วานนี้ (20 สิงหาคม) สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ภาพถ่ายจากห้วงอวกาศชี้ให้เห็นว่า แม่น้ำสำคัญหลายสายกำลังประสบกับปัญหาภัยแล้ง ระดับน้ำลดลงเป็นประวัติการณ์ จากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงและแปรปรวนมากยิ่งขึ้น
โดยนักวิทยาศาสตร์เผยว่า กิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะโลกรวนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกนั้น เป็นหนึ่งในตัวเร่งสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ต่างๆ มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เกิดบ่อยครั้งและยาวนานมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำและสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำ แต่ยังส่งผลเป็นห่วงโซ่กลับมายังมนุษย์ที่พึ่งพาอาศัยแม่น้ำเหล่านี้ในการดำรงชีวิตอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ดื่มกิน การชลประทานและการเกษตร รวมถึงการขนส่งและใช้เป็นแหล่งพลังงานได้อีกด้วย
แม่น้ำโคโลราโดที่ไหลผ่านหลายรัฐทางภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในแม่น้ำที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตภัยและครั้งรุนแรงเป็นประวัติการณ์ ระดับน้ำในอ่างกักเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดอันดับต้นๆ ของประเทศอย่าง Lake Mead ลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทางการต้องวางแผนและเร่งจัดสรรวิธีการใช้น้ำอย่างรอบคอบอีกครั้ง
ขณะที่แม่น้ำแยงซี แม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชีย และยาวเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากแม่น้ำไนล์และแม่น้ำแอมะซอน ก็กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตภัยแล้งอย่างหนัก คลื่นความร้อนยังคงแผ่ปกคลุมหลายพื้นที่ของประเทศจีน ระดับน้ำที่ลดต่ำลงอย่างมาก ทำให้ทางการจีนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านภัยแล้งระดับชาติเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี และเผชิญหน้ากับคลื่นความร้อนที่ยาวนานที่สุดในรอบ 60 ปี
นอกจากนี้ แม่น้ำไรน์ในเยอรมนี แม่น้ำโปในอิตาลี แม่น้ำลัวร์ในฝรั่งเศส และแม่น้ำดานูบที่ไหลผ่านยุโรปตะวันตก ต่างก็เผชิญหน้ากับปัญหาเดียวกันนี้เช่นกัน นอกจากในมิติของแม่น้ำจะแห้งขอดแล้ว หลายพื้นที่ประสบปัญหาไฟป่าถาโถมอย่างหนัก ในขณะที่อีกหลายพื้นที่พายุฝนโหมกระหน่ำ น้ำท่วมสูงฉับพลัน สะท้อนสัญญาณเตือนของภาวะโลกรวนได้เป็นอย่างดี อาจถึงเวลาที่ประชาคมโลกต้องหันหน้าเข้ามาร่วมกันแก้ไขและรับมือวิกฤตนี้อย่างจริงจังเสียที
ภาพ: George Rose / Getty Images
อ้างอิง: