บรรดาผู้นำโลกมีกำหนดการเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ครั้งที่ 77 ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในช่วงสัปดาห์นี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีที่ผู้นำและผู้แทนระดับสูงจะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วยตนเอง นับตั้งแต่มีการประกาศให้โรคโควิดเป็นโรคระบาดอย่างเป็นทางการ เมื่อช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา จึงอนุโลมให้ผู้นำประเทศสามารถส่งคลิปวิดีโอการแถลงจุดยืนต่างๆ มาเปิดยังที่ประชุมได้ เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องโรคระบาด
ด้าน อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการ UN ชี้ว่า การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นในช่วงเวลาที่โลกกำลังตกอยู่ในอันตรายครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นไฟความขัดแย้งจากสงคราม ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ บาดแผลจากความเกลียดชัง ภาวะยากจน ความหิวโหยและความไม่เท่าเทียมกัน
โดยผู้นำโลกจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนแสดงจุดยืนในประเด็นต่างๆ ภายในที่ประชุมครั้งนี้ ซึ่ง เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส, เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี, ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล, ชีค ตะมีม บิน ฮะมัด อัษษานี เจ้าผู้ครองนครรัฐกาตาร์ อยู่ในลิสต์รายชื่อที่ขึ้นกล่าวเป็นรายแรกๆ ขณะที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะขึ้นกล่าวในวันนี้ (21 กันยายน) ตามเวลาท้องถิ่น โดยบรรดาผู้นำโลกส่วนใหญ่เพิ่งจะเดินทางมาจากการเข้าร่วมพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่จัดขึ้น ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา
ส่วน วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ก็อยู่ในลิสต์รายชื่อที่ต้องขึ้นกล่าวด้วยเช่นกัน แต่ทั้งคู่ไม่ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ แต่ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศและคณะผู้แทนเข้าร่วมประชุมแทน
ตัวอย่างประเด็นร้อนที่ผู้นำโลกจะหารือกันภายในที่ประชุม UNGA77
สงครามรัสเซีย-ยูเครน และผลกระทบ
ประเด็นที่ร้อนระอุที่สุดคงหนีไม่พ้น วิกฤตสงครามรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซียที่ขณะนี้กำลังเข้าสู่เดือนที่ 7 แล้ว ขอบเขตการสูญเสียและความเสียหายยังคงขยายตัวเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง สงครามและความขัดแย้งก่อให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ กระทบวิกฤตอาหารโลก อีกทั้งราคาพลังงาน โดยเฉพาะเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติต่างพุ่งสูงขึ้น จนหลายประเทศจำเป็นต้องปรับแผนและนโยบายด้านพลังงานเป็นการด่วน
ล่าสุด ดินแดนบางส่วนของยูเครนที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพรัสเซียและกลุ่มผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนที่โปรรัสเซียประกาศเตรียมจัดการลงประชามติในช่วง 23-27 กันยายนนี้ เพื่อขอแยกตัวเป็นเอกราชจากยูเครน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากว่า หากมีมติเห็นชอบ ดินแดนเหล่านี้จะผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งกับรัสเซียในท้ายที่สุด ส่งผลให้ประชาคมโลก โดยเฉพาะยูเครนและพันธมิตรตะวันตกต่างประณามความพยายามดังกล่าว และอาจทำให้ขอบเขตของสงครามขยายตัวอีกมากยิ่งขึ้น
ด้าน สตีเฟน ดูจาร์ริก โฆษกสหประชาชาติ เผยว่า UN ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในทันที หากสงครามครั้งนี้จบลง แต่เบื้องต้นก็พึงพอใจที่หน่วยงานของ UN ได้เข้าไปมีส่วนช่วยบรรเทาวิกฤตที่เกิดขึ้นในยูเครน แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาอีกมากที่ยังรอรับความช่วยเหลือ อาทิ วิกฤตขาดแคลนอาหารในประเทศแถบแอฟริกา
ภาวะโลกรวนและวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ
เป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยิ่งในปีนี้ทั่วโลกเผชิญหน้ากับภาวะโลกรวนอย่างหนัก ภัยพิบัติทางธรรมชาติมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น คลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมขยายพื้นที่ขึ้นและอยู่ยาวนานยิ่งขึ้น เกิดภาวะภัยแล้งและวิกฤตไฟป่าเรื้อรัง ระดับน้ำในแม่น้ำสำคัญหลายสายลดระดับลงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่บางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะวิกฤตน้ำท่วมในปากีสถาน กระทบกว่า 30 ล้านชีวิต และมียอดผู้เสียชีวิตราว 1,500 รายแล้ว
โดยวิกฤตเหล่านี้สร้างความท้าทายให้กับระบบจัดการภัยพิบัติของแต่ละประเทศอยู่ไม่น้อย ผูกโยงอยู่กับวิกฤตอื่นๆ ในลักษณะที่เป็นลูกโซ่ เช่น วิกฤตผู้ลี้ภัย วิกฤตขาดแคลนอาหาร นับเป็นอีกหนึ่งในประเด็นที่นานาชาติจะต้องหาทางออกที่ยั่งยืนร่วมกัน
วิกฤตเศรษฐกิจโลก
เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่บรรดาผู้นำโลกต้องร่วมกันหารือ เพราะนอกจากเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากสงครามและความขัดแย้ง รวมถึงภัยภิบัติทางธรรมชาติแล้ว เราต้องไม่ลืมว่าหลายประเทศอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างบอบช้ำจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดตั้งแต่ปลายปี 2019 เป็นต้นมา โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพารายได้จากด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก อาจถึงเวลาที่ต้องร่วมมือกันช่วยฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจโลกให้กลับมาขับเคลื่อนได้อย่างคล่องตัวอีกครั้ง แม้จะยังคงมีการระบาดและการกลายพันธ์ุของเชื้อเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ก็ตาม
การประชุม UNGA77 ในครั้งนี้จะได้ข้อสรุปในประเด็นใดที่น่าสนใจบ้าง ต้องติดตามกันต่อไป
ภาพ: Michael M. Santiago / Getty Images
อ้างอิง: