กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน วัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในอากาศตลอดเดือนมกราคมที่ผ่านมาเฉลี่ย 34 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งได้มาตรฐานคุณภาพอากาศระดับชาติที่ 35 มคก./ลบ.ม. เป็นครั้งแรก หลังจากที่ทางการได้งัดมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อควบคุมปัญหามลพิษอย่างได้ผล ทั้งการสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน และระงับโครงการก่อสร้างทั้งหมดในเมืองหลวงในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา
สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของกรุงปักกิ่งเปิดเผยว่า คุณภาพอากาศเมืองหลวงในเดือนมกราคมอยู่ที่ระดับ ‘ดี’ และ ‘ดีเยี่ยม’ รวม 25 วันจากทั้งหมด 31 วัน หลังจากทางการปักกิ่งได้ประกาศแผนลดความหนาแน่นของอนุภาคฝุ่นละอองในอากาศเหลือ 60 มคก./ลบ.ม. ขณะที่เดือนมกราคมปีที่แล้ว ค่าฝุ่นละอองเคยพุ่งเกินมาตรฐานในระดับสีแดง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพคนเมือง
อย่างไรก็ดี แม้ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ที่ระดับ 34 มคก./ลบ.ม. จะเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ และลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 70.7% แต่ก็ยังสูงกว่าตัวเลขที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำที่ระดับ 10 มคก./ลบ.ม.
PM2.5 คือฝุ่นพิษขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งเล็กจนสามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูกและเข้าสู่กระแสเลือด รวมถึงอวัยวะต่างๆ ของมนุษย์ได้ หากค่า PM2.5 อยู่ในช่วง 201-300 จะอยู่ในเกณฑ์ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก (Very Unhealthy) ต่อผู้ที่สูดหายใจเข้าไป และหากค่า PM2.5 สูงกว่า 300 ขึ้นไปจะอยู่ในเกณฑ์อันตราย (Hazardous) ซึ่งทางการจะต้องประกาศเตือน
ในปี 2012 รัฐบาลจีนได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศให้มีฝุ่นพิษไม่เกิน 35 มคก./ลบ.ม. และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายเมืองได้ใช้มาตรการควบคุมมลพิษอย่างเข้มงวด ขณะที่กรุงปักกิ่งได้สั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้าย รวมถึงระงับโครงการก่อสร้างในช่วงหน้าหนาวที่ผ่านมา และจัดตั้งทีมขจัดควันพิษ หรือ ‘Smog Squad’ เพื่อตระเวนห้ามชาวเมืองปิ้งย่างบาร์บีคิวกลางแจ้งและเผาขยะ
นอกจากนี้ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว รัฐบาลจีนยังออกกฎห้ามการเผาถ่านหิน โดยมีผลบังคับใช้ใน 18 เมือง และเขตต่างๆ รอบกรุงปักกิ่ง
นอกจากค่า PM2.5 แล้ว ค่าฝุ่นละออง PM10, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ของกรุงปักกิ่งยังลดลง 51.1%, 55.6% และ 35.4% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปีที่แล้ว
ขณะที่กรุงเทพมหานคร ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ประจำวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ณ เวลา 08.00 น. ตรวจวัดได้ระหว่าง 47-70 มคก./ลบ.ม. ยังเกินเกณฑ์มาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) 4 สถานี ได้แก่ บริเวณเขตวังทองหลาง ริมถนนอินทรพิทักษ์ ริมถนนพระราม 4 และริมถนนลาดพร้าว โดยปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลงทุกพื้นที่
ภาพประกอบ: Karin Foxx
อ้างอิง: