วานนี้ (3 สิงหาคม) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การเจรจากรอบข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการอาวุธนิวเคลียร์อิหร่าน ระหว่างอิหร่านและสหรัฐอเมริกา จะกลับมาจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสเตรียอีกครั้ง โดยมีผู้แทนจากสหภาพยุโรป (EU) เป็นตัวกลางในการเจรจา
นับเป็นความพยายามในการฟื้นฟูแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA) ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยมีผู้แทนจากอิหร่านและผู้แทนจากประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้ง 5 ประเทศ รวมถึงเยอรมนีและ EU เข้าร่วม ซึ่งเคยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2015 ก่อนที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ จะประกาศถอนตัวจากเวทีการเจรจานี้เมื่อปี 2018 และดำเนินนโยบายกดดันอิหร่านอย่างหนัก
โดยมีความพยายามอย่างมากในการผลักดันให้เกิดเวทีการเจรจานี้ขึ้นอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าการเจรจาจะเริ่มขึ้นในวันนี้ (4 สิงหาคม) การเจรจาระหว่างผู้แทนนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เผยว่า ประชาคมโลกเข้าใกล้จุดที่จะโจมตีใส่กันด้วยอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้นไปทุกขณะ แม้ทุกคนจะมีบทเรียนและประวัติศาสตร์บาดแผลจากช่วงสงครามโลกมาแล้วก็ตาม
ทางการอิหร่านได้ถอดกล้องตรวจสอบที่ติดตั้งโดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ออกไปเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งทางด้าน ราฟาเอล มาริอาโน กรอสซี ผู้อำนวยการ IAEA ชี้ว่า คำพูดดีๆ เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้คณะผู้ตรวจสอบพึงพอใจได้ แต่อิหร่านยังจำเป็นต้องโปร่งใสและพร้อมใจที่จะปฏิบัติตาม รวมถึงให้ความร่วมมือกับ IAEA ด้วยเช่นกัน
ภาพ: Aritra Deb / Shutterstock
อ้างอิง: