การตัดสินโทษจำคุก 12 ปี แก่ ‘นาจิบ ราซัค’ อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในคดีทุจริตอื้อฉาวมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ จากกองทุน 1MDB ของรัฐ กลายเป็นข่าวที่สร้างความตกตะลึงอย่างมาก สำหรับอดีตผู้นำ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ในจุดสูงสุดของแวดวงการเมืองระดับประเทศที่แทบจะไร้ผู้ต้านทาน
หลังพ่ายแพ้ในการยื่นอุทธรณ์รอบสุดท้าย นาจิบในวัย 69 ปีต้องเปลี่ยนสถานะจากอดีตผู้นำกลายเป็นนักโทษ และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำทันทีเมื่อวันอังคาร (23 สิงหาคม) ที่ผ่านมา
สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเหตุการณ์พลิกผันครั้งใหญ่ของชีวิต และเป็นบทเรียนสำคัญ สำหรับผู้นำที่ยึดติดในอำนาจอย่างนาจิบ
โดยก่อนจะรู้ตัวว่าต้องรับโทษและเริ่มชีวิตหลังกรงขัง เขาได้บรรยายความรู้สึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าเป็นแรงกดดันที่ถาโถมใส่เขา และรู้สึกว่าตัวเองนั้น ‘โดดเดี่ยว’ และ ‘ถูกทรยศ’
🇲🇾 ความโกรธแค้นของชาวมาเลเซีย 🇲🇾
- ที่ผ่านมานาจิบถูกกล่าวหาว่าพยายามกีดกัน และใช้อำนาจระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กดดันไม่ให้มีการสืบสวนคดีทุจริตที่เกี่ยวข้องกับ 1MDB โดยไล่เจ้าหน้าที่สืบสวนออก และปราบปรามผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ ถึงแม้ว่าคดีจะขยายวงกว้าง และเชื่อมโยงไปยังหลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ ที่เปิดการสอบสวนคดีอื้อฉาวนี้
- ชาวมาเลเซียโกรธแค้นอย่างมากต่อการทุจริตครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับกองทุน 1MDB ตลอดจนการฉายภาพความร่ำรวยมหาศาลของครอบครัวนาจิบ ทำให้สุดท้ายเขาถูกโหวตออก โดยพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งแก่อดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด เมื่อปี 2018
- เพียงไม่นานหลังจากนั้น นาจิบพยายามที่จะหนีออกจากมาเลเซีย แต่ถูกยับยั้งและถูกจับกุมตัว ขณะที่ทางการนำกำลังเจ้าหน้าที่บุกค้นหาหลักฐานการทุจริตในบ้านของเขา
- นับตั้งแต่นั้น นาจิบต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปกับการต่อสู้คดีในศาล และปกป้องตัวเองจากข้อกล่าวหารวมถึง 42 ข้อหา ซึ่งเขายืนกรานว่าตนเองนั้นบริสุทธิ์ และอ้างว่าถูกทำให้เข้าใจผิดโดยเจ้าหน้าที่ 1MDB
- ช่วง 1 วันก่อนที่ศาลรัฐบาลกลางจะมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ตัดสินโทษจำคุกแก่นาจิบ เขาได้โพสต์ข้อความใน Facebook ระบายความรู้สึกว่าถูกแรงกดดันถาโถมเข้าใส่ และรู้สึกเหมือนถูกทรยศและโดดเดี่ยว
- “มีหลายครั้งที่เรารู้สึกหนักใจกับการทดสอบและการไต่สวน การใส่ร้ายและการข่มเหง ความจริงใจที่ได้รับการตอบแทนด้วยการทรยศ บางครั้งเรารู้สึกว่า เราอยู่ตัวคนเดียว” เขากล่าว
🇲🇾 ความสิ้นหวังในการสู้คดี 🇲🇾
- การปฏิเสธคำขออุทธรณ์ครั้งสุดท้าย และการตัดสินโทษจำคุกแก่นาจิบเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เป็นผลจากคำพิพากษาโดยศาลชั้นต้น ในปี 2020 จากความผิดฐานกระทำผิดต่อหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐ (Breach of Trust) ตลอดจนใช้อำนาจในทางที่ผิด และฟอกเงิน
- โดยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า เขารับโอนเงินกว่า 10 ล้านดอลลาร์อย่างผิดกฎหมาย จากบริษัท เอสอาร์ซี อินเตอร์เนชั่นแนล (SRC International) ซึ่งเคยเป็นหน่วยงานหนึ่งของกองทุน 1MDB เข้าบัญชีส่วนตัว
- คดีความและข้อกล่าวหาหลายสิบกระทงถาโถมใส่เขา หลังจากที่พ่ายการเลือกตั้งในปี 2018 โดยอัยการมาเลเซียชี้ว่า มีการยักยอกเงินกว่า 4.5 พันล้านดอลลาร์จากกองทุน 1MDB ซึ่งร่วมก่อตั้งโดยนาจิบ ในฐานะนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2009
- จากการตรวจสอบของทางการพบว่า มีเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ถูกโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของนาจิบ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุว่านี่เป็นการสืบสวนคดี ‘โจราธิปไตย’ หรือการใช้อำนาจการปกครองเพื่อ ‘ฉ้อราษฎร์บังหลวง’ ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
- ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นาจิบพยายามชะลอศาลไม่ให้พิพากษาขั้นสุดท้าย โดยเปลี่ยนทนายความช่วงก่อนเริ่มอุทธรณ์ แต่กลยุทธ์ของเขา กลับกลายเป็นว่าศาลปฏิเสธที่จะให้เวลามากขึ้นสำหรับทนายความของเขาในการเตรียมตัว
- โดยเขาชี้แจงถึงการเปลี่ยนตัวทนายความในระหว่างการแถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่า “ผมไม่อายที่จะพูดว่า ผมสิ้นหวัง เช่นเดียวกับผู้ถูกฟ้องอื่นๆ ที่ตกอยู่ในสถานะแบบเดียวกับผม”
- ขณะที่นาจิบสามารถยื่นคำร้องเพื่อทบทวนคำตัดสินของศาลรัฐบาลกลางได้ แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะมีโอกาสน้อยและยากมากที่จะประสบผลสำเร็จ
- อย่างไรก็ตาม เขายังสามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้ และหากประสบความสำเร็จ อาจได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องรับโทษถึง 12 ปีเต็ม
- การพิพากษาโทษดังกล่าวหมายความว่า นาจิบจะต้องสูญเสียที่นั่งในสภา และไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ หรือเรียกง่ายๆ ว่าหมดอนาคตทางการเมืองไปโดยปริยาย
- นอกจากนี้ เขายังคงต้องเผชิญกับการไต่สวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับกองทุน 1MDB อีกหลายคดี
🇲🇾 ชีวิตอันหรูหรา 🇲🇾
- นาจิบ ซึ่งเป็นบุตรชายของ อับดุล ราซัค ฮุสเซน อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของมาเลเซีย ได้รับการปลุกปั้นให้พร้อมสำหรับการรับตำแหน่งระดับสูงในเวทีการเมือง หลังจากที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่ออายุเพียง 23 ปี
- เขาเป็นบุคคลอายุน้อยที่สุดที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภามาเลเซีย ก่อนจะเอาชนะในการเลือกตั้ง และกลายเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเมื่อปี 2009
- ในการทำหน้าที่ผู้นำประเทศ เขามีแนวนโยบายที่มุ่งเน้นการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศ ทั้งการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรี และยกเลิกกฎหมายความมั่นคงตั้งแต่ยุคอาณานิคม
- แต่ความแตกแยกระหว่างชนพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อยในมาเลเซีย ทำให้นาจิบต้องกลืนน้ำลาย ยุติคำมั่นในการเดินหน้านโยบายปฏิรูปประเทศ โดยชนพื้นเมืองชาวมุสลิมมาเลย์ที่ถือเป็นประชากรส่วนใหญ่กว่า 60% แสดงความไม่พอใจต่อการที่ต้องสูญเสียสิทธิพิเศษ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ได้รับมาอย่างยาวนาน
- สัญญาณแรกของคดี 1MDB ปรากฏขึ้นในปี 2015 ทำให้นาจิบต้องเดินหน้าปราบปรามและระงับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเด็ดขาด
- แต่การพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งให้แก่พรรคฝ่ายค้าน ที่นำโดย มหาเธร์ โมฮัมหมัด ในปี 2018 ทำให้ทางการมาเลเซียเปิดการสืบสวนคดี 1MDB อีกครั้ง ก่อนจะนำมาซึ่งการตั้งข้อหาแก่นาจิบ
- ช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังพ่ายเลือกตั้ง ทางการมาเลเซียยังได้บุกค้นบ้านและที่พักของครอบครัวของเขา พร้อมทั้งยึดทรัพย์สินได้มากมาย ทั้งกระเป๋าแบรนด์หรู เครื่องประดับ นาฬิกา และเงินสดจำนวนหลายล้านดอลลาร์
- ทั้งนี้ กระแสความนิยมสำหรับนาจิบ โดยเฉพาะในพรรคอัมโน (UMNO) ของเขา ซึ่งเริ่มกลับมามีบทบาทและอำนาจมากขึ้นในปีที่ผ่านมา ท่ามกลางภาวะความวุ่นวายทางการเมืองในมาเลเซีย
- ขณะที่นาจิบยังได้รับความนิยมไม่น้อยในโลกออนไลน์ การโพสต์ข้อความเหน็บแนมและวิจารณ์ฝ่ายค้านอย่างสนุกสนาน ทำให้มีผู้ติดตามเขามากกว่า 4 ล้านคน ถือเป็นนักการเมืองมาเลเซียที่ได้รับความนิยมในโซเชียลมีเดียมากที่สุด
ภาพ: Photo by Mohd Daud / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง: