ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน เปิดฉากทริปเยือนเอเชียกลาง ซึ่งถือเป็นทริปนอกประเทศครั้งแรกหลังจากที่เผชิญสถานการณ์ระบาดรุนแรงของโควิดตั้งแต่ต้นปี 2020 โดยมีกำหนดการสำคัญที่ทั่วโลกจับตามอง คือการพบปะกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ในการพูดคุยนอกรอบระหว่างร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation: SCO) ที่นครซามาร์คานด์ ของอุซเบกิสถาน ในวันนี้ (15 กันยายน)
การพบกันของสองผู้นำถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ เนื่องจากเกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศความท้าทาย ทั้งสำหรับรัสเซียที่กำลังเผชิญการถดถอยครั้งใหญ่ในสงครามยูเครน และจีนที่เผชิญภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์
โดยทั้งสองจะมีการหารือในเรื่องใดบ้าง และจะมีการส่งสัญญาณอะไรที่อาจเป็นนัยสำคัญ หรือส่งผลกระทบต่อภูมิศาสตร์การเมืองโลกหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่ต้องเฝ้าติดตามกันอย่างใกล้ชิด
ประเด็นใหญ่ ยูเครน-ไต้หวัน
การพูดคุยกันระหว่างสีและปูติน มีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์สงครามในยูเครนที่กำลังเข้มข้น หลังกองทัพยูเครนเดินหน้าโจมตีโต้กลับ และยึดดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือคืนจากรัสเซียได้อย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่จีนเอง เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็เพิ่งมีประเด็นร้อนกรณีไต้หวัน ซึ่งจีนมองว่าเป็นมณฑลหนึ่งของตน หลัง แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะ ส.ส. และ ส.ว. สหรัฐฯ รวมถึงผู้ว่าการรัฐอินดีแอนา ทยอยเดินทางไปเยือนกรุงไทเป กระตุกหนวดมังกรแบบไม่เกรงกลัว ทำให้กองทัพจีนต้องตอบโต้ ด้วยการแสดงแสนยานุภาพซ้อมรบใหญ่รอบเกาะไต้หวัน ส่งผลให้บรรยากาศในช่องแคบไต้หวันเป็นไปด้วยความตึงเครียด
โดย 2 ประเด็นร้อนนี้ ถูกจับตามองว่าจะมีการหยิบยกมาเป็นหัวข้อพูดคุยระหว่างสีและปูติน ซึ่ง ยูริ อูชาคอฟ ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลเครมลิน เผยก่อนหน้านี้ว่า สองผู้นำจะคุยกันในหลายเรื่อง ตั้งแต่ประเด็นระดับทวิภาคีไปจนถึงระดับภูมิภาคและนานาชาติ ซึ่งรวมถึงเรื่องยูเครนและไต้หวัน ที่เครมลินมองว่ามี ‘ความสำคัญเป็นพิเศษ’
บททดสอบมิตรภาพไร้ขีดจำกัด
ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่รัสเซียจะเปิดฉากบุกยูเครน สีและปูตินได้พบปะกันที่ปักกิ่ง และประกาศความเป็นหุ้นส่วนในเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกันแบบไร้ขีดจำกัด
ท่าทีดังกล่าวของสองผู้นำ ทำให้การพบกันรอบนี้เป็นที่จับตามองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ซึ่งสนใจว่าจีนจะมีจุดยืนสนับสนุนหรือต่อต้านการทำสงครามของรัสเซีย
ก่อนหน้านี้ สภาดูมาของรัสเซียชี้ว่า ผู้นำอาวุโสของจีนได้แสดงการสนับสนุนอย่างชัดเจนสำหรับการทำสงครามกับยูเครน ซึ่งถือเป็นข้อกล่าวอ้างที่ยังไม่พบในแถลงการณ์ของรัฐบาลจีน และขัดต่อความพยายามของปักกิ่งที่จะรักษาสถานะความเป็นกลางไว้ ถึงแม้จะมีการแสดงท่าทีว่าเข้าใจเหตุผลของรัสเซียในการตัดสินใจทำสงคราม และปฏิเสธการประณามรัสเซีย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลี่จ้านซู (Li Zhanshu) ประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติจีน เดินทางไปเยือนรัสเซีย และได้พบกับปูตินและสมาชิกรัฐสภาหลายคน โดยเขาแสดงท่าทีว่า จีนสนับสนุนและเข้าใจรัสเซียในประเด็นการรักษาผลประโยชน์ของตนเอง โดยเฉพาะกรณียูเครน ซึ่งจีนมองว่า การขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ และ NATO เข้าใกล้ชายแดนรัสเซีย ถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงอย่างร้ายแรง และวิพากษ์วิจารณ์มาตรการคว่ำบาตรลงโทษรัสเซียของชาติตะวันตก พร้อมทั้งเรียกร้องให้สองประเทศกระชับความร่วมมือกัน เพื่อต่อสู้กับอิทธิพลจากภายนอก และขอบคุณรัสเซียที่สนับสนุนจีนในประเด็นปัญหาเรื่องไต้หวัน
สำหรับรัสเซียที่กำลังเผชิญสถานการณ์ที่ย่ำแย่ในสงครามยูเครนและการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ทำให้การเพิ่มพูนความสัมพันธ์อันดีกับจีน ยิ่งเป็นสิ่งที่รัสเซียต้องการมากที่สุดในตอนนี้
เวลินา ชาคาโรวา (Velina Tchakarova) ผู้อำนวยการสถาบันออสเตรียเพื่อนโยบายยุโรปและความมั่นคงในกรุงเวียนนา กล่าวว่า “รัสเซียพึ่งพาจีนเพื่อแสดงให้โลกเห็นว่า สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของพวกเขาเป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลวในการโดดเดี่ยวจากนานาชาติ แม้จะถูกคว่ำบาตรอย่างรุนแรงจากตะวันตก”
ชาคาโรวาชี้ว่า การสนับสนุนจากจีนจะช่วยรัสเซียในการเผยแพร่เรื่องเล่าต่างๆ เช่น กล่าวโทษมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปว่า เป็นต้นตอวิกฤตอาหาร หรือตำหนิ NATO ที่เริ่มต้นของสงคราม ซึ่งเป็นการสร้างตัวหารร่วม ทั้งในแง่ของการสร้างความไม่พอใจต่อชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ และเป็นกรณีเชิงบวกสำหรับการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น
ด้าน ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า มอสโกนั้นต้องการพันธมิตรอย่างยิ่งในช่วงนี้ และการประชุม SCO ถือเป็นพื้นที่สำหรับรัสเซียเพื่อสร้างพันธมิตร
อย่างไรก็ตาม การที่รัสเซียมุ่งขยายความสัมพันธ์กับจีนเพื่อต้องการให้สนับสนุนกรณีการทำในสงครามยูเครนนั้น ดร.ปิติ มองว่าจีนจะไม่เข้าไปยุ่ง เพราะท่าทีของจีนนั้นยืนหยัดอยู่บนหลักการ ‘บูรณภาพแห่งดินแดน (Territorial Integrity)’ และจะไม่มีทางแสดงจุดยืนสนับสนุนประเทศใดก็ตามที่ละเมิดหลักการนี้ เนื่องจากอาจส่งผลย้อนกลับมายังจีนเอง ที่ยังมีประเด็นอ่อนไหว เช่น ในเรื่องของทิเบต หรือซินเจียงอุยกูร์
“เรื่องหนึ่งที่จีนไม่มีทางจะเข้าไปสนับสนุนเด็ดขาด คือการละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดน จีนจะไม่มีวันแสดงจุดยืนสนับสนุนใครก็ตามที่ละเมิดเรื่องนี้” ดร.ปิติกล่าว
ข่าวร้ายสำหรับจีน?
นักวิเคราะห์มองความถดถอยของกองทัพรัสเซียในสงครามยูเครนช่วงหลายวันที่ผ่านมาว่า อาจก่อให้เกิดภาวะ ‘กลืนไม่เข้าคายไม่ออก’ อย่างรุนแรงสำหรับจีน
ฮัล แบรนด์ส ศาสตราจารย์ด้านกิจการโลกแห่งมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins) โพสต์ข้อความทาง Twitter ว่า “ปักกิ่งไม่สามารถนั่งเงียบๆ และดูรัสเซียพ่ายแพ้ในยูเครนได้ เพราะนั่นจะนำไปสู่ (ในกรณีต่ำสุด) รัสเซียที่อ่อนแอลงอย่างรุนแรง และกลายเป็นพันธมิตรที่มีประโยชน์น้อยลง และสามารถเบี่ยงเบนความสนใจของวอชิงตันได้น้อยลง และ (ในกรณีสูงสุด) อาจก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมืองในมอสโก”
ซึ่งแบรนด์สชี้ว่า ความไม่มั่นคงทางการเมืองในมอสโกนั้น อาจสร้างความไม่มั่นคงภายในแก่ ‘หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์’ ซึ่งสีได้ลงทุนไปแล้วมากมายด้วย
“คุณสามารถเดิมพันได้เลยว่า ในขณะที่รัสเซียนั้นแย่ลง ปูตินจะมองหาการสนับสนุนจากจีนเพิ่มขึ้น แต่หากปักกิ่งไม่พบหนทางให้การสนับสนุนอย่างที่กล่าว เราอาจเห็นความตึงเครียดมากขึ้นในการเป็นหุ้นส่วนระหว่างจีนและรัสเซีย เร็วกว่าที่นักวิเคราะห์หลายคนคาดคิดไว้” แบรนด์สกล่าว
เรื่องนี้ยังกลายเป็นคำถามปลายเปิด ว่าจีนมีขอบเขตแค่ไหนในการเต็มใจสนับสนุนรัสเซียด้วยผลประโยชน์เชิงกลยุทธ์และวัตถุประสงค์ของตนเอง ซึ่งจนถึงตอนนี้ รัฐบาลปักกิ่งยังไม่ได้ให้ความช่วยเหลือทางทหารหรือการเงินโดยตรงแก่มอสโก เพราะอาจจุดชนวนการคว่ำบาตรจากวอชิงตัน
ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังมองว่า ความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและรัสเซียนั้นส่วนใหญ่เป็นความสัมพันธ์ในทางปฏิบัติ โดยอิงจากการคำนวณต้นทุนและผลประโยชน์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างง่ายดาย
“ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-รัสเซียไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ‘ค่านิยมร่วมกัน’ หรือความรู้สึกเคารพหรือความรักใคร่ โดยส่วนใหญ่มาจากผลประโยชน์ และผลประโยชน์สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเมื่อพลวัตเปลี่ยนไป นี่ไม่ได้หมายความว่า ความสัมพันธ์ของจีนและรัสเซียจะอ่อนแอ เพียงแต่ไม่มีความจำเป็นต้องคงทนถาวร” ไบรอัน ฮาร์ต ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติ (Center for Strategic & International Studies: CSIS) กล่าว
ภาพ: Alexei Druzhinin / SPUTNIK / AFP
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2022/09/12/china/russia-ukraine-retreat-china-support-intl-hnk/index.html
- https://edition.cnn.com/2022/09/14/asia/putin-xi-help-uzbekistan-summit-intl-cmd/index.html
- https://www.nytimes.com/2022/09/13/world/asia/china-russia-xi-putin.html
- https://www.npr.org/2022/09/12/1122311394/xi-putin-meeting-marks-a-closer-relationship-between-the-2-global-powers
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-09-13/xi-returns-to-world-stage-with-putin-to-counter-us-global-order?leadSource=uverify%20wall&sref=CVqPBMVg