×

ดอลลาร์แข็งค่าแตะระดับสูงสุด ‘รอบ 20 ปีใหม่’ หลัง Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยกำราบเงินเฟ้อต่อ ฉุดสกุลเงินเอเชียอ่อนค่าระนาว!

22.09.2022
  • LOADING...
ดอลลาร์แข็งค่า

ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าแตะระดับสูงสุดรอบ 20 ปีใหม่ หลัง Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามคาด 0.75% พร้อมส่งสัญญาณขึ้นต่อลากยาวถึงปีหน้า ทำให้สกุลเงินเอเชียอ่อนค่าหนักสุดในรอบหลายปี รวมถึงเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปีครั้งใหม่ โดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ 37.37 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงเช้าวันนี้ ด้านนักวิเคราะห์ระบุ เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าแตะ 38 บาทต่อดอลลาร์ภายในปีนี้

 

วันนี้ (22 กันยายน) ดัชนีดอลลาร์ (The Dollar Index) ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน แข็งค่าแตะ 111.65 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2002 หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ออกประมาณการใหม่ที่บ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับสูงสุดที่ 4.6% ในปีหน้า โดยไม่มีการปรับลดจนถึงปี 2024 หลังคณะกรรมการนโยบายการเงินของ Fed (FOMC) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเป้าหมายอีก 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้รับการสนับสนุนจากความต้องการสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศว่าจะส่งกำลังทหารกองหนุนเข้าสู่สมรภูมิในยูเครน เพื่อปกป้องรัสเซียจากการทำลายล้างของตะวันตก

 

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า สาเหตุที่ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าที่สุดในรอบ 20 ปี น้ำหนักหลักมาจากยูโรที่อ่อนค่าหนักสุดในรอบ 20 ปี ขณะที่เงินเยนของญี่ปุ่นก็อ่อนค่าสุดในรอบ 24 ปี

 

พร้อมทั้งมองว่าตลาดไม่ได้ประหลาดใจกับการขึ้นดอกเบี้ยในอัตรา 0.75% ของ Fed แต่ประมาณการและท่าทีของ Fed ดูเหมือนจะแข็งกร้าวกว่าที่คาดค่อนข้างมาก โดยประมาณการของเจ้าหน้าที่ Fed เกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ย โดยตัว Dot Plot บ่งชี้ว่า ปีหน้าดอกเบี้ยของ Fed จะพีคที่ 4.6% จากระดับปัจจุบันที่ประมาณ 3% ดังนั้นจึงน่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะกว่า Fed จะหยุดต่อสู้กับเงินเฟ้อ

 

นอกจากนี้ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ยังคงยืนยันระหว่างการแถลงข่าวว่า ยังไม่มีสัญญาณว่า Fed จะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น จากเดิมที่ตลาดคาดว่าการประชุมรอบนี้จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งสุดท้ายก็อาจไม่ใช่ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าการประชุมในเดือนพฤศจิกายน Fed จะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% อีกครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม รุ่งยังมองว่านับจากวันนี้ไปจนถึงการประชุมรอบหน้า สหรัฐฯ จะมีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ เช่น เงินเฟ้อ การจ้างงาน ให้ตลาดได้ทบทวนหรือย่อยข่าวต่อไปว่า ในที่สุดความน่าจะเป็นที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% มีความเป็นไปได้แค่ไหน

 

สกุลเงินเอเชียอ่อนค่าหนักสุดในรอบหลายสิบปี 

รุ่งระบุอีกว่า ในวันนี้ (22 กันยายน) ทุกสกุลเงินในภูมิภาคอ่อนค่าทั้งหมด โดยเงินบาทอ่อนค่าแตะ 37.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปี หรือตั้งแต่เดือนกันยายน 2006 ขณะที่อีกหลายสกุลเงินก็อ่อนค่าไปในทิศทางเดียวกัน อย่างเช่น เปโซฟิลิปปินส์ อ่อนค่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนสกุลเงินอีกหลายสกุลก็อ่อนค่าสูงสุดในรอบหลายสิบปี 

 

คาดมีโอกาสเห็นเงินบาทแตะ 38 บาทต่อดอลลาร์ภายในปีนี้

สำหรับในช่วงที่เหลือของปีนี้ กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาท กรุงศรีฯ มองไว้ที่ 35.75-38.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยกดดันหลักคือการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ขณะที่ปัจจัยหนุนคือการท่องเที่ยว และคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นปัจจัยหนุนชั่วคราว

 

“ในช่วงที่เหลือของปีนี้หรืออีกประมาณ 1 ไตรมาส ปัจจัยเสี่ยงหลักของเงินบาทยังมาจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เนื่องจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังกดไม่ลงหรือลงช้า ทำให้ Fed ต้องส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยรองที่กดดันค่าเงินบาทคือความไม่แน่นอนด้านการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งสัญญาณยกระดับความรุนแรงในการทำสงครามของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนกรณีไต้หวัน” รุ่งกล่าว

 

ส่วนปัจจัยหนุนค่าเงินบาทคือภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ High Season ก่อนสิ้นปีน่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะพลิกกลับมาเป็นบวก ซึ่งเป็นการลดแรงกดดันการอ่อนค่าของเงินบาท

 

สำหรับกรณีที่ตลาดคาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมสัปดาห์หน้า มองว่าจะเป็นปัจจัยหนุนชั่วคราว เนื่องจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ จะแคบลงได้บ้าง แต่ในที่สุดแล้วการขึ้นดอกเบี้ยน่าจะกลับมากระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ กนง. คงต้องพิจารณาปัจจัยรอบด้านอยู่แล้ว 

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X