เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ประธานด้านยุทธศาสตร์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในกิจกรรม ‘ส่งมอบผ้าอนามัยฟรีให้แก่นักเรียน’ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ที่โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร
จุดประสงค์เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ที่อยู่ในวัยมีประจำเดือนและครอบครัว ตามที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ได้กำหนดนโยบายนำร่องผ้าอนามัยฟรี เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้มีประจำเดือนและครอบครัว และลดความเสี่ยงของปัญหาอื่นๆ ที่อาจตามมา
โดยสำนักงานเขตคลองสามวา ได้นำเสนองบประมาณผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพเขตคลองสามวา ภายใต้ชื่อ ‘โครงการเสริมสร้างความรู้และสนับสนุนการเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขอนามัยประจำเดือนสำหรับนักเรียนหญิง มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1-3 ฝ่ายการศึกษา สำนักงานเขตคลองสามวา’ โดยมีกลุ่มเป้าหมายนำร่องเป็นนักเรียนหญิงที่เรียนอยู่ระหว่างชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 875 คน จาก 4 โรงเรียน แบ่งออกเป็น
- โรงเรียนบางชัน (ปลื้มวิทยานุสรณ์) 412 คน จำนวน 23,072 ชิ้น
- โรงเรียนวัดคู้บอน (วัฒนานันท์อุทิศ) 216 คน จำนวน 12,096 ชิ้น
- โรงเรียนวัดพระยาสุเรนทร์ (บุญมีอนุกูล) 132 คน จำนวน 7,392 ชิ้น
- โรงเรียนสุเหร่าแสนแสบ 115 คน จำนวน 6,440 ชิ้น
โดยจะมอบให้นักเรียนเฉลี่ยอย่างน้อยคนละ 2 ชิ้นต่อวัน และเฉลี่ยจำนวน 7 วัน ที่มีประจำเดือน ซึ่งจะนำร่องมอบในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 (เดือนมิถุนายน, กรกฎาคม, สิงหาคม และกันยายน) รวม 4 เดือน และจะมอบอย่างต่อเนื่องในภาคเรียน และปีการศึกษาต่อๆ ไป
เกษรากล่าวว่า เรื่องผ้าอนามัย มองเผินๆ หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่มีเด็กต้องขาดเรียนเพราะไม่มีผ้าอนามัย เรื่องนี้ต่างประเทศทำวิจัยเลย และพอได้ลงพื้นที่กรุงเทพฯ ก็เจอปัญหาเดียวกันคือ เด็กผู้หญิงที่ครอบครัวมีฐานะยากจน เมื่อมีประจำเดือนจะไปโรงเรียนไม่ได้ เพราะไม่มีผ้าอนามัย จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนสำหรับผู้หญิงนะ และด้วยตนเองมีน้องสาว 3 คน และลูกสาวอีก 2 คน เลยเข้าใจเรื่องนี้ดี แต่ละเดือนผู้หญิงมีค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อผ้าอนามัยราวๆ 80-150 บาทต่อเดือน ตรงนี้คือค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ตายตัว และอาจเพิ่มขึ้นแล้วแต่ละคน แม้เป็นกิจกรรมเล็กๆ ที่เริ่มจากเด็กนักเรียน แต่ก็ภูมิใจที่ได้ช่วยคิด ช่วยแก้ไข และลงมือทำด้วยตัวเอง
โครงการแจกผ้าอนามัยฟรีให้แก่เด็กนักเรียน เป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการ (Action Plan) 216 ข้อ ตามนโยบาย 9 ดี เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง และแก้ไขปัญหาความจนประจำเดือน (Period Poverty) ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและสุขอนามัยของผู้มีประจำเดือน โดยดำเนินการนำร่องที่สำนักงานเขตบางขุนเทียน ปัจจุบันได้ดำเนินการแจกจ่ายไปแล้วหลายหมื่นชิ้น ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่เห็นผลสำเร็จไปแล้วระดับหนึ่ง