นักเศรษฐศาสตร์คาดส่วนต่างดอกเบี้ยไทย-สหรัฐฯ ที่ถ่างกว้างมากขึ้นจะเพิ่มแรงกดดันให้ กนง. ต้องขยับขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 0.50% ในการประชุมสัปดาห์หน้า มองบาทมีโอกาสอ่อนค่าถึง 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อีก 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% พร้อมการแสดงความแน่วแน่ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยไปจนแตะระดับ 4.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ และเพิ่มเป็น 4.6% ในสิ้นปี 2023 จะสร้างแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องทบทวนความเร็วในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยจากระดับ 0.25% เป็น 0.50% ในการประชุมที่จะมาถึงในสัปดาห์หน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
อมรเทพระบุว่า แม้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในอัตรา 0.75% จะเป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด แต่การส่งสัญญาณว่าจะรักษาดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงไว้จนถึงสิ้นปีหน้าผ่าน Dot Plot จะส่งผลให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศ EM และสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้เงินบาทยิ่งอ่อนค่าลากยาวได้หากไทยไม่มีการปรับเปลี่ยนความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ย
“แนวโน้มดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ ที่จะถ่างกว้างออกจากกันมากขึ้นจะทำให้เสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุนของไทยดูไม่ดี ยิ่งเราขึ้นดอกเบี้ยช้า บาทจะยิ่งอ่อน จึงเชื่อว่าในรอบนี้แบงก์ชาติจะมองความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น โดยจะขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 0.50%” อมรเทพกล่าว
อมรเทพกล่าวว่า โดยปกติเงินบาทที่อ่อนค่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกที่แข่งขันได้ดีขึ้น แต่การอ่อนค่าของเงินบาทในรอบนี้อาจไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจได้เหมือนที่ผ่านๆ มา ในทางกลับกันอาจจะส่งผลเสียมากกว่า เนื่องจากเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับสูง การที่เงินบาทอ่อนก็จะยิ่งส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าน้ำมันและวัตถุดิบต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งจะยิ่งสร้างแรงกดดันให้เงินเฟ้อ และหากปล่อยไว้ก็อาจจะส่งผลให้คาดการณ์เงินเฟ้อของคนไทยปรับสูงขึ้นตามไปด้วย
“แบงก์ชาติอยู่ในจุดที่น่าเห็นใจในการตัดสินใจว่าจะให้น้ำหนักกับการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือเงินเฟ้อ แต่ปัจจุบันเราใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ไม่ใช่ Growth Targeting ดังนั้นการสื่อสารต้องมีความชัดเจน” อมรเทพกล่าว
สำหรับกรณีที่รักษาการนายกรัฐมนตรีออกมาระบุก่อนหน้านี้ว่า ต้องการเห็นค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้น อมรเทพระบุว่า ในทางเศรษฐศาสตร์คงเป็นไปได้ยาก เพราะคงไม่มีใครสามารถต้านกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ โดยไทยเองก็เคยมีบทเรียนในช่วงวิกฤตปี 1997 ที่เข้าแทรกแซงค่าเงินจนเงินทุนสำรองหมดมาแล้ว จึงมองว่าการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอาจต้องใช้เครื่องมืออื่นๆ ที่มีความเหมาะสม
ขณะที่ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะถ่างกว้างขึ้นจะเพิ่มแรงกดดันให้ กนง. ต้องให้นำ้หนักกับผลกระทบที่จะเกิดกับอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่าในการประชุมสัปดาห์หน้า กนง. จะยังไม่ปรับเปลี่ยนแนวทาง และเลือกจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ต่อไปก่อน
“หากดูดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในตอนนี้ เงินบาทยังเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค ซึ่งแบงก์ชาติอาจจะใช้เหตุผลนี้ในการขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% แต่การที่คนอื่นเขากระโดดขึ้นบันไดทีละ 2-3 ขั้น แต่เรายังเดินช้าๆ ทีละขั้น ความต่างก็จะเยอะขึ้นเรื่อยๆ และเราจะเห็นความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้นไปอีก ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า Fed ประชุมปีละ 8 ครั้ง ขณะที่ กนง. ไทยประชุมแค่ 6 ครั้ง ผมมองว่าอย่างไรดอกเบี้ยเราควรต้องขึ้นเร็วกว่านี้” พิพัฒน์กล่าว
ด้าน นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) มองว่า การขึ้นดอกเบี้ยล่าสุดของ Fed ไม่ได้สร้างแรงกดดันถึงขั้นที่ทำให้ ธปท. ต้องทบทวนการปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากสถานการณ์เงินทุนไหลออกของไทยไม่ได้น่ากังวล โดยไทยมีเม็ดเงินต่างชาติในตลาดทุนเพียง 20% ขณะที่ตลาดบอนด์ก็มีแค่ 10% นอกจากนี้ ค่าเงินบาทในปัจจุบันแม้ว่าจะอ่อนค่ามาแล้ว 10.6% นับจากต้นปี อ่อนค่าสูงเป็นอันดับ 5 ของภูมิภาค แต่ก็ไม่ได้อ่อนที่สุด เมื่อเทียบกับเงินเยนและเงินวอนที่อ่อนค่าไปแล้ว 20.5% และ 15.6% ตามลำดับ นับจากต้นปี
“การที่ Fed ส่งสัญญาณชัดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าไปได้ถึง 40 บาท แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่ Fed อาจจะไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะสหรัฐฯ เองก็มีความเสี่ยงถดถอยสูง เมื่อถึงจุดนั้นเขาจะต้องลดดอกเบี้ยลงมา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นว่าการไต่ขึ้นของดอกเบี้ยสหรัฐฯ ไม่เคยมีลักษณะเป็นภูเขายอดแบน มีแต่ขึ้นแล้วลงเลยเท่านั้น” นริศกล่าว
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า
การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไม่น่าจะทำให้เกิดเงินทุนไหลออกจากไทยอย่างรุนแรง เนื่องจากส่วนต่างดอกเบี้ยไม่ไช่ปัจจัยเดียวที่นักลงทุนจะพิจารณา อย่างไรก็ดี ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีสกุลเงินของหลายประเทศในเอเชียที่เป็นตัวเลือกในการลงทุนที่ดีกว่าเงินบาทของไทยจากการมีดอกเบี้ยที่สูงกว่า
“นักลงทุนมองว่าดอลลาร์สหรัฐเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุดในตอนนี้ แต่เท่าที่ดูเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยก็ไม่ได้รุนแรง เงินเฟ้อพื้นฐานของไทยไม่ได้สูงมาก เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบ จึงคาดว่าแบงก์ชาติจะใช้ปัจจัยเหล่านี้เป็นเหตุผลในการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อไปที่ 0.25% ในสัปดาห์หน้า” พูนกล่าว
พูนประเมินว่า หลังจากที่เงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 37.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว โซนแนวต้านถัดไปที่เป็นไปได้ของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 37.30-37.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่ายาว โดยอาจต้องรอถึงช่วงปลายปีที่สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้ง และการท่องเที่ยวไทยเข้าสู่ช่วงพีค เงินบาทจึงจะเริ่มกลับมาแข็งค่าได้บ้าง
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP