ยังเป็นเรื่องที่ร้อนระอุสำหรับการควบรวมกิจการของ TRUE-DTAC ซึ่งล่าสุดได้ร่อนจดหมายชี้แจง หลังมีการลงข่าวใน บางกอกโพสต์ เรื่อง ‘AIS presses NBTC on mega merger’ ที่มีเนื้อหาระบุว่า การควบรวมอาจขัดต่อกฎหมาย และจำเป็นต้องมีการขออนุญาตจากสำนักงาน กสทช.
ฝั่ง TRUE-DTAC ได้ออกโต้แย้งใน 4 ประเด็นหลักดังนี้
- การรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมในไทยเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่มีประกาศ กสทช. ปี 2561 ก็เกิดขึ้นมาแล้ว 9 ครั้ง ซึ่ง กสทช. มีมติรับทราบการรายงานการรวมธุรกิจในทุกกรณีที่ผ่านมาเท่านั้น และไม่เคยมีการพิจารณาอนุมัติหรือปฏิเสธ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ควบรวม TRUE-DTAC และ AIS-3BB ผูกขาด ค่าบริการพุ่ง?
- TRUE-DTAC หวัง ‘กสทช.’ เร่งออกเงื่อนไขควบรวมก่อนกระทบกรอบเวลา ย้ำการควบรวม ‘ไม่ขัดกฎหมาย’
“เชื่อว่า กสทช. จะมีความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติเป็นการเฉพาะกับกรณีการพิจารณารวมธุรกิจของ TRUE-DTAC ในครั้งนี้”
- การอ้างถึงกฎระเบียบในอุตสาหกรรมอื่น (ทั้งอุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมการเงินธนาคาร) และนำมาใช้กดดันการดำเนินงานในต่างอุตสาหกรรมนั้น จะทำให้เกิดความสับสนและไม่ถูกต้อง
เพราะแต่ละอุตสาหกรรมมีหน่วยงานกำกับดูแลการควบรวม และกฎระเบียบที่แตกต่างกัน โดย TRUE-DTAC ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการรวมธุรกิจในครั้งนี้อย่างครบถ้วนในทุกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการกำกับดูแลโดย กสทช. และ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด
- การอ้างถึงกรณี AIS เข้าซื้อกิจการ 3BB (Acquisition) เป็นกรณีที่แตกต่างกับการควบรวมระหว่าง TRUE-DTAC (Amalgamation) อย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะกฎหมายและระเบียบของ กสทช. ได้เขียนไว้ในประกาศต่างฉบับกัน กล่าวคือ
- ประกาศ กสทช. ปี 2549 มีการระบุถึง กรณีผู้รับใบอนุญาตเข้าซื้อหุ้นและทรัพย์สินของผู้รับใบอนุญาตอีกราย จำเป็นต้องขออนุญาตจาก กสทช.
- ส่วนการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE-DTAC นั้นเป็นการควบบริษัท (Amalgamation) จึงต้องพิจารณาตามประกาศ กสทช. ปี 2561 เรื่องการควบรวม ซึ่งได้ออกมายกเลิกประกาศ กสทช. ตั้งแต่ปี 2553 แล้ว
- ทั้ง TRUE-DTAC ได้ขอยืนยันว่า การควบรวมในครั้งนี้ได้มีการศึกษาทุกกฎระเบียบของไทยอย่างรอบคอบ และดำเนินการตามกฎหมายของไทยอย่างถูกต้องทุกขั้นตอน
- บริษัท ลิ้งค์เลเทอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษากฎหมายของ TRUE และ บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษาของ DTAC ได้ให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการรวมธุรกิจในครั้งนี้ว่า
เมื่อพิจารณาจากแนวปฏิบัติของ กสทช. ในการพิจารณาการควบรวมกิจการหรือการรวมธุรกิจที่ผ่านมา ก็มีมติเพียง ‘รับทราบ’ การแจ้งการรวมธุรกิจเหล่านั้นเท่านั้น โดยมิได้ออกคำสั่ง ‘อนุญาต’ และมิได้อาศัยอำนาจตามประกาศเรื่องมาตรการป้องกันการผูกขาดฯ ปี 2549 มาประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด
“ถึงแม้ กสทช. จะไม่มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่ กสทช. มีอำนาจในการกำกับดูแลตามข้อ 12 แห่งประกาศเรื่องการรวมธุรกิจฯ ปี 2561 ในการกำหนดเงื่อนไข หรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้”