×

อาคม คาด GDP ปีนี้โตถึง 3.5% ให้คำมั่นเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

24.08.2022
  • LOADING...
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

อาคม มองเศรษฐกิจไทยปีนี้โตถึง 3.5% ย้ำฐานะทางการคลังยังแข็งแกร่ง และมีพื้นที่เหลืออีกมาก หากจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม พร้อมระบุโควิดถือเป็นโอกาสในการเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูง และ BCG Model รวมทั้งให้คำมั่นว่า จะเร่งรัดการใช้จ่ายของรัฐบาลในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 เพื่อนำเม็ดเงินออกสู่เศรษฐกิจ

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘Thailand Economic Reopening and Enhancing Competitive Advantage’ ในงาน ‘Thailand Focus 2022’ ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันนี้ (24 สิงหาคม) ว่า เมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มหลุดพ้นจากการระบาดใหญ่ ก็มาเผชิญความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยเริ่มกลับเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนแล้ว หลังจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว และการบริโภคในประเทศเริ่มฟื้นตัว ทำให้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ขยายตัว โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทั้งปี 2565 น่าจะสูงถึง 3.5% พร้อมทั้งยืนยันว่า ฐานะทางการคลังของรัฐบาลยังคงแข็งแกร่ง เนื่องจากอัตราหนี้สาธารณะต่อ GDP แม้จะเพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำกว่าเพดานที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังมีพื้นที่เหลืออีกมาก หากต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

 

อาคมระบุอีกว่า กระทรวงการคลังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด ผ่านการออก พ.ร.บ.เงินกู้ฉุกเฉิน ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งหมด 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ โดยมีการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงวัคซีน และกระตุ้นอำนาจการซื้อของประชาชน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังย้ำว่า รัฐบาลตระหนักรู้ว่าบุคคลรายได้ต่ำได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัญหาค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลใช้มาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างตรงจุด รวมไปถึงการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิง การตรึงราคาน้ำมันดีเซล การลดภาษีสรรพามิต การลดภาษีมูลค่าเพิ่มน้ำมันดีเซล รวมถึงโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

 

มุมมองต่ออนาคตไทย หลังผ่านพ้นยุคโควิด

อาคมระบุว่า การระบาดใหญ่ให้โอกาสประเทศไทยในการปรับปรุงโมเดลการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยจะไม่ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียว และละเลยปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม (Social Disparity) หรือปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่จะให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูง (Hign Value Added) อย่างสมดุล ครอบคลุม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

พร้อมทั้งระบุว่า BCG Model ซึ่งประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) กำลังกลายเป็นวาระหลักของชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ของรัฐบาล

 

อาคมกล่าวอีกว่า มี 4 ประเด็นที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญ ได้แก่ 

 

  1. การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่แค่โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการลงทุนในทุนมนุษย์ เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรม 
  2. การเร่งกระบวนการพัฒนาพื้นที่ EEC เพื่อสร้างการเติบโตใหม่ 
  3. การสร้างการเติบโตสีเขียวในทุกภาคส่วน เช่น เกษตรการ การผลิต และภาคบริการ 
  4. การระดมทรัพยากรทางการเงิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะสนับสนุนการเติบโตใหม่ 

 

ปัจจัยดึงดูดนักลงทุนครึ่งปีหลัง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังมองว่า การดึงดูดนักลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะมาจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ 

 

  1. ภาคท่องเที่ยว โดยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีนี้น่าจะอยู่ที่ 8-10 ล้านคน 

 

  1. อุปสงค์จากต่างประเทศ โดยจะเห็นได้ว่าในปีก่อน ภาคการส่งออกไทยเติบโตที่ราว 20% ส่วนช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ราว 12% ท่ามกลางการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับช่วง 2 ปีก่อน ซึ่งนับเป็นผลดีต่อการส่งออก นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจของโลกยังไม่แน่นอน การส่งออกสินค้าและอาหารจึงเป็นโอกาสของไทย 

 

  1. การใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งภาครัฐได้มีการสนับสนุนแล้วผ่านโครงการคนละครึ่งเฟส 5 และมาตรการอุดหนุนพลังงาน เป็นต้น 

 

  1. การลงทุน พร้อมระบุว่ารัฐบาลจะเร่งรัดการเบิกจ่ายในไตรมาสสุดท้าย เพื่อสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ

 

เร่งการใช้จ่ายภาครัฐนำเม็ดเงินออกสู่ระบบเศรษฐกิจ

ขณะที่งบประมาณประจำปี 2566 ซึ่งสภาผู้แทนราษฏรได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และจะส่งไปที่วุฒิสภาในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ ก่อนจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2565 อาคมกล่าวว่า ปกติแล้วการใช้จ่ายของภาครัฐจะกระจุกตัวอยู่ในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ โดยในไตรมาสแรกมักใช้ไม่ถึง 1 ใน 4 เนื่องจากส่วนราชการต้องใช้เวลาในการเตรียมตัว แต่ในปีงบประมาณนี้ รัฐบาลคาดหวังว่าจะสามารถเร่งรัดการใช้จ่ายได้มากขึ้น เพื่อนำเม็ดเงินออกสู่เศรษฐกิจ

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X