×

การตายของ มาห์ซา อามินี ปลุกกระแสคนรุ่นใหม่ในอิหร่านลุกฮือต่อต้านการกดขี่หลายทศวรรษ ขณะที่ทางการบล็อกการใช้งานอินเทอร์เน็ต

โดย THE STANDARD TEAM
25.09.2022
  • LOADING...
MAHSA AMINI

ชาวอิหร่านหลายพันคนยังคงออกมาประท้วงตามท้องถนนในหลายเมืองทั่วประเทศ นับตั้งแต่มาห์ซา อามินี หญิงสาวชาวเคิร์ด วัย 22 ปี เสียชีวิตหลังจากถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมในกรุงเตหะราน เนื่องจากไม่สวมฮิญาบ ขณะที่ทางการอิหร่านประกาศจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศจนกว่าความสงบจะกลับคืนสู่ท้องถนน 

 

นับตั้งแต่วันศุกร์ได้มีการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างน้อย 40 เมือง รวมถึงกรุงเตหะราน เมืองหลวง โดยผู้ประท้วงเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อสตรี รวมทั้งยุติการบังคับสวมฮิญาบ มีรายงานว่าผู้ประท้วงหลายสิบคนเสียชีวิตจากการการปะทะกับกองกำลังรักษาความมั่นคง

 

CNN รายงานว่าไม่สามารถตรวจสอบจำนวนผู้เสียชีวิตที่แน่นอนได้ โดยตัวเลขประมาณการดังกล่าวได้มาจากกลุ่มต่อต่านรัฐบาล องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และนักข่าวท้องถิ่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 30 คน ซึ่งรวมถึงเด็ก 4 คน ขณะที่ Iran Human Rights (IHR) องค์กรสิทธิมนุษยชนในกรุงออสโล เปิดเผยว่า มีผู้ประท้วงเสียชีวิตอย่างน้อย 50 คน ด้าน Islamic Republic of Iran Broadcasting (IRIB) สื่อของทางการอิหร่าน รายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 35 คน

 

ทางการอิหร่านหวังว่าการจำกัดอินเทอร์เน็ตจะสามารถควบคุมการประท้วงที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในอิหร่านในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2009 เกิดขบวนการสีเขียว (Green Movement) ออกมาประท้วงผลการเลือกตั้งตามท้องถนน ต่อมาเกิดการประท้วงใหญ่ขึ้นอีกครั้งในปี 2019 โดยมีชนวนเหตุมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เชื่อกันว่ามีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนจากการปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรงเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายพันคน ตามการประมาณการของสหประชาชาติและกลุ่มสิทธิมนุษยชน

 

อย่างไรก็ดี การประท้วงในปีนี้แตกต่างออกไป ทั้งในแง่ของขอบเขต ขนาด และการมีส่วนร่วมของสตรี นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวกันระหว่างกลุ่มเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ ชาวอิหร่านรุ่นใหม่พากันออกไปตามท้องถนน เพื่อต่อต้านการกดขี่ที่ดำเนินมานานหลายทศวรรษ 

 

การประท้วงแพร่กระจายไปยังเมืองต่างๆ ของอิหร่าน ตั้งแต่เคอร์ดิสถาน ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ไปจนถึงเมืองหลวงเตหะราน และแม้แต่เมืองอนุรักษนิยมอย่างมัชฮัด

 

แม้การลุกฮือขึ้นประท้วงต่อต้านรัฐบาลจะมีชนวนเหตุมาจากการตายของอามินี แต่การเรียกร้องความรับผิดชอบในตอนแรกได้แปรเปลี่ยนไปกลายเป็นการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและข้อจำกัดด้านสิทธิที่รุนแรงมานานหลายทศวรรษ นับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามปี 1979

 

นอกจากนี้ การเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ผู้ประท้วงต่างพากันโห่ร้อง “เผด็จการไปตายซะ” พร้อมกับฉีกรูปของอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน และอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงคือ ภาพผู้ประท้วงในเมืองมัชฮัด ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคามาเนอี จุดไฟเผารูปปั้นของชายซึ่งถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการปฏิวัติอิสลาม ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ในอดีตคงไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น

 

การประท้วงครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผู้นำสายแข็งของอิหร่านกำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ภายใต้การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ขณะที่ประชาชนคนธรรมดาทั่วไปต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดจากระดับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น

 

แม้การประท้วงครั้งล่าสุดนี้อาจเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับรัฐบาลอิหร่านในรอบหลายปี แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะเคลื่อนไหวโดยใช้กำลังแบบที่เคยทำในอดีต เพื่อควบคุมการประท้วง โดยมีสัญญาณว่าจะมีการปราบปรามอย่างโหดร้าย กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามจะถูกส่งไปจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วง พร้อมกับการจำกัดอินเทอร์เน็ตในระดับที่ไม่ได้เห็นนับตั้งแต่เหตุการณ์ประท้วงใหญ่ครั้งหลังสุดเมื่อปี 2019 

 

อาห์มัด วาฮิดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารของอิหร่าน กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ IRIB เมื่อวันศุกร์ว่า “อินเทอร์เน็ตจะถูกจำกัดจนกว่าการจลาจลจะยุติลง เพื่อป้องกันการรวมตัวกันก่อจลาจลผ่านโซเชียลมีเดีย เราจำเป็นต้องสร้างข้อจำกัดทางอินเทอร์เน็ต”

 

ความเคลื่อนไหวของทางการอิหร่านตามที่วาฮิดีเปิดเผยนั้นเกิดขึ้นหลังจากมีการแชร์คลิปวิดีโอบนโซเชียล เป็นภาพผู้ประท้วงหญิงบางคนถอดฮิญาบออกอย่างท้าทาย และเผาฮิญาบบนกองเพลิง หรือตัดผมเป็นสัญลักษณ์ต่อหน้าฝูงชนที่ส่งเสียงเชียร์ พร้อมกับร้องตะโกนข้อความอย่างเช่น “ผู้หญิง ชีวิต เสรีภาพ”

 

การเสียชีวิตของอามินีกลายเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่อย่างรุนแรงที่ผู้หญิงในอิหร่านต้องเผชิญมานานหลายทศวรรษ และชื่อของเธอได้แพร่กระจายไปทั่วโลก แม้แต่ผู้นำระดับโลกที่เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในนครนิวยอร์กสัปดาห์นี้ก็กล่าวถึงชื่อของ มาห์ซา อามินี

 

ภาพ: Hesther Ng / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X