ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีโครงการวิจัยมากมายที่ค้นพบวิธีการกำจัดพลาสติกจากทะเลสาบและมหาสมุทร ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ฉลาม ปลากินพลาสติก หรือแม้แต่วิธีการเบสิกอย่างการพยายามใช้พลาสติกให้น้อยลง แต่ดูเหมือนว่าธรรมชาติจะทนมนุษย์ไม่ไหว และกำลังหาทางออกที่ดีแก่เรา
ผลการศึกษาใหม่ล่าสุดจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ‘Nature Communications’ เผยว่า แบคทีเรียที่พบในทะเลสาบ 29 แห่งของสแกนดิเนเวีย สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพด้วยการกินซากพลาสติกในทะเลสาบเป็นอาหาร
งานวิจัยนี้นำโดย Andrew Tanentzap ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาการเปลี่ยนแปลงระดับโลก ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทำการศึกษาการเจริญเติบโตของแบคทีเรียกับขยะพลาสติกในทะเลสาบหลายแห่งแถบสแกนดิเนเวีย โดยผลการศึกษาพบว่า มีแบคทีเรียหลายชนิดในทะเลสาบเกิดการปรับนิสัยการกินอาหารแบบใหม่ โดยสามารถย่อยพลาสติก และชื่นชอบพวกซากพลาสติกเหล่านั้นมากกว่าซากพืชซากสัตว์เสียอีก
และเพื่อยืนยันการค้นพบ นักวิทยาศาสตร์ได้แช่ถุงพลาสติกในน้ำจนเริ่มเปื่อย และนำแบคทีเรียลงไปในน้ำ ในเวลา 72 ชั่วโมง จำนวนแบคทีเรียเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าจากเดิม ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าแบคทีเรียสามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยมีพลาสติกเป็นอาหาร
ขยะพลาสติกไม่ได้ส่งผลกระทบอยู่ในมหาสมุทรเท่านั้น แต่แหล่งน้ำจืดก็ยังได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติกเช่นกัน หลายแหล่งน้ำแม้ไม่มีซากพลาสติกให้เห็น แต่กลับมีไมโครพลาสติกปนเปื้อน
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบว่า แบคทีเรียไม่เพียงแต่ทำลายพลาสติกได้เท่านั้น แต่ยังมีสารประกอบคาร์บอนธรรมชาติอื่นๆ ในทะเลสาบอีกด้วย คำถามมีอยู่ว่า แม้มนุษย์เรามีแบคทีเรียและหนอนที่ย่อยพลาสติกได้เองตามธรรมชาติ แต่มันเพียงพอจริงหรือกับปัญหาพลาสติกล้นโลกในปัจจุบัน
ภาพ: Shutterstock
อ้างอิง: