รัชสมัยอันยาวนานของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สิ้นสุดลง เมื่อสำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์ เรื่อง การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อย่างเป็นทางการเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา
ระยะเวลา 70 ปีแห่งการทำหน้าที่ประมุขของประเทศ พระองค์ทรงผ่านพ้นทั้งช่วงเวลาแห่งความสุข ความโศกเศร้า ตลอดจนเหตุการณ์และวิกฤตการณ์สำคัญต่างๆ ของทั้งอังกฤษและของโลก ดังนั้นรัชสมัยของพระองค์จึงไม่ใช่เป็นเพียงรัชสมัยหนึ่งของอังกฤษเท่านั้น หากแต่เรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยหรือเป็นตำนานหนึ่งของโลก ดังที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวในแถลงการณ์ไว้อาลัยว่า “Her Majesty Queen Elizabeth II was more than a monarch. She defined an era.” หรือควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นยิ่งกว่ากษัตริย์ พระองค์ทรงกำหนดยุคสมัย”
บทความนี้จะชวนผู้อ่านย้อนกลับไปมองบทบาทของสมเด็จพระราชินีนาถที่ทรงมีต่อการเมืองการปกครองอังกฤษ ผ่านการทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของประเทศตามรัฐธรรมนูญ
“My whole life…shall be devoted to your service”
“I declare before you all that my whole life whether it be long or short shall be devoted to your service and the service of our great imperial family to which we all belong.”
“ข้าพเจ้าขอประกาศต่อท่านทั้งหลายว่า ข้าพเจ้าขออุทิศทั้งชีวิตของข้าพเจ้าในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อพวกท่าน และยึดมั่นในหน้าที่แห่งกษัตริย์ตลอดไป”
พระดำรัสอันเป็นดังคำปฏิญาณดังกล่าวของสมเด็จพระราชินีนาถเมื่อ 75 ปีก่อน ได้รับการพิสูจน์ในตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์ว่า พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อชาติมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระราชภารกิจสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งพระองค์ทรงโปรดฯ ให้ ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ เข้าเฝ้าฯ ก่อนจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ
จากภาพข่าวที่ปรากฏ แม้เหมือนว่าสมเด็จพระราชินีนาถจะยังทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง แต่หากสังเกตให้ดี พระองค์ทรงดูอิดโรยและต้องใช้ธารพระกร (ไม้เท้า) ในการเข้าเฝ้าฯ ดังกล่าว แต่พระองค์ก็จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปโดยเรียบร้อยและไม่ขาดช่วง เพราะหากสวรรคตก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเข้าเฝ้าฯ ย่อมส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างแน่นอน
ควีนและนายกรัฐมนตรี
แม้ปัจจุบันกษัตริย์อังกฤษจะไม่มีพระราชอำนาจในการปกครองประเทศด้วยพระองค์เองดังเช่นในอดีต แต่พระองค์ยังทรงมีบทบาทสำคัญตามรัฐธรรมนูญในฐานะประมุขของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบริหารประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลนั้นปฏิบัติหน้าที่ในนามของพระองค์
ด้วยพระราชภารกิจที่จะต้องให้นายกรัฐมนตรีแต่ละคนเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานเป็นประจำทุกสัปดาห์ ทำให้ทรงมีโอกาสใช้ช่วงเวลาดังกล่าวในการปรึกษาหารือ ให้กำลังใจ หรือตักเตือนนายกรัฐมนตรีในประเด็นต่างๆ จากมุมมองและประสบการณ์อันยาวนานของพระองค์ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีบางคนอาจไม่คุ้นเคยกับการแก้ไขปัญหาบางเรื่อง หรืออาจมีกรณีที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต สมเด็จพระราชินีนาถก็อาจทรงให้คำแนะนำในเรื่องนั้นๆ ได้
โดยเรื่องที่หารือระหว่างการเข้าเฝ้าฯ ของนายกรัฐมนตรีแต่ละคนนั้นถือเป็นความลับระหว่างพระองค์กับนายกรัฐมนตรี แม้ว่าในบางสมัยจะมีบางคนกล่าวถึงสิ่งที่ได้หารือกับพระองค์ แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เนื่องด้วยสถานะของสมเด็จพระราชินีนาถที่ต้องทรงวางพระองค์เป็นกลางทางการเมือง บทบาทของพระองค์จะทรงมีเพียงการให้คำแนะนำและความเห็นต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น เรื่องราวที่ได้หารือกันนั้นจึงไม่อาจเปิดเผยได้
ดังนั้นแล้วจุดเด่นของระบอบกษัตริย์อังกฤษที่หลายคนมักพูดถึงคือ สถาบันกษัตริย์เป็นมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับพัฒนาการทางการเมืองการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสมเด็จพระราชินีนาถที่ทรงมีโอกาสได้ร่วมงานกับนายกรัฐมนตรีถึง 15 คนตลอดช่วงรัชสมัย อันทำให้พระองค์ทรงมีประสบการณ์ที่ยาวนาน และอาจเรียกได้ว่าทรงรอบรู้ในกิจการบ้านเมืองทุกด้าน
อย่างไรก็ตาม กว่าที่สมเด็จพระราชินีนาถจะทรงมีความเชี่ยวชาญและทรงเป็นหลักในการปกครองของอังกฤษ พระองค์ก็ทรงต้องผ่านช่วงเวลาแห่งความเยาว์วัยและไร้ประสบการณ์ ด้วยพระองค์ไม่ได้รับการคาดหมายที่จะได้รับราชบัลลังก์ แต่ด้วยการสละราชสมบัติของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 พระราชปิตุลา ในปี 1936 ทำให้พระราชบิดาของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าจอร์จที่ 6 และมีผลให้พระองค์ต้องเป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษโดยมิได้คาดฝันมาก่อน
บทเรียนจากนายกรัฐมนตรีคนแรกแห่งรัชสมัย
เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถต้องทรงขึ้นครองราชย์บัลลังก์อังกฤษในปี 1952 ขณะมีพระชนมายุเพียง 25 พรรษา จึงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและท้าทายอย่างยิ่งสำหรับพระองค์ในการรับพระราชภาระในฐานะประมุขของชาติ และมีหลักฐานปรากฏว่า เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในรัชสมัยของพระองค์ ยังเคยปรารภกับคนใกล้ชิดของเขาเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถขึ้นครองราชย์ว่า เขาแทบจะไม่รู้จักพระองค์ และพระองค์ยังทรงเป็นเด็ก
เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ นั้นเป็นนักการเมืองคนสำคัญของอังกฤษในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยมีบทบาทเป็นผู้นำที่พาอังกฤษสู่ชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ทำให้เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในรัฐบุรุษคนสำคัญของอังกฤษและผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกในยุคนั้น
เชื่อกันว่าในระหว่างปี 1952-1955 หรือช่วง 3 ปีแรกแห่งรัชสมัยที่เชอร์ชิลล์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สมเด็จพระราชินีนาถได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงสถานะและบทบาทของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และยังทรงได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ทางการเมืองอันล้ำค่าและหาไม่ได้จากที่ใด ด้วยเชอร์ชิลล์นั้นมีชีวิตยืนยาวนานถึง 6 รัชสมัย ตั้งแต่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย, พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7, พระเจ้าจอร์จที่ 5, พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8, พระเจ้าจอร์จที่ 6 รวมถึงรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถ ทำให้พระองค์ทรงนำบทเรียนและความรู้ที่ได้ทรงเรียนรู้นั้นมาใช้ในการให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ หรือตักเตือนนายกรัฐมนตรีในการเข้าเฝ้าฯ ตลอดจนการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ จนสิ้นรัชสมัย
บันทึกส่วนพระองค์ที่ทรงมีต่อเชอร์ชิลล์ภายหลังเขาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาที่ระบุถึงความผูกพันที่ทั้งสองมีต่อกันว่า “ไม่อาจมีนายกรัฐมนตรีคนใดที่จะมาแทนที่นายกรัฐมนตรีคนแรกของข้าพเจ้า นายกรัฐมนตรีผู้ซึ่งข้าพเจ้าและสามีรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณอย่างมาก และเป็นผู้ที่ชี้แนะแนวทางอันชาญฉลาดในช่วงเริ่มต้นของรัชสมัย ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง”
“…no other Prime Minister would “ever for me be able to hold the place of my first prime minister, to whom both my husband and I owe so much and for whose wise guidance during the early years of my reign I shall always be so profoundly grateful.”
70 ปี กับ 15 นายกรัฐมนตรีแห่งรัชสมัย
นับจากเชอร์ชิลล์เป็นต้นมา สมเด็จพระราชินีนาถทรงได้ร่วมงานกับนายกรัฐมนตรีอีกถึง 14 คน ซึ่งมีเรื่องเล่าหลายเรื่องที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรีมาจากพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์การเมืองหรือแนวคิดแตกต่างกัน ซึ่งหลายครั้งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระราชินีนาถกับนายกรัฐมนตรีไม่ราบรื่นนัก เช่น ฮาโรลด์ วิลสัน นายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ของพระองค์ แต่เป็นคนแรกจากพรรคเลเบอร์ในปี 1964 ขณะที่นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าเขามาจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟและเป็นชนชั้นสูง ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าเขาซึ่งเป็นชนชั้นกลางมาก่อนและถูกมองว่ามีแนวคิดสังคมนิยม จะมีความสัมพันธ์ในการทำงานที่ราบรื่นกับสมเด็จพระราชินีนาถหรือไม่ แต่สุดท้ายแล้วทั้งสองคนก็สามารถทำงานร่วมกันได้ดี และเขายังได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่สนิทสนมและใกล้ชิดกับพระองค์อีกด้วย
โดยเฉพาะในระหว่างปี 1979-1990 ที่ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ด้วยความที่เธอมีช่วงอายุใกล้เคียงกับสมเด็จพระราชินีนาถ (เธออายุมากกว่าพระองค์ราว 6 เดือน) ทำให้ทั้งสองอยู่ร่วมยุคสมัยและผ่านพ้นช่วงเวลาต่างๆ มาพร้อมกัน ซึ่งเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางว่าแนวคิดในเรื่องต่างๆ ของทั้งคู่มักขัดแย้งกันเสมอ แต่สุดท้ายแล้วต่างฝ่ายต่างก็ชื่นชมในความเข้มแข็งและความสามารถของอีกฝ่าย โดยเมื่อเธอสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระราชินีนาถได้พระราชทานเหรียญตรา The Order of the Merit ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สูงที่สุดของอังกฤษ ให้เธอด้วย
ช่วงปี 1990-1997 จอห์น เมเยอร์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนที่ 9 ในรัชสมัย และเป็นคนแรกที่อายุน้อยกว่าสมเด็จพระราชินีนาถ โดยในทศวรรษที่ 1990 ถือเป็นช่วงเวลาที่ย่ำแย่สำหรับสมเด็จพระราชินีนาถ เนื่องจากปัญหาชีวิตสมรสที่มีปัญหาของเจ้าชายชาร์ลส์และเจ้าหญิงไดอานาที่นำไปสู่การหย่าร้าง และเรื่องอื้อฉาวในการสมรสของพระราชโอรสและพระราชธิดา ตลอดจนเหตุไฟไหม้ปราสาทวินด์เซอร์ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่พระราชวังเก่าแก่นับพันปีของอังกฤษ ถือเป็นวิกฤตที่ถาโถมสมเด็จพระราชินีนาถในโอกาสครบ 40 ปีแห่งการครองราชย์ ซึ่งเชื่อกันว่า จอห์น เมเยอร์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนพระองค์ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายนั้น
ส่วนนายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งระหว่างปี 1997-2007 เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่เกิดในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถในปี 1953 ซึ่งเขาเล่าว่า ในการเข้าเฝ้าฯ ครั้งแรก พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสกับเขาว่า เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของพระองค์ โดยที่นายกรัฐมนตรีคนแรกของพระองค์คือ วินสตัน เชอร์ชิลล์ ซึ่งนั่นเป็นเวลาก่อนที่ โทนี แบลร์ จะเกิดเสียอีก
“You are my 10th prime minister. The first was Winston. That was before you were born.”
ข้อความดังกล่าวแสดงถึงความยืนยาวของรัชสมัย โดย โทนี แบลร์ ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มีส่วนช่วยให้สถาบันกษัตริย์อังกฤษผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตที่ความนิยมตกต่ำอย่างยิ่ง จากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานาในปี 1997 ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแต่ละคนต่างมีบุคลิกลักษณะและแนวคิดในการดำเนินนโยบายหรือแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่พระองค์ทรงมีต่อนายกรัฐมนตรีทุกคนคือ ความเป็นกลางทางการเมืองและการปฏิบัติหน้าที่ประมุขของประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ทำให้พระองค์ทรงได้รับการยอมรับนับถือจากนายกรัฐมนตรีทุกคน ตลอดจนถึงนักการเมืองและประชาชนทั่วไป
ในบรรดานายกรัฐมนตรีทั้ง 15 คนในรัชสมัยของพระองค์นั้น นอกจากจะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงถึง 3 คนแรกของอังกฤษแล้ว ในเรื่องของอายุนั้น นายกรัฐมนตรี 9 คนแรกตั้งแต่ วินสตัน เชอร์ชิลล์ จนถึง จอห์น เมเยอร์ (1952-1997) ต่างเกิดก่อนรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถ ทำให้พวกเขานั้นถือเป็นบุคคลร่วมสมัยหรือใกล้กันกับพระองค์ ในขณะที่อีก 6 คนที่เหลือ ได้แก่ โทนี แบลร์, กอร์ดอน บราวน์, เดวิด คาเมรอน, เทเรซา เมย์, บอริส จอห์นสัน และ ลิซ ทรัสส์ (1997-2022) ล้วนแล้วแต่เกิดในรัชสมัยของพระองค์ และเป็นการดำรงตำแหน่งในยุคที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษปรับตัวสู่ความทันสมัยแล้วทั้งสิ้น
ควีน ในฐานะหมุดหมายแห่งยุคสมัย
ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงเวลา 70 ปีแห่งรัชสมัย ทำให้พระองค์ทรงผ่านพ้นและรู้เห็นถึงเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2, สงครามเย็น, วิกฤตอาวุธนิวเคลียร์, สงครามต่อต้านการก่อการร้าย, วิกฤตพลังงาน, ปัญหาสภาพแวดล้อม, การแพร่ระบาดของเชื้อโรคครั้งใหญ่ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตคลองสุเอซหรือสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ตลอดจนปัญหา Brexit ซึ่งเชื่อกันว่าส่งผลต่อมุมมอง และทำให้ทรงมีประสบการณ์ทางการเมืองและการบริหารประเทศมากยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากบทบาทในการให้คำแนะนำปรึกษาแก่นายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระองค์ยังทรงมีบทบาทสำคัญในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลก และการต้อนรับประมุขและผู้นำของประเทศและองค์กรต่างๆ ที่มาเยือนอังกฤษ ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมเกียรติภูมิและฐานะของอังกฤษในสังคมโลกด้วย
การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถจึงมิใช่เป็นเพียงความสูญเสียของชาวอังกฤษเท่านั้น หากแต่เป็นความสูญเสียของคนทั้งโลกต่อบุคคลที่ทรงคุณค่าและเป็นหมุดหมายที่สำคัญแห่งยุคสมัยในช่วง 70 ปีแห่งการครองราชย์ เมื่อมีการเอ่ยถึงคำว่าควีน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ทั่วโลกย่อมเข้าใจตรงกันว่าหมายถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และชั่วระยะเวลาเกือบ 100 ปีแห่งพระชนม์ชีพ อังกฤษและทุกประเทศทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายในทุกๆ ด้าน รวมถึงมุมมอง ความคิด และทัศนคติของผู้คน การสิ้นสุดรัชสมัยของพระองค์จึงเป็นเหมือนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่คำว่า ‘ควีน’ จะไม่ได้หมายถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อีกต่อไป
ภาพปก: เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงจับมือ วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ที่กิลด์ฮอลล์ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 1950 (Keystone-France / Gamma-Keystone via Getty Images)
อ้างอิง:
- Andrew Marr, ‘The Diamond Queen Elizabeth II and Her People’, Pan Books, 2012
- Joanna Lumley, “A Queen for All Seasons: A Celebration of Queen Elizabeth II on Her Platinum Jubilee”, London: Hodder & Stoughton, 2021.
- Philip Ziegler, ‘Churchill and the Monarchy’ in Robert Blake and Wm. Roger Louis (eds.), ‘Churchill’, Oxford University Press, 1993.
- Sarah Bradford, ‘Queen Elizabeth II : Her Life in Our Time’, Penguin Books, 2012.
- https://winstonchurchill.org/…/monarchical-no-1…/
- https://www.loc.gov/…/chu…/interactive/_html/wc0295.html
- http://news.bbc.co.uk/…/april/5/newsid_2822000/2822959.stm
- https://apnews.com/article/queen-elizabeth-ii-prime-ministers-9b1d631878dfcc594af1fe69cc838dca
- https://www.townandcountrymag.com/society/tradition/a29213646/prime-minister-harold-wilson-facts/
- https://www.tatler.com/gallery/a-history-of-the-queens-relationships-with-her-prime-ministers
- https://www.washingtonpost.com/world/interactive/2022/queen-prime-ministers/