×

Carbon Credit คืออะไร สำคัญอย่างไรกับ SMEs

27.07.2022
  • LOADING...

ธุรกิจ SMEs จะมีส่วนในการลดวิกฤต Climate Change ได้อย่างไร และเพราะอะไรหน่วยงานต่างๆ จึงผลักดันนโยบายไปสู่ Net Zero ด้วยการปักธงลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม

 

THE SME HANDBOOK by UOB เอพิโสดนี้ ชวนทำความเข้าใจ Carbon Credit ในมุมที่เกี่ยวข้องกับโอกาสและความท้าทายของธุรกิจ ผ่านดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Quantum Technology Foundation Thailand (QTFT) และดร.พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กลายเป็นตัวร้ายของวิกฤตโลกร้อนได้อย่างไร

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ใช่ตัวร้าย แต่มนุษย์ต่างหากที่ทำให้สมดุลของมันสูญเสีย เชื่อหรือไม่ว่าเมื่อก่อน ก๊าซเรือนกระจกนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตด้วยซ้ำ เพราะหากมีอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม มันจะทำให้อุณหภูมิของชั้นบรรยากาศโลกอุ่นกว่าดาวดวงอื่นๆ ถ้าไม่มีพวกมัน ตอนนี้เราอาจจะหนาวตายกันไปแล้วก็ได้

 

ถ้ามองย้อนกลับไปสัก 1 ล้านปีก่อน ตอนนั้นทุกอย่างยังอยู่ในสมดุลของมัน ก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนไดออกไซด์ยังมีปริมาณที่เหมาะสม โลกเราก็มีอุณหภูมิที่เหมาะสม พืชสามารถดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตแล้วก็ปล่อยออกซิเจนออกมาให้สิ่งมีชีวิตบนโลกได้หายใจ แต่พอต้นไม้เหล่านั้นตายแล้วทับถมกันไปเรื่อยๆ พลังงานหรือคาร์บอนบางส่วนจึงถูกเก็บสะสมอยู่ในซากพืชซากสัตว์เหล่านั้น

 

อีก 1 ล้านปีต่อมา มนุษย์ก็มาค้นพบว่าซากพืชซากสัตว์ที่กลายเป็นฟอสซิลนั้นมีพลังงานสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำการเผาเพื่อเอาพลังงานมาใช้ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้สมดุลของคาร์บอนเปลี่ยนแปลงไป เพราะเราเอาคาร์บอนที่เก็บสะสมอยู่ประมาณล้านปีที่แล้วกลับเข้าสู่บรรยากาศอีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้จึงกลายเป็นว่าคาร์บอนมันเยอะเกินไปแล้ว โลกเริ่มร้อน สมดุลต่างๆ เริ่มเปลี่ยนไป และกลายเป็นที่มาของ Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

 

จนกระทั่งประมาณช่วงปี 1990 นักวิทยาศาสตร์เริ่มลงความเห็นร่วมกันว่าก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเห็นได้ชัดตั้งแต่หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา เขาจึงรวมตัวกันเพื่อยื่นเรื่องไปที่องค์การสหประชาชาติ และตั้งหน่วยงาน United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) ขึ้นมาในปี 1992 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็เริ่มมีการคำนวณว่าในทุกๆ ปีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร แต่ด้วยเครื่องมือที่ยังไม่ได้ทันสมัยมาก ผลการประเมินจึงยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไรนัก

 

จนมาถึงปี 1997 ก็เกิดข้อผูกพันทางกฎหมายชื่อว่า Kyoto Protocol หรือพิธีสารเกียวโต เพื่ออธิบายถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขวิกฤตของสภาพภูมิอากาศที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยบอกว่าสื่อของก๊าซเรือนกระจกที่เขาต้องการจะลดมี 7 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์, มีเทน,ไนตรัสออกไซด์, ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน, ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์

 

หลังจากนั้นก็มีการประชุมในวาระนี้มาเรื่อยๆ จนในปี 2015 ที่หลายประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าควรแก้ปัญหานี้โดยเร็ว และเกิดเป็น Paris Agreement ความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่บอกว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นทุกประเทศที่เข้าร่วมต้องมารวมตัวกันแล้วบอกว่าตัวเองจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ เท่าไรตามความสามารถที่ทำได้ อย่างประเทศไทยเองก็ประกาศไว้ว่าเราจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ภายในปี 2030 

 

ไม่ใช่หน้าที่ของประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

สำหรับ SMEs ที่อาจยังไม่เคยตระหนักถึงเรื่องนี้ ต้องเริ่มต้นเปลี่ยนอย่างไร

ถ้ามองในภาพใหญ่ก็ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะธรรมชาติของธุรกิจ เป้าหมายสูงสุดคือการทำกำไรอยู่แล้ว เราไม่เคยต้องมานั่งกังวลว่าโลกจะเดือดร้อนมากน้อยแค่ไหน และความท้าทายที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็นักธุรกิจก็ต้องแข่งขันกันด้วย การที่เราจะมาบริหารจัดการคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณหรือการลดปริมาณก็ดี ทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจแน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นคนดีที่นำเงินไปลงทุนกับตรงนี้มากกว่าคนอื่น สุดท้ายอาจจะโดนคนที่ดีน้อยกว่ามาโค่นเราอีกทีก็ได้

 

แต่ถ้ามองในแง่ของการแข่งขัน อันดับแรกเลยที่ภาคธุรกิจต้องเตรียมความพร้อมคือการตรวจวัดปริมาณคาร์บอนในกระบวนการผลิตก่อน แล้วมาศึกษาต่อว่าจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง อันไหนเหมาะกับภาคธุรกิจตัวเองที่สุด หรืออันไหนที่ยังไม่ใช่ Priority ของภาคธุรกิจนั้นๆ 

 

อันดับแรกเลยคือต้องรู้ก่อนว่ากระบวนการต่างๆ ในภาคธุรกิจปล่อยก๊าซเรือนกระจก มากน้อยแค่ไหน โดยวัดจาก Carbon Footprint สำหรับองค์กร เช่น ไลน์ผลิต A ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ ไลน์ผลิต B ไม่เท่าไร ไลน์ขนส่งก็ไม่มาก พอรู้แล้วก็ต้องเริ่มกำหนดเป้าหมายเลยว่าจะต้องมีการทำอะไรสักอย่างกับไลน์ผลิต A ลองวางแผนร่วมกันเพื่อดูว่าตอนนี้มันมีเทคโนโลยีหรือมีข้อกำหนดในเชิงนโยบายอะไรบ้างที่จะมาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไลน์ผลิตนั้นๆ ได้ เช่น การลดการใช้พลังงาน หรือการเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานที่เป็นฟอสซิลไปเป็นพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

 

ในประเทศไทยจะมีองค์กรที่ชื่อว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งจะเป็นผู้ควบคุมในเรื่องการวัดก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจนั้นๆ โดยในการวัดก๊าซเรือนกระจกมันมี 2 อย่าง คือการวัดเชิงองค์กร และการวัดเชิงผลิตภัณฑ์

 

การวัดเชิงองค์กรก็คือวัดทั้งหมดเลยว่ากิจกรรมทุกอย่าง ไลน์ผลิต การดำเนินชีวิตของพนักงานในนั้นนำมาซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร แต่การวัดในเชิงผลิตภัณฑ์ เขาจะมาดูในรายละเอียด สมมติว่าเป็นขวดน้ำ 1 ขวด ตัวฝาปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร ซีลปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร ตัวขวดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร การกลั่นน้ำหรือการกรองน้ำปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร ตรงนี้มันมีแนวทางการปฏิบัติอยู่ ซึ่งแนวทางการประเมิน Carbon Footprint สำหรับองค์กร ทุกคนสามารถดาวน์โหลดมาอ่านกันได้เลย แล้วถ้าในองค์กรมีวิศวกรที่พอเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับไลน์การผลิต หรือการคำนวณที่มันไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก ก็สามารถที่จะยึดแนวทางพวกนี้และนำมาคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เลยเช่นกัน 

 

ถ้าสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เมื่อเทียบกับกระบวนการปกติของธุรกิจ คุณสามารถเก็บเป็นเครดิตแล้วขายต่อให้ธุรกิจอื่นได้

 

เมื่อรู้ Pain Point แล้ว จะเริ่มต้นลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร

จริงๆ แล้ววิธีการลดก๊าซเรือนกระจกขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจของคุณคืออะไร เพราะมันมีกรรมวิธีหลากหลายมากในการจัดการ ซึ่งคนที่จะตอบได้ดีที่สุดคือเจ้าของธุรกิจเองหรือวิศวกรในองค์กรนั้นๆ สมมติว่าต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานไฟฟ้า แต่ธุรกิจของเราจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเยอะ ทำอย่างไรดี อาจจะเริ่มจากไปดูประเภทหลอดไฟก่อนว่าใช้แบบไหนอยู่ ถ้าเป็นหลอดฮาโลเจนที่เป็นหลอดไฟพลังงานสูงก็ให้เปลี่ยนเป็น LED หรือจะเป็นในด้านโลจิสติกส์ โดยการศึกษาเรื่องเส้นทางเพื่อลดการใช้น้ำมัน หาวิธีขนส่งด้วยเส้นทางไหนที่ประหยัดน้ำมันได้มากที่สุด ซึ่งตรงนี้จะช่วยประหยัดทั้งต้นทุนแล้วก็ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปด้วยในคราวเดียวกัน

 

แม้ว่าทาง อบก. จะมีคู่มือที่ผู้ประกอบการสามารถดาวน์โหลดไปทำเองได้ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะมันเป็นการบริหารจัดการ Data จำนวนมาก เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีอย่าง Big data ก็จะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมตรงนี้ด้วย ดังนั้นองค์กรที่ยังเป็นอนาล็อกอยู่ก็จะประเมิน Carbon Footprint ของตัวเองได้ยากกว่าองค์กรที่มีระบบดิจิทัล พวกโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ด้านดิจิทัลเหล่านี้ ฟังเผินๆ อาจรู้สึกไม่เกี่ยวกับเรื่องคาร์บอน แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นสำคัญอย่างหนึ่งที่เราจะวัด Carbon Footprint ในองค์กรเลยก็ว่าได้

 

ต้นทุนในการจัดการที่อาจเกิดขึ้นกระทบภาคธุรกิจแค่ไหน ถ้าเริ่มต้นช้าเกินไปจะเสียโอกาสอะไรบ้าง

ณ ตอนนี้คงไม่ใช่แค่เรื่องต้นทุนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของ Carbon Credit ด้วย ซึ่งในประเทศไทยมีโครงการที่ชื่อว่า Thailand Voluntary Emission Reduction Program หรือ T-VER เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจของประเทศไทย ไม่ว่ากิจกรรมใดๆ ก็ตาม ถ้าสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เมื่อเทียบกับกระบวนการปกติของธุรกิจ คุณสามารถเก็บเป็นเครดิตแล้วขายต่อให้ธุรกิจอื่นได้ ดังนั้นถ้าเผื่อ SMEs หรือว่าธุรกิจใดที่มีแผนที่จะเปลี่ยนระบบหรือเปลี่ยนเครื่องจักรอะไรก็แล้วแต่ อยากให้พิจารณาตรงนี้ด้วย เพื่อที่การเปลี่ยนของเราจะไม่ใช่แค่การเพิ่มต้นทุนอย่างเดียว แต่มันจะได้อะไรกลับมาด้วย ซึ่งก็คือการขาย Carbon Credit

 

Carbon Credit ถูกออกแบบมาสำหรับธุรกิจที่รู้สึกว่าไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตได้ หมายความว่าถึงอย่างไรก็ต้องปล่อยก๊าซออกมา แต่มันจะมีบางคนหรือบางธุรกิจ เช่น เขาปลูกต้นไม้ หรือทำสวน แล้วมีการวัดว่าธุรกิจของเขาดูดคาร์บอนไปเท่าไร สมมติว่า 10 หน่วย เราก็สามารถไปซื้อโควตา Carbon Credit จากคนสวนกลุ่มนั้นมาลดในส่วนของตัวเองได้ ซึ่งตอนนี้ราคาในประเทศไทย ถ้าไปดูจะอยู่ที่ไม่เกิน 100 บาทต่อตันต่อเครดิต ส่วนที่ยุโรปอยู่ที่ 90 ยูโรต่อเครดิต

 

ย้อนมาที่คำถามว่าหากเริ่มตอนนี้จะช้าไปไหม หรือว่าใครควรที่จะปรับก่อน ตรงนี้ต้องอ้างอิงถึง Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับการนำเข้าสินค้า 9 ประเภทไปยังยุโรป ซึ่งจะมีผลในเดือนมกราคม ปี 2023 ผู้ผลิตที่ต้องการส่งสินค้าไปโซนยุโรปจะต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ทางนั้นทราบก่อนจึงจะนำเข้าสู่ประเทศเขาแล้วจำหน่ายได้  ซึ่งสินค้า 9 ประเภทนั้น ได้แก่ ปูน, อะลูมิเนียม, เหล็ก, พลังงาน, ปุ๋ย, เคมีอินทรีย์ (Organic Chemical), พลาสติก, ไฮโดรเจน และโพลิเมอร์ ถ้าเราดูดีๆ โพลิเมอร์ก็คือพวกเส้นใยผ้า และประเทศไทยก็ส่งออกอะไหล่รถยนต์ที่เป็นเหล็กอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นกลุ่มธุรกิจพวกนี้จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

 

ฉะนั้นแนะนำว่าให้ลองมองที่คู่แข่งของเราดีกว่า คือถ้าบริษัท A และ B กำลังแข่งขันกันสูสีเลย แต่บริษัท A ให้ความสำคัญเรื่องของ Carbon Footprint ส่วนบริษัท B ไม่สนใจเลย พอถึงจุดหนึ่งที่ข้อบังคับพวกนี้มันเริ่มประกาศใช้ทั่วถึง แน่นอนว่ากลุ่มที่เตรียมพร้อมมาก่อนก็ย่อมปรับตัวได้ดีกว่า ถึงตอนนั้นบริษัท A อาจจะแซงบริษัท B ก็ได้ เพราะฉะนั้นต่อให้เริ่มต้นตอนนี้ก็ยังไม่สายเกินไป อย่างน้อยก็เป็นการสร้างความมั่นใจในการแข่งขันระยะยาวด้วย

 

กรณีศึกษา การที่สูญเสียโอกาสจากความไม่พร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มีบริษัทโซเชียลเน็ตเวิร์กเคยอยากมาตั้งเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทย แต่ทีนี้นโยบายระหว่างประเทศยังไม่คลิกกัน เขาต้องการให้เซิร์ฟเวอร์ใช้พลังงานหมุนเวียน แต่ประเทศไทยไม่สามารถที่จะตอบสนองตรงนี้ได้ บริษัทยักษ์ใหญ่เจ้านี้ก็เลยขาดความเชื่อมั่น และตัดสินใจย้ายไปตั้งเซิร์ฟเวอร์ที่ประเทศอื่นแทน

 

แต่ถ้าจะพูดว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะถ้ามองในเชิงนโยบาย ประเทศไทยค่อนข้างจะพร้อมกว่าประเทศเพื่อนบ้านเยอะ แต่อาจจะมีปัญหาในเรื่องการปฏิบัติ คือเรามีกฎออกมาแล้ว แต่กลับไม่มีการซัพพอร์ต ไม่มีตัวอย่างให้เห็นว่ามันต้องทำอย่างไร หรือถ้ามีก็จะเป็นกรณีศึกษาโดยองค์กรขนาดใหญ่ เช่น ปลูกต้นไม้ 1 ล้านไร่ ปลูกต้นไม้ 2 ล้านต้น ซึ่งไม่ใช่สเกลที่ SMEs จะนำตัวอย่างมาประยุกต์ใช้ได้ชัดเจน

 

เริ่มต้นตอนนี้ยังไม่สายเกินไป อย่างน้อยก็เป็นการสร้างความมั่นใจในการแข่งขันระยะยาว 

 

ข้อคิดสำหรับ SMEs ในการตัดสินใจปรับเปลี่ยนเพื่อธุรกิจ เพื่อโลก และเพื่อการแข่งขันในอนาคต

จริงๆ แล้วในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบใหม่ๆ หรือกฎหมายที่จำเป็นต้องปฏิบัติก็ตาม ไม่อยากให้มองว่ามันเป็นอุปสรรค แต่ต้องพยายามมองว่าเป็นโอกาสมากกว่า โอกาสที่เราจะเพิ่มการแข่งขันกับคู่แข่ง หรือว่าการแข่งขันในระดับสากลก็ได้ เพราะว่าผู้บริโภคในปัจจุบันนี้เขาไม่ได้วัดแค่คุณภาพของสินค้า แต่วัดไปถึงว่ากระบวนการผลิตสินค้าเหล่านั้นมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหนด้วย

 

ดังนั้นการที่จะไปถึงจุดนั้นได้ อันดับแรกคือการเริ่มต้นวัดตัวเองก่อนว่าเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในมิติไหนบ้าง การปรับตัวให้ได้คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้ว่าควรที่จะลดเรื่องอะไร แล้วลดได้เท่าไรตามศักยภาพและสถานะของเราเองด้วย ดังนั้นถ้าธุรกิจสามารถที่จะประเมินคาร์บอนได้ทั้งในระดับผลิตภัณฑ์หรือองค์กร ก็จะมี Data ที่พร้อมเพื่อนำไปใช้ในการคำนวณหรือการวิเคราะห์ธุรกิจในลำดับต่อไปได้

 

ในการรับมือสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนหรือว่าเทคโนโลยีต่างๆ ก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดก็คือคนในองค์กร การที่จะมีความเข้าใจในเรื่องนี้มากเพียงพอ เราอาจไม่สามารถจ้างที่ปรึกษาจากภายนอกได้ตลอดเวลา ตรงนี้แนะนำว่าธุรกิจจำเป็นที่จะต้องมีการมอบหมายหน้าที่ให้ทีมใดทีมหนึ่งดูเรื่องนี้โดยตรง แล้วค่อยๆ ศึกษาเรียนรู้กันไปเรื่อยๆ เพราะสุดท้ายแล้วความรู้เหล่านี้คือพื้นฐานที่จะทำให้เราสามารถปรับตัวเข้ากับอนาคตได้  

 

ผู้บริโภคในปัจจุบันนี้ไม่ได้วัดแค่คุณภาพของสินค้า แต่วัดไปถึงว่ากระบวนการผลิตสินค้าเหล่านั้นมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหนด้วย

 


 

Credits

Host ศิรัถยา อิศรภักดี

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Sound Editor เสาวภา โตสวัสดิ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Recording Engineer ธภัทร ตั้งวงษ์ไชย

Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster อารยา  ปานศรี

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน จำปาวัน 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X