การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นำความโศกเศร้ามาสู่พสกนิกรชาวอังกฤษและคนทั่วโลก รวมถึงพวกเราชาวไทยที่ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลคนละซีกโลก แต่ก็อดรู้สึกตกใจและเสียใจตามไปด้วยไม่ได้ ท่ามกลางบรรยากาศที่เกิดขึ้น หลายคนอาจนึกสงสัยว่า เหตุใดเราจึงรู้สึกเสียใจต่อการจากไปของบุคคลที่มีชื่อเสียง ทั้งที่ก็ไม่เคยรู้จักหรือเจอกันแบบตัวเป็นๆ มาก่อน ซึ่งวิทยาศาสตร์มีคำอธิบายปรากฏการณ์นี้
ไมเคิล ชอลบี นักปรัชญาและนักจริยธรรมจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระของสหราชอาณาจักร อธิบายว่า แม้โดยปกติแล้วคนเรามักจะรู้สึกโศกเศร้าเมื่อต้องสูญเสียคนใกล้ชิดอย่างพ่อ-แม่ เพื่อนสนิท หรือคนรัก แต่ก็อาจมีบางสถานการณ์ที่เรารู้สึกเสียใจกับการเสียชีวิตของคนดังด้วยเช่นกัน ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยความสัมพันธ์แบบ Parasocial Relationships หรือในภาษาไทยคือ ‘ความสัมพันธ์แบบกึ่งมีส่วนร่วมทางสังคม’
Parasocial Relationships เป็นความสัมพันธ์ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้อธิบายลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เกิดขึ้นด้านเดียว เช่น คนธรรมดาทั่วไปที่มีความรู้สึกชื่นชอบหรือคลั่งไคล้คนดังอย่างดารา ศิลปิน ผู้นำ สมาชิกในราชวงศ์ ตลอดจนบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียง ซึ่งอาจเห็นจากหน้าจอโทรทัศน์หรือสื่อต่างๆ ทุกวัน โดยเมื่อเรารู้สึกชื่นชอบใครสักคนหนึ่งมากๆ แล้ว เราก็จะมีแนวคิดและความเชื่อบางอย่างที่ยึดโยงไว้กับบุคคลนั้น แต่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความตาย ความเชื่อเหล่านั้นจึงพังทลายลง ก่อให้เกิดเป็นความผิดหวัง เป็นเหตุให้เรารู้สึกเสียใจต่อการจากไปของบุคคลที่เราชื่นชอบ แม้จะไม่เคยเจอหน้าค่าตากันมาเลยทั้งชีวิตก็ตาม
เมื่อเราชื่นชอบใครสักคนแล้ว เราอาจรับเอาค่านิยม แนวคิด หรือจุดยืนของบุคคลนั้นๆ มาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของเราด้วย ฉะนั้นการเสียชีวิตของใครสักคนอาจไม่ได้หมายถึงแค่การสูญเสียตัวบุคคลนั้นไป แต่เราอาจรู้สึกสูญเสียคุณค่าที่พวกเขายึดถือ รวมถึงอาจรู้สึกสูญเสียตัวตนส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวเองไปด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เรารู้สึกโศกเศร้าได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ความเสียใจในลักษณะนี้มักจะคงอยู่ไม่นานเหมือนกับความเศร้าที่ต้องสูญเสียญาติพี่น้องไป เพราะการที่มนุษย์จะสร้างความผูกพันต่อใครสักคนหนึ่งได้นั้นจะต้องมีตัวแปร 3 อย่างด้วยกัน ซึ่งได้แก่ เวลา ความใกล้ชิด และระดับความสนิทสนม โดยตัวแปรทั้งสามนี้จะเป็นสิ่งที่กำหนดระดับความเสียใจของคนเรา เพราะเซลล์ประสาทในสมองของมนุษย์ออกแบบมาเพื่อค้นหา 3 สิ่งนี้ในการสานสัมพันธ์กับใครสักคนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับความสัมพันธ์แบบ Parasocial Relationships นั้นไม่ได้แข็งแกร่งเท่ากับคนที่เราเจอในชีวิตจริง
แฟ้มภาพ: Wiktor Szymanowicz / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: