×

MEDIA is DEAD or ALIVE? ตอนที่ 4 ความน่าเชื่อถือ โจทย์การทำสื่อที่ไม่เคยเปลี่ยน

29.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • สื่อที่ดีต้องอธิบายตัวเองได้ ทำสิ่งนี้ทำจากอะไร ตรวจสอบกลับไปได้ ถ้าผิดพลาดต้องยอมรับ และเป็นสื่อที่แฟร์ ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหนของการเมือง
  • ใจความสำคัญคือ ‘Trust’ พอพ้นจากห้องเรียน คนก็เรียนจากสื่อ ถ้าคนไม่เห็นว่าสื่อเป็นห้องเรียนที่ดี คนก็ไปจากเรา

ในช่วงครึ่งแรกของ พ.ศ. 2560 เพจ Voice TV สร้างสีสันบนเฟซบุ๊กไม่น้อย หลังมีการปรับกระบวนท่าการสื่อสารให้ถูกจริตกับคนบนโลกออนไลน์ จนสร้าง Engagement Rate (อัตราการมีปฏิสัมพันธ์ของคนในแต่ละโพสต์) สูงสุดในเพจกลุ่มช่องทีวีดิจิทัล

สื่อที่ดีต้องอธิบายตัวเองได้ว่าทำสิ่งนี้ ทำจากอะไร ตรวจสอบกลับไปได้ ถ้าผิดพลาดคุณต้องยอมรับได้ และเป็นสื่อที่แฟร์ ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝั่งไหนของการเมือง

 

พิณผกา งามสม บรรณาธิการข่าวออนไลน์ Voice TV คือหนึ่งในคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จบอกว่า โดยสถิติฟ้องอยู่แล้วว่าคนอายุตำ่กว่า 35 ปีโกออนไลน์ หรือใช้อุปกรณ์อื่นที่ไม่ใช่ทีวี

 

ขณะที่สถิติผู้ชม Voice TV ผ่านโทรทัศน์ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนเมือง รายได้ค่อนข้างสูง อายุ 45 ปีขึ้นไป

 

ในวันที่กระแสโลกจะเดินหน้าไปสู่ออนไลน์ แต่ผู้ชมกลุ่มหนึ่งยังคงอยู่กับสื่อเก่า และรายได้หลักยังมาจากฝั่งทีวี การหาวิธีปรับตัวให้สอดรับกับกระแสที่พัดมาโดยไม่ปล่อยมือจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งเร็วเกินไปคือสิ่งที่ต้องขบคิด

 

“คำว่าทีวีจะตายมันเป็นเพียงคำพูด เพียงแต่ว่าจะหาวิธีอยู่รอดอย่างไร และคุณได้หาวิธีอยู่รอดแล้วหรือยัง”

 

พิณผกาเข้ามารับหน้าที่ดูแลคอนเทนต์ในส่วนออนไลน์ มีหน้าที่บริหารและจัดการคอนเทนต์และทีมข่าวออนไลน์ ซึ่งแบ่งเป็นทีมข่าวและทีมโปรดักชันที่นำวัตถุดิบจากทีวีมาพัฒนาให้เหมาะกับโลกออนไลน์

 

“ทุกเช้าเวลาประชุมกัน เวลาเพื่อนร่วมทีมออกมาเสนอข่าวหนึ่งข่าว พี่จะถามว่าคนดูจะได้อะไรจากข่าวนั้น คือมันต้องคิดต่อทันทีว่าคุณจะนำเสนอในฟอร์แมตไหน ไม่มายด์ถ้ามันจะเป็นได้แค่ตัวหนังสือ เพราะบางข่าวมันเป็นได้แค่ตัวหนังสือ + ภาพ ข่าวบางข่าวอาจจะได้อินโฟกราฟิก ข่าวบางข่าวอาจจะเป็น Short Clip หรือบางข่าวเราอาจจะพัฒนาให้มันเป็นสกู๊ปวิดีโอสั้นๆ ไม่เกิน 2 นาที

 

“ในแต่ละวันเราจะต้องรู้ว่าข่าวมันควรจะถูกนำเสนอออกมาเป็นแบบไหนที่มันน่าจะเหมาะสมกับคนอ่านมากที่สุด”

 

เมื่อมองในมุมของนักข่าวที่ทำสื่อออนไลน์กว่า 12 ปี ผ่านประสบการณ์ตั้งแต่นักข่าวรุ่นบุกเบิกจนมาเป็นบรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ ‘ประชาไท’ และนักข่าวเพจ ‘บีบีซีไทย’ พิณผกาบอกว่า “เราอาจคิดว่าเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านกันตลอดเวลา แต่จริงๆ แล้วเราอาจไม่ได้เปลี่ยนไปไหน พี่คิดว่าโจทย์ของสื่อมันก็เป็นอันเดิมนั่นแหละ

ใจความสำคัญคือ ‘Trust’ พอพ้นจากห้องเรียนคนก็เรียนจากสื่อ ถ้าเขาไม่เห็นว่าเราเป็นห้องเรียนที่ดี ถ้าสื่อไม่มี คนก็ไปจากเรา

“คุณต้องรับผิดชอบในสิ่งที่คุณนำเสนอได้ สื่อที่ดีต้องอธิบายตัวเองได้ว่าทำสิ่งนี้ ทำจากอะไร ตรวจสอบกลับไปได้ ถ้าผิดพลาดคุณต้องยอมรับได้ และเป็นสื่อที่แฟร์ ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝั่งไหนของการเมือง

 

“คนทำข่าวจะรู้อยู่แล้วว่ามันควรมี 3 เสียง เสียงของคนที่เห็นด้วย คนที่ไม่เห็นด้วย และเสียงของคนกลาง คนที่วิเคราะห์ คุณต้องไม่ละเมิดสิ่งนี้

 

“สิ่งที่โซเชียลมีเดียท้าทายสื่อมวลชนคือมันทลายกำแพงระหว่างแหล่งข่าวกับคนอ่านข่าวให้เข้าถึงกันได้โดยตรง หลายคนที่เป็นแหล่งข่าวให้สัมภาษณ์แล้วไม่สะใจก็ไปเขียนเอง คนไปอ่านแบบนั้นไม่ดีกว่าเหรอ ฉะนั้นโจทย์ของสื่อในยุคนี้ที่ฐานะของคุณถูกกร่อนลง คุณจะทำอะไรได้นอกจากยืนยันความเป็นมืออาชีพว่าเราทำได้รอบด้านกว่าคุณ ฉันคัดกรองข้อมูลได้แม่นยำกว่า หลากหลาย และน่าเชื่อถือกว่า

 

ใจความสำคัญคือ ‘Trust’ พอพ้นจากห้องเรียนคนก็เรียนจากสื่อ ถ้าเขาไม่เห็นว่าเราเป็นห้องเรียนที่ดี ถ้าสื่อไม่มี คนก็ไปจากเรา

 

Did You Know?

ทุกวันนี้ยังดูข่าวจากทีวีอยู่ไหม?

(ส่ายหัว) พี่ไม่เปิดทีวีมา 3 ปีแล้วนะ ทุกวันนี้เราใช้มือถืออัพเดตติดตามนู่นนี่ตลอด หรือใช้ไอแพด ใช้คอมพิวเตอร์ ขนาดเราดูหนังเรายังดูผ่านคอมพิวเตอร์เลย เราไม่ได้ดูในทีวี นี่ก็ยังไม่ได้ลองเปิดเลยว่ามัน (ทีวี) พังไปหรือยัง คือเราสามารถนั่งอยู่ตรงนี้ได้ (หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาถือ) โดยที่ไม่ตกข่าวสาร

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X