เป็นเวลา 2 ปี หลังจากที่สหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรบริษัทเทคโนโลยีของจีนอย่าง Huawei กดดันให้รายได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้บริษัทสูญเสียสถานะผู้นำในธุรกิจอุปกรณ์การสื่อสารและสมาร์ทโฟน
ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตชิปของจีนก็กำลังเผชิญกับผลกระทบที่คล้ายกัน หลังจากสหรัฐฯ ประกาศว่าเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีสหรัฐฯ สำหรับใช้ใน AI, คอมพิวเตอร์ระดับสูง และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ จะสามารถขายให้จีนได้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก มากไปกว่านั้นยังมีการจำกัดการส่งออกชิปไปยังจีนอีกด้วย
Szeho Ng กรรมการผู้จัดการของ China Renaissance กล่าวว่า บริษัทจีนอาจจะกำลังย้อนกลับไปสู่ยุคหิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สหรัฐฯ จำกัดการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ หวังหยุดยั้งความก้าวหน้าทางการทหารของจีน
- จริงหรือที่ ‘อินเดีย’ กำลังจะเป็นโรงงานของโลกแห่งใหม่ต่อจากจีน? ถึงขั้นที่การผลิต 1 ใน 4 ของ ‘iPhone’ จะย้ายมาที่นี่ภายในปี 2025
- บริษัทเทคฯ ชั้นนำระดับโลกมุ่งลงทุนในเวียดนาม หลังจีนไร้วี่แววคลายนโยบาย Zero-COVID
ขณะที่ Paul Triolo ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี Albright Stonebridge มองว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะมีผู้ที่พ่ายแพ้จำนวนมาก ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับบริษัทจีนที่ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในการพัฒนาอัลกอริทึมต่างๆ ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ โลจิสติกส์ การแพทย์ เป็นต้น
“อาจใช้เวลาสักระยะถึงจะเห็นผลกระทบทั้งหมด อย่างน้อยที่สุดน่าจะทำให้การพัฒนานวัตกรรมในจีนและสหรัฐฯ ช้าลง ซึ่งจะกระทบต้นทุนของผู้บริโภคและบริษัทต่างๆ คิดเป็นมูลค่านับพันล้านดอลลาร์”
ด้าน Brady Wang นักวิเคราะห์ของ Counterpoint บริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยี กล่าวว่า เราสามารถมอง Huawei เป็นกรณีศึกษา แม้ว่า Huawei ยังคงรักษาการขายสินค้าที่สำคัญไว้ได้ แต่สินค้าของ Huawei ไม่ใช่สินค้าที่ล้ำสมัยที่สุดและถูกจำกัดฟังก์ชันการใช้งานหลายๆ ด้าน ต่างไปจากยุคก่อนหน้านี้
สิ่งที่บริษัทเทคโนโลยีของจีนกังวลมากกว่านั้นคือการที่สหรัฐฯ พยายามที่จะกีดกันไม่ให้ชาวอเมริกันทำงานให้กับบริษัทจีน
แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ของจีนอย่าง Alibaba หรือ Baidu ก็อาจจะอ่อนแอลง เนื่องจากการวิจัยและพัฒนาที่จะชะลอลงไป
แหล่งข่าวด้านทรัพยากรบุคคลเปิดเผยว่า การจำกัดเรื่องคนเป็นสิ่งที่หนักหนากว่าการกีดกันไม่ให้ซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เรายังคงมีพนักงานที่ถือพาสปอร์ตสหรัฐฯ อยู่ในตำแหน่งสำคัญบางส่วนในบริษัท ซึ่งบุคคลเหล่านี้คืออาวุธสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี
“เราต้องหาทางทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ยังทำงานกับเราต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ยาก คนเหล่านี้ไม่อยากจะเสียพาสปอร์ตสหรัฐฯ ของตัวเองไป”
สำหรับคนที่ถือพาสปอร์ตสหรัฐฯ เหล่านี้คือชาวจีนหรือไต้หวันที่กลับมาจากสหรัฐฯ ซึ่งมีการประเมินว่ามีประมาณ 200 ราย ที่ทำงานให้กับบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของจีน
ขณะที่ Douglas Fuller ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีน ประจำ Copenhagen Business School กล่าวว่า เป้าหมายหลักของนโยบายดังกล่าวของสหรัฐฯ เพื่อชะลอการพัฒนาด้าน AI และ HPC ของจีน ซึ่งเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับกองทัพ
คำถามใหญ่ที่ตามมาคือจีนจะตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งจีนคงต้องมองหาทางเลือกใหม่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ยังคงล้าหลังกว่านับทศวรรษจากมุมมองของคนในอุตสาหกรรมของจีน
อ้างอิง: