กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ได้ถ่ายภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exoplanet) เป็นครั้งแรก โดยเป็นภาพดาวแก๊สขนาดยักษ์ HIP 65426 b ซึ่งมีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดี 6-12 เท่า และยังเป็นดาวที่มีอายุน้อยเพียง 15-20 ล้านปีเท่านั้น เทียบกับโลกของเราที่อยู่มากว่า 4.5 พันล้านปีแล้ว โดยดาวดวงนี้อยู่ห่างจากโลกออกไปถึง 385 ล้านปีแสงเลยทีเดียว
ดาวเคราะห์ดังกล่าวถูกค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2017 โดยกล้องโทรทรรศน์เวรีลาร์จเทเลสโคป (Very Large Telescope) ของหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป (ESO) ซึ่งอยู่ในประเทศชิลี โดยในช่วงเวลาดังกล่าว กล้องตัวนี้ได้บันทึกภาพของดาว HIP 65426 b ผ่านอินฟราเรดช่วงคลื่นสั้น แต่กล้องโทรทรรศน์เจมส์ เว็บบ์ สามารถถ่ายภาพของดาวดวงนี้ได้โดยใช้ช่วงคลื่นอินฟราเรดที่ยาวกว่า ซึ่งช่วยเผยให้เห็นถึงรายละเอียดใหม่ๆ
ดาวแก๊สยักษ์ HIP 65426 b อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ (Host Star) ค่อนข้างมาก จึงทำให้เจมส์ เว็บบ์ สามารถเก็บภาพดาวเคราะห์ดวงนี้แยกออกมาจากดาวฤกษ์ที่สว่างมากได้อย่างสบายๆ ขณะที่อุปกรณ์ Coronagraph ของตัวกล้องก็สามารถบล็อกแสงจากดาวฤกษ์ได้ ส่งผลให้เจมส์ เว็บบ์ สามารถเก็บภาพดวงดาวได้โดยตรง
ซาชา ฮินคลีย์ รองศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์และดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “นี่เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงแต่สำหรับเจมส์ เว็บบ์ แต่สำหรับวงการดาราศาสตร์ทั้งหมดด้วย”
ภาพ: NASA / ESA / CSA
อ้างอิง:
- https://www.theguardian.com/science/2022/sep/01/historic-james-webb-images-show-exoplanet-unprecedented-detail
- https://www.esa.int/ESA_Multimedia/Images/2022/08/Webb_takes_its_first_exoplanet_image
- https://edition.cnn.com/2022/09/01/world/webb-telescope-exoplanet-image-scn/index.html
- https://spaceth.co/james-webb-exoplanet-direct-imaging/