วันนี้ (29 กันยายน) แอมเนสตี้สากลเรียกร้องให้ Meta เจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Facebook, Instagram และ WhatsApp จ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือชาวโรฮิงญา หลังอัลกอริทึมของ Facebook ล้มเหลวในการจัดการกับคำพูดหรือข้อความที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในเมียนมา
แอมเนสตี้เผยว่า นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิในเมียนมาแสดงความกังวัลต่อประเด็นปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2012 ก่อนที่อีกราว 5 ปีต่อมา กองทัพเมียนจะเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างและสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลามภายในประเทศ เป็นเหตุให้มีชาวโรฮิงญาอพยพออกจากเมียนมาไปยังบังกลาเทศกว่า 7 แสนรายเพื่อหนีเอาชีวิตรอด
ด้าน แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ ชี้ว่า ตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา อัลกอริทึมของ Facebook ได้เพิ่มกระแสความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญาในโลกออนไลน์ และมีส่วนทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อคนกลุ่มนี้ในโลกความเป็นจริง
ขณะที่กองทัพเมียนมาประหัตประหารชีวิตชาวโรฮิงญา Meta ได้รับประโยชน์จากอัลกอริทึมที่ช่วยกระจายและเพิ่มกระแสความเกลียดชังดังกล่าว และ Meta จะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อความโหดร้ายที่เกิดขึ้น จ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำที่ประมาทเลินเล่อของตน
ก่อนหน้านี้ทีมตรวจสอบของสหประชาชาติก็เคยเผยว่า สื่อโซเชียลอย่าง Facebook มีบทบาทสำคัญอย่างมากในลักษณะที่เป็นการเติมเชื้อไฟแห่งความเกลียดชัง นำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในเมียนมา และเมื่อช่วงปลายปี 2021 ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลุ่มหนึ่งได้ยื่นเรื่องฟ้องร้อง Meta ต่อศาลในสหรัฐอเมริกา เรียกร้องเงินค่าชดเชยกว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.5 ล้านล้านบาท)
ด้านโฆษกของ Meta ระบุว่า ทางองค์กรรู้สึกตกใจกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในเมียนมา องค์กรได้พยายามพัฒนาและจัดการกับ Hate Speech ที่เกิดขึ้นบนแฟลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการแบนบัญชีของบรรดาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา พร้อมทั้งตั้งทีมตรวจสอบคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้อย่างจริงจัง แต่อย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้ชี้ว่า มาตรการดังกล่าวเหล่านี้ยังไม่เพียงพอ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทางองค์กรจะต้องดำเนินการอยู่แล้ว พร้อมทั้งเรียกร้องให้ Meta รับผิดชอบต่อผลลัพธ์อันใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาหลายแสนชีวิตหลังจากนั้นด้วย
ขณะที่แอมเนสตี้ได้โควตคำพูดของ โชว์กูตารา ชาวโรฮิงญาวัย 22 ปี ที่ว่า “Facebook จะต้องจ่ายค่าชดเชยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น พวกเขาไม่จ่าย เราจะเดินทางไปยื่นเรื่องต่อศาลทุกๆ แห่งบนโลก เราจะไม่ยอมแพ้ในการต่อสู้ดิ้นรนของพวกเราครั้งนี้”
แฟ้มภาพ: Sk Hasan Ali / Shutterstock
อ้างอิง:
- https://www.amnesty.org/en/latest/news/2022/09/myanmar-facebooks-systems-promoted-violence-against-rohingya-meta-owes-reparations-new-report/
- https://time.com/6217730/myanmar-meta-rohingya-facebook/
- https://www.aljazeera.com/news/2022/9/29/meta-owes-rohingya-reparations-for-myanmar-violence-says-amnesty