบราณอย่าง ‘กลโคลง’ ที่น้อยคนจะรู้จักมาเป็นพระเอกของเรื่อง และสร้างเป็นคดีระทึกขวัญย้อนยุค แฝงเงื่อนงำ และการฆาตกรรมต่อเนื่องไว้ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีอยู่จริง เช่น วัดโพธิ์, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, ย่านสามแพร่ง ฯลฯ โดยมีฉากหลังเป็นเหตุการณ์จริงตามประวัติศาสตร์ไทยช่วงหลังปี 2475


เพียง 3 เดือนนับแต่จรดตัวอักษรแรก กาหลมหรทึก ก็ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง แต่สิ่งที่น่าทึ่งยิ่งกว่า คือตัวตนของผู้เขียน ปราปต์ หรือ เต็ก-ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ ที่ทาง THE STANDARD ขอพาไปย้อนรอยถึงตัวตนและความคิดของนักเขียนหนุ่ม ก่อนที่เขาจะได้ชื่อว่า ‘แดน บราวน์ แห่งสยามประเทศ’

 

 

ความรักความชอบในตัวหนังสือเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร

จริงๆ ที่บ้านไม่ได้ส่งเสริมการอ่านเลย แต่ผมชอบอ่านนิทานมาตั้งแต่เด็กๆ นิทานจะมีคำน้อย ผมก็จะชอบต่อคำเอง เติมข้างหน้า เติมข้างหลังประโยคเอง ก็เริ่มมาจากตรงนั้น พอโตขึ้นมาอีกหน่อย ผมมีพี่เลี้ยงที่เขาชอบอ่านนิยายเล่มละ 10 บาท พวกเรื่องย่อละคร เราก็ไปแอบอ่านของเขาแล้วอยากเขียนแบบนี้ พอขึ้นมัธยมต้น เข้าห้องสมุดของโรงเรียนก็เริ่มอ่านนิยาย เรื่องแรกที่อ่านและทำให้รู้จักโลกของนิยายคือ หุบเขากินคน ของมาลา คำจันทร์ ซึ่งตอนนั้นมีการสร้างเป็นละคร พอเราอ่านก็ปรากฏว่าสนุกกว่าละครอีก เราก็รู้สึกว่าอยากทำสิ่งนี้บ้าง อยากเขียน ก็เริ่มเขียนมาตั้งแต่ช่วงมัธยม

 

คุณข้ามพรมแดนมาสู่การเขียนได้อย่างไร

ตอนมัธยมต้นเรายังไม่รู้จักอินเทอร์เน็ตเลย เราเริ่มจากเขียนใส่กระดาษ แล้วก็รู้แค่ว่านิยายจะต้องเอาไปตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ หรือต้องส่งตามนิตยสาร ขวัญเรือน ตอนนั้นผมอ่านนิยายของทมยันตี โบตั๋น แล้วก็เขียนเรื่องขนาดไม่ยาวมาก เสร็จก็ซีร็อกซ์ส่งไป แต่ไม่เคยได้ตีพิมพ์ (หัวเราะ)


พอโตมาอีกนิดหนึ่ง เริ่มมีสำนักพิมพ์ Bliss ก็ทำให้หันมาอ่านวรรณกรรมญี่ปุ่นและนิยายแนว Chic Lit ก็เริ่มรู้สึกว่าทำไมคนไทยไม่เขียนเรื่องตลกแบบนี้บ้าง เราก็เลยเขียนเรื่องตลกและเรื่องวัยรุ่น ตอนนั้นมีเรื่อง The White Road ของ Dr.Pop ที่ดังมาจากเว็บไซต์เด็กดี เมื่อเราลงแมกกาซีนไม่ได้ เราก็มาลงตรงนี้แทนแล้วกัน สักพักนิยายออนไลน์ก็บูมขึ้นมา มีสำนักพิมพ์มาเลือกว่าจะเอาเรื่องไหนไปตีพิมพ์ ของเราก็ได้พิมพ์อยู่ 3-4 เรื่อง แนวโรแมนติกวัยรุ่น พอช่วงเข้ามหาวิทยาลัยปลายๆ แล้ว เราก็อยากเขียนอะไรที่มันโตขึ้นอีก

 

ดูสนใจทางด้านการเขียนการอ่านมาก แต่ตอนเรียนคุณเลือกคณะบัญชีฯ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

จริงๆ ผมอยากเรียนอักษรฯ แต่แม่ห่วงว่าจบมาแล้วจะทำงานด้านไหน แม่อยากให้เรียนวิศวะ เพราะว่าตอนเด็กก็เรียนดี แต่ผมไม่ชอบอะไรที่เป็นงานช่าง เลยคิดว่าถ้าเรียนทางบัญชี ทางบริหาร งานมันนั่งโต๊ะ ก็น่าจะมีเวลาที่จะมาทำงานเขียนที่เรารักได้


แม่บอกเรามาแต่เด็กว่าเขียนหนังสือเป็นงานอดิเรกได้ แต่อยากให้หางานประจำไว้ก่อน ก่อนหน้าเรียนบัญชีผมเคยเอ็นทรานซ์เข้าสถาปัตย์ จุฬาฯ ได้ แต่เรียนไปแค่อาทิตย์เดียวก็บอกแม่ว่าไม่เรียนแล้ว มันทรมานตัวเองตรงที่มันเรียกร้องจากเราเยอะ เวลาทั้งหมดมันหายไปเลย ตอนเช้าเรียนในห้องแล้วตอนบ่ายต้องเข้าสตูดิโอ จากนั้นอาจารย์ก็จะให้งานแบบไม่ได้หลับไม่ได้นอน ต้องทำการบ้านส่ง ทำให้รู้สึกว่ามันมาแย่งสิ่งที่เราอยากจะทำไป

 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากทำอยู่ในใจมาตลอดคืองานเขียน

ใช่ครับ ตอนที่ไปบอกแม่ว่าจะไม่เรียนแล้ว แม่ก็เฮิร์ต ลูกเข้าสถาปัตย์ จุฬาฯ ได้ เขาก็บอกว่าให้เรียนไปก่อน อย่างน้อยก็ต้องออกไป ไม่ใช่อยู่บ้านเฉยๆ เราก็เลยไปเรียนแค่ตอนเช้า นั่งฟังพวกวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ฟังในสิ่งที่รู้สึกว่าสามารถเอามาใช้อะไรกับเราได้ แล้วเวลาว่างในตอนนั้นเรานั่งเขียนหนังสือจนได้เป็นเล่ม มุมมองตอนนั้นรู้สึกว่ามันก็คุ้มค่านะที่เราไม่เรียน แต่เราได้อะไรที่อยากจะทำจริงๆ แล้วก็ได้คอนเน็กชันกับทางสำนักพิมพ์ด้วย ซึ่งเรื่องแรกที่ได้พิมพ์ชื่อเรื่อง รักต้องปล้ำ ครับ เป็นนิยายรักวัยใส

 

 

คุณเริ่มเขียนนิยายตอนอายุน้อยมาก คุณมองโลกหรือมีวิธีเลือกพล็อตอย่างไร

เป็นการคิดจาก What if? ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นล่ะจะเป็นแบบไหน อย่าง รักต้องปล้ำ ก็มาจากตอนสอบเอ็นทรานซ์ ได้อ่านวิชาสังคม เรื่องบรรทัดฐานทางสังคมคืออะไร แล้วผมเป็นเด็กติดละคร ก็รู้สึกว่าที่พระเอกปล้ำนางเอกนี่ต้องใช้บรรทัดฐานไหนกัน เหมือนตั้งคำถามว่าถ้ามันไม่ถูกต้องแล้วคนแบบนี้ควรจะถูกลงโทษยังไง เราก็ต่อยอดไปว่า ถ้าอย่างนั้นลองให้โดนสาปกลายเป็นผู้หญิงไปเลย ก็กลายเป็นได้เรื่องแฟนตาซีแทน

 

แต่ละช่วงวัยที่โตขึ้น แนวหนังสือที่อ่านและความสนใจเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม

เปลี่ยนไปหมดตามประสบการณ์ของเรา พอเริ่มทำงาน ชีวิตหนักหน่วงขึ้น เรื่องที่เคยอ่านแล้วอิน มาตอนนี้ก็ไม่อินแล้ว เป็นความทรมานอยู่ช่วงหนึ่งเลยว่าทำไมเราถึงอ่านอะไรก็ไม่สนุก ก็ย้ายการอ่านไปเรื่อยๆ ทั้งกฤษณา อโศกสิน, ชาติ กอบจิตติ ฯลฯ


เมื่อก่อนผมจะไม่อ่านหนังสือรางวัลเลย ตอนเด็กๆ รู้สึกว่าอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่สนุก แต่พอลองกลับไปอ่านดูอีกทีตอนที่โตแล้วก็เข้าใจ เริ่มอ่านวรรณกรรมที่หนักขึ้น เรื่องที่ชอบมากคือ เด็กเก็บว่าว (แปลมาจากเรื่อง Kite Runner) เป็นเรื่องสงครามในตะวันออกกลาง ความสำนึกผิดของคนก็กลายเป็นพลิกเราเลย ทำให้เกิดมุมมองใหม่ด้วยว่าชีวิตมันไม่ได้เป็นแบบในนิยายสมัยก่อนที่เราอ่าน มันมีหลายแบบ จนทุกวันนี้เรื่อง เด็กเก็บว่าว ก็ยังเป็นเรื่องที่ชอบที่สุดอยู่


หลังๆ มาจึงอ่านทุกแนวเลย อ่านภาษาไทยจบปุ๊บก็ข้ามไปอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ ข้ามไปอ่านหนังสือจีน แล้วก็เขียนมาเรื่อยๆ ตอนใกล้ๆ จะจบปริญญาตรี ได้พิมพ์หนังสือเป็นเล่มสุดท้าย ก็ประจวบกับวงการสิ่งพิมพ์ในตอนนั้น นิยายออนไลน์มันดร็อปลง และเริ่มขยับไปทำแนวอีโรติกมากขึ้น สำนักพิมพ์ที่ผมทำก็ขยับไปทำกับเขาด้วยเหมือนกัน

 

ซึ่งคุณก็ไม่ได้ปรับแนวการเขียนตัวเองให้เข้ากับสมัยนิยม

เราไม่ได้เขียนแบบนั้น เราอยากเขียนเรื่องหนักๆ กว่านี้ ก็ไม่ได้พิมพ์อีกเลยจนอายุ 27-28 ระหว่างนั้นเราเปลี่ยนแนวไปเรื่อยๆ สืบสวนก็เคยเขียน แต่เป็นตัวละครที่เด็กหน่อย จนรู้สึกว่าทำไมมันไม่ได้พิมพ์สักที ช่วงนั้นก็ถือว่าโตแล้วนะ เพื่อนๆ เราก็เริ่มเป็นหลักเป็นฐาน แต่เราไม่ทำอะไรเลย ไม่ไปเที่ยวไหน ชีวิตมอบให้การเขียนและการทำหนังสืออย่างเดียว


ตอนนั้นผมทำงานเป็น HR Training บริษัทเอกชน คือผมพยายามจะเลือกอะไรที่ไม่ต้องทุ่มเวลาให้กับมันมากนัก เลิกงานก็กลับบ้านได้ เราตั้งใจว่าอยากก้าวหน้าในการเขียน แต่ปรากฏว่าทำไมชีวิตเราเป็นอย่างนี้ เพื่อนที่เรียนไม่เก่ง ที่ลอกการบ้านเรา มันไปถึงไหนแล้ว แต่เรายังดักดานอยู่เลย ก็เลยให้เส้นตายตัวเองไว้ว่าอีก 1 ปีนับจากนี้ ถ้ายังไม่ได้พิมพ์อีกก็คงเลิก ไปเรียนปริญญาโท หรือไปหาอย่างอื่นทำ จุดนั้นเองทำให้รู้สึกว่าต้องพิสูจน์ตัวเอง จากที่ไม่เคยคิดว่าจะส่งประกวดก็เลยหาดูว่ามันมีการประกวดอะไรบ้าง ก็มาเห็นนายอินทร์อะวอร์ด

 

ที่คุณบอกว่าจะใช้การเขียนนิยายเล่มนี้ชี้วัดชีวิต แล้วพอมันไปไกล ได้รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ชีวิตคุณเปลี่ยนไหม

เปลี่ยนนะ คือถ้าเรื่องนี้ไม่ได้รางวัลจะเลิกเขียนแล้ว แต่ปรากฏว่าเราเขียนจบภายในเวลา 3 เดือน แล้วเรื่องมันยาก เราไม่เคยคิดว่าจะเขียนพีเรียดได้ พอทำได้แล้วมันเติมเต็มเรา

 

คุณแม่ว่าอย่างไรบ้างหลังจากได้รางวัล

ตอนที่ประกาศรางวัลนายอินทร์ เรารีบพาแม่ไปด้วย ให้แม่เห็นว่ามันยิ่งใหญ่นะ แม่ก็เลยโอเคบ้างนิดหนึ่ง แล้วพอจะมีละครปุ๊บ แม่ติดละคร ชีวิตก็จะดีขึ้น เพราะมีละครมาช่วย (หัวเราะ) แต่ถ้าถามโดยเนื้อแท้จริงๆ แม่ก็ยังไม่ชอบอยู่ดี เคยพูดกับแม่ว่าจะลาออกมาเขียนหนังสือนะ ก็เรื่องยาว กลายเป็นมีคำถามเยอะไปหมด ทำให้เราต้องคงสถานะแบบนี้ไปก่อน

 

 

ทราบมาว่าพล็อตเรื่องของ กาหลมหรทึก ที่ว่าด้วยกลโคลงมีอยู่ในใจคุณมานานแล้ว

ใช่ มีมาหลายปีแล้ว มันเกิดจากมีครั้งหนึ่งไปเที่ยวต่างจังหวัดแล้วได้ฟังวิทยุ ซึ่งมีสกู๊ปเรื่องกลโคลงจารึกไว้ที่วัดโพธิ์ และผมชอบอ่าน The Da Vinci Code ก็รู้สึกว่ามันคล้ายๆ กัน น่าจะเอามาใส่ได้ แต่ตอนที่ฟังยังนึกไม่ออกนะครับ และรู้สึกว่าตัวเองยังไม่มีฝีมือมากพอที่จะเขียนได้ แต่ก็พยายามพัฒนาตัวเองเรื่อยๆ

 

คุณสร้างเรื่องราวซับซ้อนที่พัวพันกันไปทุกส่วน โดยมีจุดเริ่มต้นจากกลโคลงที่เคยได้ยินมาเท่านั้น ช่วยเล่ากระบวนการคิดต่อยอดของคุณให้ฟังได้ไหม

ผมเริ่มศึกษาก่อนว่ากลโคลงคืออะไร และเรื่องที่เกี่ยวกับภาษาในประวัติศาสตร์มีอะไรบ้าง มันก็โยงไปถึงเรื่องอักขรวิบัติ คือการเปลี่ยนวิธีการเขียนตัวหนังสือในช่วงยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม เช่น คำว่า สงฆ์ ก็เป็น สงค์ ความหมายก็เปลี่ยน พอเจอปุ๊บมันก็เป็นการหลอกอีกแบบหนึ่ง แล้วพอเรายึดมุกนี้ มันก็กลายเป็นว่าเราต้องเขียนเรื่องพีเรียด จากนั้นก็ไปหาว่ามันเกิดขึ้นในช่วงเวลาไหน ก็คือในปี 2486 ตรงกับสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

 

 

กลโคลงสัมพันธ์กับเรื่องการวางสถานที่เรียงเป็นรูปห้าเหลี่ยมของคุณด้วยใช่ไหม

ในความเข้าใจของผมมันคือ การประดิษฐ์คำโคลง ซึ่งโคลงจะมีการบังคับฉันทลักษณ์เยอะ และเขียนได้หลายแบบ แทนที่จะอ่านแบบปกติก็เอามาแปลงเป็นรูปต่างๆ ได้ อย่างที่จารึกในวัดโพธิ์จะมีทั้ง รูปกลักไม้ขีด พญานาค พระอาทิตย์ ดอกบัว อย่างของผมก็แปลงเป็นรูปห้าเหลี่ยม มันเป็นการละเล่นของกวีสมัยก่อน ถ้าเธอเก่งจริงก็ต้องสามารถเอาฉันทลักษณ์ที่ตัวเองรู้มาจับและอ่านออกมาให้ได้

 

เหตุการณ์ในเรื่องส่วนหนึ่งคือผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์ทางการเมือง สิ่งที่คุณเขียนลงไปบันดาลใจมาจากเรื่องจริงที่ค้นเจอไหม เช่น เรื่องนักโทษการเมือง

มันมีเรื่องจริงๆ นะครับ แต่ของจริงไม่ได้ลำดับเป็นตามในเรื่อง ข้อมูลที่ผมได้กระจายมาจากหลายส่วน คนนั้นเจอแบบนี้ คนนี้เจอแบบนั้น แล้วเราเอามายำรวมกัน

 

คุณเขียนเรื่องฆาตกรต่อเนื่อง คุณทำความรู้จักและทำความเข้าใจตัวละครที่มีความคิดอยากจะลุกขึ้นมาฆ่าคนอย่างไร

ถ้าเป็นคนปกติอย่างเราก็คงรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยากในการที่จะเป็นฆาตกรต่อเนื่องโรคจิตแบบนั้น แต่อีกมุมหนึ่ง เราต้องถามด้วยว่ามันฆ่าแบบไหน ถ้าเป็นการฆ่าด้วยเรื่องอำนาจ เงิน ความโลภ หรือกิเลส แบบนี้ไม่ว่าใครก็กลายเป็นฆาตกรต่อเนื่องได้ และเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าด้วยซ้ำ เพราะเงินหรืออำนาจมันสามารถเปลี่ยนแปลงคนได้ เหมือนอย่างเรื่อง The Lord of the Rings เพียงแค่ได้แหวนก็เปลี่ยนไปได้แล้ว นั่นแหละคือฆาตกรต่อเนื่องในชีวิตจริง

 

 

คุณคิดว่ากระบวนการเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนซึ่งต้องคิดหลายชั้น หลอกล่อจนคนอ่านเดาทางไม่ได้ ต้องใช้พลังงานการเขียนมากกว่าปกติไหม

การเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนจะต้องคิดแบบมีตรรกะ มีแบบแผน เราต้องอธิบายให้เขาคิดแบบเดียวกับเราได้ คนร้ายทำแบบนี้มา ถ้าเราวางโครงเรื่องไม่แน่นพอ หรือเราไม่สามารถอธิบายบางจุดได้ ที่เราทำมาทั้งหมดมันจะพังไปเลย คนอ่านอาจจะไม่เชื่อ เพราะฉะนั้นเราต้องรอบคอบกว่า แล้วก็วิธีการเขียนมันจะเหมือนเราเดินย้อนกลับหลัง เรารู้หมดแล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วเราก็เขียนในสิ่งที่มันเกิดสุดท้ายขึ้นก่อน

 

จากหนังสือ กาหลมหรทึก กลายมาเป็นละครได้อย่างไร

หลังหนังสือออกได้ประมาณ 3 เดือน ทางช่อง ONE ก็ติดต่อมาว่าอยากทำเป็นละคร ซึ่งตอนแรกผมไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นละครได้ เพราะมันมีเงื่อนของเวลาที่จะต้องเกิดทุก 5 วัน ถ้าทำเป็นละครก็ไม่รู้จะทำยังไงให้จังหวะเป็นแบบนั้น แล้วด้วยเทสต์คนไทย ละครจะไม่ใช่แนวแบบนี้ ไหนจะมีเรื่องสถานที่ถ่ายทำอีก จะไปถ่ายที่ไหน จะถ่ายวัดโพธิ์ยังไงให้เก่า ตอนนี้มีแต่นักท่องเที่ยว หรืออย่างฉากที่ต้องเปิดเตาอบออกมาแล้วเจอศพจะนำเสนอยังไง แต่เขาก็บอกว่ามีวิธีของเขานะ


พี่ที่เขียนบทคือ ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์ ผมชอบงานของพี่เขาอยู่แล้ว ละครเรื่อง อีสา เขาก็เป็นคนเขียนบท แล้วก็เป็นเซตติ้งเดียวกันเลย คือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอเขาบอกว่าพี่คนนี้จะเป็นคนทำ ผมก็โอเค จบ เราเชื่อใจ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X