สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. จัดตั้งแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต หรือ FTIX แห่งแรกของประเทศไทย นับเป็นก้าวสำคัญสู่เป้าหมายของประเทศในการบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอนภายในปี 2593 และต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานในพิธีลงนามความตกลงประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต ระหว่าง สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) และพิธีเปิดตัวแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต หรือ FTI: CC/RE/REC X Platform (FTIX) ในงาน “ลงมือทำ ลดโลกร้อน: ทางรอด ทางรุ่ง ของโลก ของไทย” Take Climate Action: Save The Earth, Prosper All
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ธปท. เตรียมออก Standard Practice ด้านสิ่งแวดล้อมในไตรมาส 3 พร้อมกำหนดให้แบงก์ส่งแผนและเป้าสีเขียวที่จับต้องได้ต้นปีหน้า
- ไทยจับมือสวิตเซอร์แลนด์ ลงนามข้อตกลงถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตร่วมกันคู่แรกของโลก ย้ำความตั้งใจแก้ปัญหาภูมิอากาศ
- เมื่อ ‘เป้าหมายสีเขียว’ และ ‘เป้ายอดขาย’ ไม่สอดคล้องกัน เปิดช่องโหว่นโยบาย สิ่งแวดล้อม ในอุตสาหกรรมแฟชั่น
ขณะเดียวกัน วราวุธได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘ภาครัฐ ประสาน ภาคเอกชน ขับเคลื่อนไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน’ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 21 ของโลก หรือประมาณ 0.8% ของโลก และเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่สุด ทำให้ต้องปรับปรุง ‘ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย’ หรือ LT-LEDS ที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อน และขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (The 2nd updated NDC) ที่ 40% ในปี 2030 โดยมีแนวทางและมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ เช่น การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (RE) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV)
สำหรับการเปิดตัวแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต หรือ FTIX นี้ จะเป็นการสร้างแรงจูงใจ และเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงสนับสนุนตลาดคาร์บอนภายในประเทศ โดยศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตจะเชื่อมโยงกับระบบของ อบก. ทำให้สามารถติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของประเทศได้
ด้าน สมโภชน์ อาหุนัย รองประธานสหพันธ์และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอนเนอร์ยี่ แอบโซลูท หรือ EA กล่าวว่า แพลตฟอร์ม FTIX จะดำเนินการโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยบริษัทเอกชนประมาณ 12,000 แห่ง ใน 45 ภาคส่วน ซึ่งแพลตฟอร์มสนับสนุนดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทและหน่วยงานภาครัฐสามารถซื้อและขายคาร์บอนเครดิตและติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้บน Dashboard ออนไลน์
ขณะที่สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า การเปิดตัวแพลตฟอร์มครั้งนี้เป็นการปูทางให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางการค้าคาร์บอนสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าในเบื้องต้นจะอนุญาตให้ซื้อขายในประเทศได้เฉพาะกับโปรแกรม T-VER ของรัฐบาลก่อน แต่คาดว่าแพลตฟอร์มนี้จะขยายเพื่อรวมรายการระหว่างประเทศอื่นๆ ในภายหลัง
โดย FTIX ได้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนคาร์บอนในตลาดอื่นๆ ในเอเชีย รวมถึงจีนและสิงคโปร์ ซึ่งมีแผนจะเปิดการซื้อขายล่วงหน้าโดยเร็วที่สุดในปีนี้ เนื่องจากบริษัทต่างๆ ล้วนมองหาการป้องกันความเสี่ยงจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่นเดียวกันกับญี่ปุ่นและมาเลเซียที่กำลังวางแผนสร้างแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนที่คล้ายคลึงกัน
อ้างอิง: