×

วิเคราะห์ท่าที ‘ปูติน’ ขู่ตอบโต้ทุกสรรพกำลัง ส่งสัญญาณอันตรายสู่ ‘สงครามนิวเคลียร์’ จริงหรือ?

23.09.2022
  • LOADING...
ปูติน

“หากบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศเราถูกคุกคาม เราจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อปกป้องรัสเซียและประชาชนของเราอย่างแน่นอน” 

 

นี่คือถ้อยแถลงล่าสุดของ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่อาจกลายเป็นถ้อยแถลงแห่งประวัติศาสตร์ หลังจากที่เขาประกาศว่าจะใช้ทุกสรรพกำลังที่มีเพื่อปกป้องดินแดนและประชาชนรัสเซีย หรืออีกนัยหนึ่ง คือการขู่ใช้ ‘อาวุธนิวเคลียร์’ ตอบโต้ใครก็ตามที่กล้ารุกรานแผ่นดินรัสเซีย ซึ่งรวมถึงดินแดนในยูเครนที่รัสเซียยึดครองและผนวกรวมไว้

 

คำขู่ของปูตินแพร่กระจายความหวั่นวิตกไปยังนานาชาติ ว่าแผนรับมือสงครามยูเครนของมอสโกนั้น อาจจะไม่หยุดอยู่แค่การระดมกำลังทหาร หลังจากที่รัสเซียตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำและกำลังถูกกองทัพยูเครนรุกไล่อย่างหนัก

 

ในการแถลง ปูตินกล่าวหาสหรัฐฯ และพันธมิตร ว่ากระทำการ ‘แบล็กเมลด้านนิวเคลียร์’ ต่อรัสเซีย ขณะที่เขาย้ำว่า คำเตือนที่พูดไปนั้น ‘ไม่ใช่แค่การข่มขวัญ’ (It’s not a bluff) และส่งสัญญาณอันตราย ที่อาจลุกลามไปถึงขั้นเกิด ‘สงครามนิวเคลียร์’

 

ความเป็นไปได้ของสงครามนิวเคลียร์

 

  • นับตั้งแต่ที่รัสเซียบุกยูเครน เป็นระยะเวลากว่า 7 เดือนที่ผ่านมา บรรดาผู้เชี่ยวชาญจากชาติตะวันตก ต่างมองข้ามความน่าจะเป็นที่สงครามยูเครนจะบานปลายถึงขั้นนำไปสู่การยกระดับตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์ ระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตก

 

  • โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า ท่าทีของปูตินที่สั่งกองกำลังป้องปรามนิวเคลียร์เตรียมความพร้อมในระดับสูง หลังเปิดฉากบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นเพียงการพยายามทำให้ศัตรูเสียสมดุล 

 

  • แต่คำขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ชาติตะวันตกไม่อาจ ‘มองข้าม’ หรือพิจารณาโดยไม่คำนึงถึงแรงจูงใจหรือเจตนาของปูติน 

 

  • ที่ผ่านมา ชาติตะวันตกนั้นหลีกเลี่ยงการประกาศเขตห้ามบิน (No-Fly Zone) เหนือน่านฟ้ายูเครน และไม่จัดส่งขีปนาวุธแบบพิสัยไกลและอาวุธอื่นๆ ที่อาจใช้คุกคามดินแดนของรัสเซียได้ให้แก่รัฐบาลเคียฟ เนื่องจากกังวลว่าเครมลินอาจตอบโต้ยุโรปอย่างรุนแรง

 

  • อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือทางทหารที่ซับซ้อนซึ่งสหรัฐฯ และพันธมิตรได้มอบให้แก่เคียฟ เริ่มเปลี่ยนสมดุลอำนาจในสนามรบมาเข้าทางยูเครน ซึ่งความสูญเสียที่เพิ่มขึ้นของรัสเซียในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ปูตินต้องเสียเปรียบ และถูกต้อนเข้ามุมอย่างเห็นได้ชัด 

 

  • นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า ความถดถอยของทัพรัสเซียที่เป็นอยู่ ทำให้ปูติน ทั้งโกรธและอาย และสูญเสียอิทธิพลและศักดิ์ศรีของความเป็นมหาอำนาจ ทั้งในและต่างประเทศ นั่นเป็นเหตุผลที่เขาตัดสินใจระดมกำลังทหารเพิ่มอีก 3 แสนนาย

 

  • อย่างไรก็ตาม สงครามในอดีต ทั้งของรัสเซียและสหรัฐฯ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในเวียดนาม อัฟกานิสถาน อิรัก หรือที่อื่นๆ แสดงให้เห็นว่าการเพิ่มกำลังทหารอาจช่วยซื้อเวลาได้ แต่ไม่จำเป็นว่าจะชนะสงคราม นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ปูตินตัดสินใจส่งคำเตือนเรื่องนิวเคลียร์ ควบคู่ไปกับการประกาศระดมพล โดยเตือนให้ชาติตะวันตกที่หนุนหลังยูเครนรู้ว่าต้องถอยห่างหรือเผชิญกับผลลัพธ์รุนแรงที่ตามมา

 

  • ดังนั้นความร้ายแรงของคำขู่ของปูตินในการใช้อาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูงอย่างนิวเคลียร์นั้น ‘ไม่ใช่แค่การข่มขวัญ’ อย่างที่เขาพูด และไม่ใช่การคุยโม้เกินจริง ในทางกลับกัน มันค่อนข้างดูเหมือนเป็นการแสดงออกที่สิ้นหวังและเป็นความจงใจเสียด้วยซ้ำ

 

  • ผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนว่าปูตินอาจตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (Tactical Nuclear Weapon) หรืออาวุธนิวเคลียร์ที่ในทางทฤษฎี ถือเป็นอาวุธพิสัยใกล้และออกแบบมาสำหรับการโจมตีที่ส่งผลในวงจำกัด ซึ่งรวมถึงระเบิดและขีปนาวุธขนาดเล็กที่ใช้โจมตีทางบกหรือใช้โจมตีเรือและเครื่องบิน โดยคาดว่ารัสเซียอาจมีอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีราว 2,000 ลูก ที่ถูกติดตั้งไว้กับขีปนาวุธ

 

  • นักวิเคราะห์บางคนมองว่า รัสเซียอาจตั้งใจที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ หากยูเครนยังคงเดินหน้าปฏิบัติการโจมตีเชิงรุกเพื่อชิงพื้นที่คืนต่อไป

 

  • ด้าน ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานสภาความมั่นคง กล่าวเมื่อวานนี้ (22 กันยายน) ว่าเครมลินสามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี เพื่อปกป้องพื้นที่ยึดครองในยูเครนที่ผนวกรวมเข้ากับรัสเซีย 

 

  • อย่างไรก็ตาม การใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีเพื่อจำกัดพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายก็ยังคงเป็นสิ่งที่ยาก หากพิจารณาจากสภาพความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน 

 

หลักเกณฑ์ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย

 

  • สำหรับหลักเกณฑ์ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย แบ่งเป็น 4 กรณีได้แก่

 

  1. การยิงขีปนาวุธโจมตีอาณาเขตของรัสเซียหรือชาติพันธมิตร
  2. การใช้อาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธทำลายล้างสูงประเภทอื่นใดต่อรัสเซียหรือชาติพันธมิตร
  3. การโจมตีสถานที่สำคัญของรัฐบาลหรือทางทหารของรัสเซีย ที่คุกคามความสามารถด้านนิวเคลียร์
  4. การรุกรานรัสเซียด้วยการใช้อาวุธธรรมดา ที่เป็นภัยคุกคามการดำรงอยู่ของรัฐ

 

  • สำหรับปูติน การรู้สึกว่าตนเองเป็นเหยื่อนั้น ไม่ว่าจะเรื่องจริงหรือแค่ในจินตนาการ ก็ทำให้การยกระดับของสงครามยูเครนครั้งนี้ตึงเครียดและน่าหวั่นวิตกมากขึ้น 

 

  • โดยถ้อยแถลงของเขายังบรรยายถึงเหตุผลการทำสงครามในยูเครน เนื่องจากเชื่อว่าชาติตะวันตกสมคบคิดกันทำลายรัสเซีย และการรุกรานต่อรัสเซียที่นำโดย NATO ถือเป็นภัยคุกคามต่อประเทศ ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องแปลก หากรัสเซียถือเอาเหตุผลนี้เป็นเกณฑ์ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์

 

สหรัฐฯ มองคำขู่ปูติน ‘จริงจัง’

 

  • จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ให้ความเห็นต่อคำขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ของปูติน โดยกล่าวว่าสหรัฐฯ พิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และมีการเฝ้าระวังศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ยังไม่เห็นข้อบ่งชี้ใดๆ ว่าสหรัฐฯ จำเป็นต้องเปลี่ยนท่าทีในการป้องปรามเชิงกลยุทธ์ในตอนนี้

 

  • “มันเป็นแบบอย่างที่อันตรายที่จะใช้วาทกรรมเช่นนี้ในบริบทของสงครามที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเขากำลังพ่ายแพ้ในยูเครน เราต้องจัดการกับภัยคุกคามเหล่านี้อย่างจริงจัง และเราก็ทำ เราเฝ้าติดตามศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของเขา (รัสเซีย) อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้” เคอร์บีกล่าว 

 

  • เขายังระบุถึงแผนการของรัสเซียในการทำประชามติผนวกดินแดนของยูเครนเพิ่มว่า “ไม่มีอะไรมากไปกว่ากลอุบายของปูติน ที่จะพยายามผนวกดินแดนด้วยวิธีทางการเมือง ซึ่งมันจะไม่ได้ผล และไม่มีใครยอมรับ”

 

จีนทำได้แค่ ‘อยู่ห่างๆ’

 

  • สำหรับจีน ที่ถูกมองว่าเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ของรัสเซีย ยังไม่มีการแสดงท่าทีใดๆ ในการสนับสนุนปูติน แม้กระทรวงการต่างประเทศจีนจะแถลงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้าพูดคุยและหาทางออกของวิกฤตตึงเครียดนี้

 

  • โดยก่อนการแถลงของปูติน 6 วัน เขาและ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้พบกันในระหว่างการประชุมที่อุซเบกิสถาน ซึ่งบรรยากาศและท่าทีของทั้งสองฝ่าย เห็นได้ชัดว่าแตกต่างกับช่วงที่ทั้งสองพบกันก่อนที่รัสเซียจะเปิดฉากบุกยูเครน และในการอ่านถ้อยแถลงของสีระหว่างการประชุม ไม่มีการกล่าวถึงความสัมพันธ์ต่อรัสเซียในฐานะหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์เลย

 

  • “มันคือถ้อยแถลงที่รอบคอบที่สุดหรือเบาที่สุดในรอบหลายปีที่ออกโดยสี เกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ของพวกเขา” ซื่อหยินหง ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยเหรินหมิน กล่าว

 

  • ซื่อมองว่าความพ่ายแพ้ของรัสเซียที่เกิดขึ้นและการขยายความตึงเครียดของสงครามโดยปูติน ทำให้จีนมีทางเลือกเดียว คือออกห่างจากรัสเซียมากขึ้น

 

  • “จีนไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากออกห่างจากปูตินให้มากขึ้น เนื่องจากสงครามที่ทวีความรุนแรงขึ้น ตลอดจนความก้าวร้าวและการผนวกรวมดินแดนยูเครนของเขา และการคุกคามครั้งใหม่ของเขาต่อสงครามนิวเคลียร์” ซื่อกล่าว พร้อมทั้งระบุว่า “จีนไม่ต้องการให้เพื่อนที่ไม่เชื่อฟังคนนี้ต่อสู้ สิ่งที่อาจเป็นชะตากรรมของเขาในสนามรบไม่ใช่ธุรกิจที่จีนจัดการได้เลย”

 

  • อย่างไรก็ตาม เทเรซา ฟอลลอน ผู้อำนวยการศูนย์รัสเซียยุโรปเอเชียศึกษาในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม มองว่า ท่าทีของปูตินที่ยอมรับในข้อกังวลของจีนอาจไม่จำเป็นต้องส่งสัญญาณถึงความแตกแยกระหว่างทั้งสองประเทศ และมากไปกว่านั้น ยังอาจเป็นโอกาสสำหรับจีนที่จะได้รับประโยชน์ทางการทูตมากขึ้น และเพื่อผลประโยชน์ระยะยาวของจีน พวกเขาควรต้องรักษารัสเซียไว้

 

รัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์มากแค่ไหน?

 

  • สำหรับข้อมูลอาวุธนิวเคลียร์จากสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน (Federation of American Scientists) ระบุข้อมูลประมาณการ คาดว่าปัจจุบันมี 9 ประเทศที่มีหัวรบนิวเคลียร์ในครอบครอง ได้แก่  

 

รัสเซีย 5,977 ลูก

สหรัฐฯ 5,428 ลูก

จีน 350 ลูก

ฝรั่งเศส 290 ลูก

สหราชอาณาจักร 225 ลูก

ปากีสถาน 165 ลูก

อินเดีย 160 ลูก

อิสราเอล 90 ลูก

เกาหลีเหนือ 20 ลูก

 

  • ขณะที่รัสเซีย สหรัฐฯ จีน ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร อยู่ในกลุ่ม 191 ประเทศ ที่ร่วมลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty: NPT)

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X