รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยืนยันว่า การให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ‘ไม่มีผลต่อฐานะการคลัง’ เนื่องจากไม่ได้ใช้เงินงบประมาณ และกองทุนน้ำมันจะเป็นผู้ใช้คืนเงินเอง สำหรับผลกระทบต่อหนี้สาธารณะไม่มาก เนื่องจากกองทุนน้ำมันไม่จำเป็นต้องกู้ถึง 1.5 แสนล้านบาท พร้อมแนะขอให้เลือกการกู้เป็นทางเลือกสุดท้าย
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า ประเด็นดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาในรายละเอียด พร้อมอธิบายว่า สาเหตุที่กระทรวงการคลังต้องค้ำประกัน เนื่องจากกองทุนน้ำมันกำลังประสบปัญหาระหว่างการเข้าไปเจรจาขอกู้กับธนาคารต่างๆ โดยธนาคารมองว่ายังมีความเสี่ยงในเรื่องของราคาน้ำมันและการชำระหนี้ ดังนั้นหากกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำให้ ธนาคารก็จะสบายใจมากขึ้น
สำหรับประเด็นเรื่องผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ อาคมระบุว่า ไม่ว่ากระทรวงการคลังจะค้ำหรือไม่ การกู้เงินส่วนนี้ก็จะเป็นหนี้สาธารณะอยู่ดี เนื่องจากหน่วยงานภายใต้การกำกับของรัฐเป็นคนกู้ พร้อมแนะว่า ภายใต้วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ก็ไม่ได้หมายความว่ากองทุนน้ำมันจะต้องกู้ทั้งหมด และย้ำว่าการกู้เงินต้องเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากการกู้นั้นมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก็คือดอกเบี้ย โดยในกรณีที่กองทุนน้ำมันกู้ยืมเต็มวงเงินก็ต้องชำระหนี้ให้เสร็จภายใน 7 ปีตามข้อเสนอ
ในส่วนประเด็นเรื่องความจำเป็นในการกู้เงิน อาคมมองว่าต้องดูการบริหารเงินของกองทุนน้ำมันก่อน โดยต้องบริหารตามสถานการณ์ราคาน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุดหนุน การลดการอุดหนุน และการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ส่วนการกู้เงินที่ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะสถานการณ์น้ำมันยังไม่แน่นอน และอยู่ที่กองทุนน้ำมันว่าจะกู้เท่าไรหรือเมื่อไร ตามสถานการณ์ราคาน้ำมัน และสถานะของกองทุนน้ำมันมีเสถียรภาพแค่ไหน รวมถึงคาดการณ์ราคาน้ำมันจะขึ้นหรือลงด้วย
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP