×

ระเบิดเวลาหลังยุคโควิด อ่านชีพจรเศรษฐกิจกับ ‘สุพันธ์ุ มงคลสุธี’ แม่ทัพเศรษฐกิจไทยสร้างไทย

16.09.2022
  • LOADING...
สุพันธ์ุ มงคลสุธี

HIGHLIGHTS

  • จากนักธุรกิจ SME สู่การเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และการก้าวสู่ถนนการเมืองในนามพรรคไทยสร้างไทย
  • หนี้เสียคือระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจที่สุพันธ์ุบอกว่าต้องรีบแก้ปัญหาโดยด่วน เพื่อฟื้นให้ประชาชนสามารถทำมาหากินได้ เดินหน้าเศรษฐกิจไทยต่อไป
  • “เราผ่านมาทุกวิกฤต สู้ทุกวิธีจนรู้ทางหนีและทางรอด” คำประกาศความตั้งใจของ สุพันธ์ุ มงคลสุธี

ชื่อของ ‘สุพันธ์ุ มงคลสุธี’ กลายเป็นที่ฮือฮาอีกครั้ง หลังเขาตัดสินใจลงสนามการเมือง สวมเสื้อพรรคไทยสร้างไทยที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรค โดยได้รับมอบหมายให้นั่งเก้าอี้รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญของประเทศไทยที่กำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจถาโถม ทั้งเงินเฟ้อ ของแพง ค่าครองชีพพุ่ง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤตโรคระบาดที่ทั่วโลกต้องเผชิญมากกว่า 2 ปี

 

THE STANDARD คุยกับ สุพันธ์ุ มงคลสุธี ถึงจุดตัดสินใจหักเหชีวิตจากสายเศรษฐกิจมาโลดแล่นสู่ถนนการเมือง การนำพาพรรคไทยสร้างไทยด้วยนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้อต่อ ‘คนตัวเล็ก’ และประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในห้วงเวลาปัจจุบัน

 

ตัวตน ‘สุพันธ์ุ มงคลสุธี’ คือใคร?

 

สุพันธ์ุนิยามตนเองว่าเป็นนักธุรกิจ เริ่มจากทำร้านเครื่องเขียนเล็กๆ จนประสบความสำเร็จ และมาเจอกับวิกฤตต้มยำกุ้งที่ทำให้เป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น จนต้องปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร ทำให้เข้าใจการทำธุรกิจและเป็นหนี้ของคนตัวเล็กเป็นอย่างดี จนกระทั่งเติบโตมาเป็นบริษัทใหญ่ที่ประกอบธุรกิจแพ็กเกจจิ้งและบริษัทด้านเทคโนโลยีอย่าง ซินเน็ค ซึ่งทั้ง 2 บริษัทก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์

 

เขายังเป็นอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมในช่วงปี 2563-2565 อีกทั้งในปี 2557 ยังเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และยังเป็นคณะกรรมการของทั้งภาครัฐและเอกชนอีกหลายคณะ 

 

สุพันธ์ุ มงคลสุธี

 

“ผมเองเริ่มเรียนรู้ธุรกิจตั้งแต่ยังเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก จนวันนี้พาธุรกิจนี้มาไกลถึง 2 หมื่นกว่าล้าน และได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมกว่า 3 สมัย ผมคิดว่าทุกเรื่องในความสำเร็จของผม ผมมีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจ และทำงานในแต่ละหน้าที่ แต่ละบทบาทที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่”

 

สุพันธ์ุยังได้เสริมถึงวิสัยทัศน์ของตนเองว่า เขาพร้อมปรับองค์กรที่อยู่ในการบริหารของตนเองให้มีความทันสมัย เข้ากับสถานการณ์ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

“ผมคิดว่าทุกเรื่องในความสำเร็จของผม ผมมีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจ และทำงานในแต่ละหน้าที่ แต่ละบทบาทที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด”

 

เส้นทาง ‘สุพันธ์ุ มงคลสุธี’ สู่ถนนการเมือง

 

“ผมโดดเข้ามาในการเมืองเพราะเห็นการพัฒนาของประเทศไทยหยุดนิ่ง” สุพันธ์ุเริ่มกล่าวถึงเส้นทางชีวิตที่ตัดสินใจเริ่มเข้าสู่การเมือง แม้ชีวิตที่ผ่านมาของเขาจะอยู่ในภาคธุรกิจมาโดยตลอด

 

“ต้องยอมรับว่าวันนี้ประเทศไทยทั้งเทคโนโลยีและเศรษฐกิจเปลี่ยนไปมาก วันนี้ประเทศไทยกำลังจะถดถอย ปัญหาใหญ่คือเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องความมั่นคง อีกทั้งปัญหาสาธารณสุขก็ยังกระทบมาถึงเรื่องเศรษฐกิจจนเสียเยอะมาก เราเห็นว่าจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข”

 

สุพันธ์ุระบุว่า แม้ก่อนหน้านี้เขาจะยังไม่ได้เข้าสู่การเมือง แต่ทุกบทบาทที่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายภาครัฐ เขาพยายามเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ได้รับความสนใจค่อนข้างน้อย 

 

“คนที่เก่งเรื่องเศรษฐกิจอยู่ภาคเอกชนหมด ไม่ใช่ผมจะบอกว่าผมเก่งนะครับ แต่ในภาคเอกชนเรามีคนเก่งเยอะมากที่จะช่วยกันขับเคลื่อน ช่วยกันให้ความรู้ ถ้ารัฐได้นำตรงนั้นไปแก้ไขในแต่ละจุด ผมคิดว่าการขับเคลื่อนก็จะได้ไปในแบบที่ถูกทิศถูกทาง”

 

สุพันธ์ุ มงคลสุธี

 

ประเมินพายุเศรษฐกิจที่พัดผ่านประเทศไทย

 

“ทุกครั้งที่พายุแรงๆ มักจะอยู่ประมาณ 2 ปี”

 

สุพันธ์ุประเมินสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจของไทยที่กำลังอยู่ในช่วงพายุพัดผ่าน โหมกระหน่ำทั้งเงินเฟ้อ ค่าครองชีพพุ่งสูง กระทบผู้มีรายได้น้อย แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่วิธีการแก้ปัญหา เพราะปัญหาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน

 

“วันนี้เรามองตัวเลข GDP ของไทยเราเกือบจะต่ำสุดในอาเซียน และเฉลี่ยทั่วโลกเราก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ก็ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถเพิ่มรายได้เข้าสู่ประเทศ เราเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวก็จริง แต่ยังไม่ได้เพิ่มแบบเต็มที่” สุพันธ์ุกล่าว

 

สุพันธ์ุกล่าวถึงเรื่อง ‘เงินเฟ้อ’ ที่ปัจจุบันอยู่ราวๆ 7-8% ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาเศรษฐกิจ แต่ถ้ามองเรื่องรายได้คนทั่วไป คำถามจึงมีอยู่ว่า เรามีรายได้เพิ่มพอๆ กับเงินเฟ้อหรือไม่ คำตอบคือไม่

 

 

“เงินเฟ้อทำให้คนมีรายได้เท่าเดิม มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นแน่นอน คนมีหนี้ก็จะเป็นหนี้มากขึ้น…รัฐก็ต้องมาแจกเงินแบบที่เป็นอยู่ ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะทำแล้ว”

 

“เงินเฟ้อทำให้คนมีรายได้เท่าเดิม มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นแน่นอน รายได้สุทธิลดลง คนมีหนี้ก็จะเป็นหนี้มากขึ้น เพราะรายได้ไม่พอ ต้องกู้มาใช้จ่าย อาจกู้จนไม่สามารถกู้ได้ ก็จะประสบปัญหามากขึ้นไปอีก รัฐก็ต้องมาแจกเงินแบบที่เป็นอยู่ ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะทำแล้ว”

 

หนี้ครัวเรือน ระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจที่พร้อมปะทุหลังโควิดเริ่มซา

 

สุพันธ์ุระบุว่า เราต้องมองให้ถ่องแท้ว่าปัญหาหลักคืออะไร นั่นคือรายได้ประชาชนลดลง หนี้สินมากขึ้น ซึ่งตัวเลขหนี้ครัวเรือนคือตัวสะท้อนว่าเรามีหนี้สินมากถึง 90% ตัวเลขจากเครดิตบูโรเรามีคนมีหนี้อยู่ราวๆ 32 ล้านคน ดังนั้นมองง่ายๆ เลยว่าคนในวัยทำงานแทบทุกคนมีหนี้หมด และในจำนวนนี้คือมีหนี้เสียแล้ว 3 ล้านคน หรือราว 10% ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ จากระเบิดเวลาที่อัดอั้นจากช่วงสถานการณ์โควิด

 

สุพันธ์ุ มงคลสุธี

 

“เดือนมกราคม 2565 คนที่เป็นหนี้เสียราว 2.1 ล้านคน ต่อมาเดือนมิถุนายน 2565 มีตัวเลขขึ้นมาถึง 2.9 ล้านคน และมันจะมากขึ้นถึงสิ้นปีนี้ อาจแตะ 3 ล้านกว่าคน และรวมมูลค่าหนี้ประมาณ 5 แสนล้าน ซึ่งถือเป็นตัวเลขค่อนข้างสูง ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนทำงาน คนทำธุรกิจมาก่อน ก็เหมือนเป็นกองทัพที่คอยหาเงิน แต่เราก็ตัดแขน ตัดขา เพราะการติดเครดิตบูโรก็เหมือนติดหล่ม ทำอะไรต่อไม่ได้”

 

สุพันธ์ุย้ำว่า ถ้าวันนี้เขาเป็นรัฐบาล จะต้องแก้ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนก่อนเป็นสิ่งแรก เพราะเราต้องฟื้นให้คนที่คอยหาเงินกลับมาก่อน โดยเราสามารถเจรจาดอกเบี้ยกับธนาคาร ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ รัฐต้องเจรจากับธนาคาร ซึ่งรัฐก็สามารถชดเชยดอกเบี้ยตรงนี้เพื่อให้ทุกคนสามารถเดินไปต่อข้างหน้าได้

 

“รัฐควรจะชดเชยตรงนี้ เพราะ 3 ปีที่ผ่านมา มาตรการของรัฐมีส่วนทำให้ภาคธุรกิจต้องปิดตัวลง ทั้งการล็อกดาวน์ที่กะทันหัน และการเปิดเมืองที่ล่าช้าจากการจัดการเรื่องวัคซีน ที่ภาคธุรกิจเองไม่ควรแบกรับไว้โดยลำพัง”

 

สุพันธ์ุบอกว่า หนี้เหล่านี้ทำให้กำลังในการหาเงินเข้าประเทศลดลง สมมติว่าเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหารหรือโรงแรม แน่นอนว่าถ้าเปิดบริการก็ต้องจ้างคนเพิ่ม คนก็จะกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน คนมีรายได้ คนที่ตกงานก็อาจจะอยู่ต่างจังหวัด ก็กลับมามีรายได้ พอมีรายได้ก็มีการจับจ่าย ระบบเศรษฐกิจก็จะหมุนเวียน

 

“สมมติโรงแรมของคุณถูกยึดโดยแบงก์ มันก็ตายอยู่ตรงนั้น ไม่มีใครไปทำอะไร เงินมันจม ไม่มีการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ”

 

 

“แต่ถ้าสมมติโรงแรมของคุณถูกยึดโดยแบงก์ เงินก็ไม่หมุน มันก็ตายอยู่ตรงนั้น อย่างที่ดินที่เราอาจเคยเห็นแบงก์ยึดไปก็จมอยู่ตรงนั้น ไม่มีใครไปทำอะไร เงินมันจม ไม่มีการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ”

 

ซึ่งรัฐไม่ต้องห่วงว่าชดเชยแล้วจะได้อะไร เมื่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งที่ได้แน่ๆ คือภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีอื่นๆ อีก โดยเฉพาะหากเราวางเงื่อนไขว่า หากรัฐช่วย ขอให้คุณเข้าสู่ระบบ แต่ก็อาจมีแรงจูงใจ เช่น การยกเว้นภาษีนิติบุคคลไปอีก 3 ปี เพื่อชดเชยกับสิ่งที่เขาได้รับผลกระทบจากโควิดมาตลอด 3 ปี

 

‘ค่าครองชีพ’ ปัญหาที่กำลังจะฆ่าประชาชน

 

“ต้องยอมรับก่อนว่าค่าครองชีพเราทำให้ถูกลงได้บางเรื่อง บางเรื่องไปแล้วไม่กลับ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป”

 

สุพันธ์ุบอกว่า หากเราแยกค่าครองชีพส่วนที่รัฐช่วยได้ทันที คือค่าไฟฟ้า หรือพลังงาน เนื่องจากเราเป็นประเทศที่ไม่ได้มีปริมาณน้ำมันดิบเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ทำให้เราต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ แต่เราผลิตพลังงานได้ เรามีพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียน เราต้องส่งเสริมเรื่องนี้ให้ทุกบ้านติดโซลาร์เซลล์ ซึ่งรัฐสามารถส่งเสริมได้ เช่น การปล่อยเงินกู้ให้แต่ละบ้านไปติดในดอกเบี้ยที่ถูก และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถขายไฟส่วนเกินจากที่ใช้ได้ รัฐไม่ต้องลงทุนเรื่องพลังงาน ประชาชนก็ได้ประโยชน์จากตรงนี้

 

“ของที่แพงขึ้นอย่างไรก็ยากที่จะลดลง แต่เราก็ต้องแก้ด้วยการเพิ่มรายได้ประชาชนอย่างที่ผมย้ำมาตลอด การที่รัฐเข้าไปช่วยด้านต่างๆ ให้ทุกคนสามารถทำมาหากินได้”

 

 

สร้างโอกาส-สร้างรายได้-สร้างความเข้มแข็ง บันได 3 ขั้นของไทยสร้างไทยในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

 

“สร้างโอกาส-สร้างรายได้-สร้างความเข้มแข็ง”

 

  • สร้างโอกาส

สร้างโอกาสทั้งเรื่องกฎหมาย แก้กฎหมายที่เป็นปัญหาต่อการทำมาหากินของประชาชน กฎหมายที่ล้าหลังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ถ้าเราไปดูพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บางตัวมีอายุมากกว่า 40 ปีแล้ว และการตั้งกองทุน SME กองทุนเครดิตประชาชน ที่ให้ประชาชนสามารถมากู้ยืมเงิน โดยผ่อนชำระในระดับที่เขาจ่ายไหว และเมื่อทำเครดิตดีก็สามารถกู้เพิ่มได้ เหล่านี้คือการสร้างโอกาสให้ประชาชนกลับมาทำมาหากินได้

 

  • สร้างรายได้

เราต้องเน้นเรื่อง Made in Thailand เรื่องอุตสาหกรรม และการสร้างนวัตกรรมเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถสร้างรายได้มากขึ้น และแน่นอนว่าเรื่องนวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญ รัฐต้องอำนวยให้การสร้างนวัตกรรมของประชาชนเป็นเรื่องง่าย เช่น เรื่องการจดลิขสิทธิ์ ซึ่งวันนี้เราจะจดลิขสิทธิ์ยากมาก

 

  • สร้างความเข้มแข็ง

สิ่งนี้คือเรื่องระยะยาว เราต้องดูว่าประเทศเราถนัดเรื่องอะไร ซึ่งหากเรามองดูแล้วเราถนัดเรื่องของเกษตร อาหาร และท่องเที่ยว รวมถึงเรื่องสุขภาพ เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างโอกาสเพื่อให้สิ่งเหล่านี้แข็งแรง

 

“เราโชคดีมากเรื่องท่องเที่ยว แทบไม่ต้องทำอะไรคนก็มาเที่ยว ในขณะที่สิงคโปร์สร้างทุกอย่างให้คนมาเที่ยว แต่เราก็ต้องสร้างเช่นเดียวกัน สร้างเพิ่มเติมจากสิ่งที่มีอยู่ สร้างเมืองรองให้น่าท่องเที่ยว สร้างเทศกาลต่างๆ ให้ยิ่งใหญ่ระดับโลก”

 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสุขภาพ Health Wellness เราสามารถสร้างตัวเองเป็นศูนย์กลางการรักษาของภูมิภาคนี้ได้ เรามีเครื่องสำอางที่แข่งขันได้ เราเน้นสินค้าคนตัวเล็ก ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าไฮเทค เพราะวันนี้เราตามไม่ทันแล้วเรื่องนั้น

 

 

ความตั้งใจของสุพันธ์ุและไทยสร้างไทยในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย

 

“ผมเองมีก็ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องจุลภาค ซึ่งตอนนี้ประเทศเราต้องการคนเก่งจุลภาค เพราะเป็นปัญหาของคนตัวเล็ก”

 

สุพันธ์ุกล่าวว่า ตนเองเคยอยู่ทั้งสภาอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเพื่อนในภาคธุรกิจที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถเก่งได้คนเดียว คนเหล่านี้พร้อมจะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้

 

อีกหน่ึงจุดแข็งของไทยสร้างไทยคือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยเองก็รู้ปัญหาของชาวบ้านเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นพรรคมีระบบ มีตัวตน และมีคนที่แก้ปัญหาทั้งการเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ และสังคม อยู่ครบที่ไทยสร้างไทย 

 

“เราผ่านมาทุกวิกฤต สู้ทุกวิธีจนรู้ทางหนีและทางรอด ในแง่ของธุรกิจเราก็ประสบความสำเร็จมาก่อน และในแง่การเมืองเรามีคุณหญิงสุดารัตน์ที่พร้อมรับมือการเมืองได้ ในแง่กฎหมายเรามีอาจารย์โภคิน​ พลกุล ที่มีความรู้ความสามารถด้านกฎหมาย ทั้งหมดนี้คือความตั้งใจของผมและไทยสร้างไทยในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ”

 

“เราผ่านมาทุกวิกฤต สู้ทุกวิธีจนรู้ทางหนีและทางรอด”

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X