×

ทำไม ‘แอฟริกา’ กลายเป็นกระดานแข่งขันแผ่อิทธิพลเกมใหม่ของสหรัฐฯ-รัสเซีย

08.08.2022
  • LOADING...
แอฟริกา

วานนี้ (7 สิงหาคม) แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดฉากการเดินทางเยือนทวีปแอฟริกา โดยเริ่มต้นที่แอฟริกาใต้ ตามด้วยดีอาร์คองโก และรวันดา เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้ รวมถึงช่วงชิงพื้นที่เชิงอำนาจและแข่งขันแผ่อิทธิพลกับมหาอำนาจประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะรัสเซีย

 

การเดินทางเยือนครั้งนี้มีขึ้นหลังจาก เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เดินทางเยือน 4 ประเทศในแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ ยูกันดา เอธิโอเปีย และดีอาร์คองโก เพื่อหาเสียงสนับสนุนรัสเซียในเวทีโลก โดยเฉพาะจากกรณีที่กองทัพรัสเซียรุกรานประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครน ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งทางการสหรัฐฯ มองว่า การเดินทางเยือนแอฟริกาในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยต้านความพยายามที่จะกัดกร่อนประชาธิปไตยในทวีปนี้ของรัสเซีย

 

ครั้งนี้ถือเป็นการเดินทางเยือนแอฟริกาอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 ของบลิงเคน นับตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งการเดินทางเยือนครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 เพื่อจัดระบบระเบียบและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-แอฟริกาใต้ใหม่อีกครั้ง 

 

หลังจากที่ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เป็นพันธมิตรที่เต็มไปด้วย ‘ความไม่แน่นอน’ (Unreliable Partner) ภายใต้การบริหารประเทศของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงเวลานั้น อันเป็นผลมาจากการถอนตัวจากความตกลงปารีสและกองทุนด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศอื่นๆ 

 

นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 2 ของแอฟริกาใต้ ในปี 2021 ที่ผ่านมา จึงมีความพยายามที่จะรักษาผลประโยชน์ที่เคยเกิดขึ้นเอาไว้ และพยายามกระชับความสัมพันธ์กับแอฟริกาใต้มากยิ่งขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันแผ่ขยายอิทธิพลของบรรดาเหล่ามหาอำนาจในประชาคมโลกเหนือประเทศต่างๆ ในทวีปนี้ 

 

การตัดสินใจเดินทางเยือนแอฟริกาใต้ของผู้แทนระดับสูงสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นว่า ทางการสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับทวีปนี้ไม่น้อย และมีการพิจารณาประเทศที่จะเดินทางเยือนอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน โดย ดักลาส เยตส์ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองแอฟริกาประจำ American Graduate School ในฝรั่งเศส ระบุว่า นอกจากแอฟริกาใต้แล้ว แม้ดีอาร์คองโกและรวันดาจะไม่ใช่ต้นแบบประเทศที่ประชาธิปไตยเบ่งบานมากมายนัก แต่สองประเทศนี้มีกำลังทหารที่สหรัฐฯ มองว่าจะสามารถช่วยต้านทานการแผ่ขยายอิทธิพลของรัสซียในทวีปนี้ได้ การเดินทางเยือนครั้งนี้จึงเป็นไปเพื่อพยายามสร้างหลักประกันว่าประเทศเหล่านี้จะสนับสนุนจุดยืนของสหรัฐฯ 

 

ด้าน วิลเลียม กูเมเด ผู้อำนวยการองค์กร Democracy Works ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศอย่าง AP ว่า สหรัฐฯ รัสเซีย หรือแม้แต่ฝรั่งเศสเอง กำลังแผ่ขยายอิทธิพลในทวีปแอฟริกาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดบรรยากาศของ ‘สงครามเย็นครั้งใหม่’ โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ขึ้นได้ภายในทวีปนี้

 

อีกทั้งที่ผ่านมาแอฟริกาใต้และประเทศในทวีปแอฟริกาอื่นๆ อีก 16 ประเทศ ต่างงดออกเสียงในการลงมติประณามรัสเซียของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ภายหลังเปิดฉากทำสงครามรุกรานยูเครน ขณะที่ดีอาร์คองโกและรวันดาเป็น 2 ใน 141 ประเทศที่ต่างลงมติสนับสนุนมติดังกล่าว 

 

เหตุผลส่วนหนึ่งที่หลายประเทศในแอฟริกาตัดสินใจไม่ลงมติประณามรัสเซีย อาจสืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ของหลายประเทศในทวีปนี้กับอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งคอยสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชหลายครั้งในแอฟริกา ทั้งในมิติทางการทูต มิติทางการเงิน และมิติทางการทหาร เพื่อต่อต้านเจ้านายอาณานิคมยุโรปเดิมของตน

 

ผู้นำในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะประธานาธิบดี ไซริล รามาโปซา ของแอฟริกาใต้ ยังคงสงวนท่าทีในการประณามรัสเซียมาโดยตลอด การจะทำให้รัฐบาลแอฟริกาใต้ ออกแถลงการณ์ประณามรัสเซีย จึงดูเหมือนเป็นเป้าหมายสำคัญและตัวชี้วัดความสำเร็จในการเดินทางเยือนแอฟริกาครั้งนี้ของบลิงเคน

 

โดย ดักลาส เยตส์ ยังอธิบายอีกว่า ถ้าหากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับแอฟริกาใต้ รวมถึงดีอาร์คองโกและรวันดา มีเสถียรภาพและมั่นคงมากพอ จะมีส่วนช่วยสร้างหลักประกันในการควบคุมการแผ่ขยายอิทธิพลของรัสเซียได้ และกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลไปยังประเทศทางตอนใต้ของเส้นศูนย์สูตรอื่นๆ อย่างมาดากัสการ์และโมซักบิก

 

ธีโอดอร์ เมอร์ฟี ผู้อำนวยการโครงการแอฟริกาของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งยุโรป มองว่า การขอให้ประเทศต่างๆ ในแอฟริกาเลือกข้างยูเครนตามแนวทางและจุดยืนของสหรัฐฯ นั้น ขณะเดียวกันก็ดูเหมือนจะเป็นข้อผิดพลาดในเชิงยุทธศาสตร์ได้เช่นกัน ซึ่งเขามองว่า แนวทางนี้เปิดโอกาสให้รัสเซียนำแนวคิดต่อต้านอาณานิคมกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงอาจนำไปสู่การสนับสนุนทางการทหารอย่างไม่เป็นทางการ และมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แนบแน่นมากยิ่งขึ้นกับหลายประเทศในแอฟริกา

 

โดยรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียระบุว่า ที่ผ่านมารัสเซียไม่ได้กำหนดหรือบอกว่าคนอื่นต้องใช้ชีวิตอย่างไร เราปฏิบัติกับพวกเขาด้วยความเคารพอย่างยิ่งต่ออำนาจอธิปไตยและสิทธิที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ของรัฐแอฟริกาทั้งหลาย ในการกำหนดเส้นทางชะตาชีวิตของพวกเขาเอง

 

ความท้าทายที่สุดของบลิงเคนในการเดินทางเยือนแอฟริกาครั้งนี้คือ หลายประเทศยังคงสงวนท่าที พยายามรักษาความเป็นกลาง และดูเหมือนไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสมรภูมิสงครามเย็นระลอกใหม่ของสหรัฐฯ-รัสเซียครั้งนี้ ท้ายที่สุดบลิงเคนจะทำให้ผู้นำแอฟริกาใต้แสดงจุดยืนประณามรัสเซียได้หรือไม่ เกมการเมืองระหว่างมหาอำนาจและผลของการแผ่ขยายอิทธิพลในทวีปนี้จะเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตาม

 

ภาพ: Russian Foreign Ministry / Handout / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X