ตลอดเดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) มองไปทางไหนก็เห็นสีรุ้งเจิดจรัสทั่วทุกแห่งหน บริษัทห้างร้านต่างประโคมออกแคมเปญและกิจกรรมเต็มไปหมด แต่กว่าจะถึงจุดนี้พวกเขาพบเจออะไรมาบ้าง เบื้องหลังของความภาคภูมิใจนี้แลกมาด้วยอะไร? เราคงต้องขอพาคุณย้อนไปไกลเกือบ 60 ปีก่อน
🌈ย้อนรอยสู่การต่อสู้เพื่อเสรีภาพ
เบื้องหลังภาพความสนุกสนานของ LGBTQ Pride ในปัจจุบัน แท้จริงแล้วเริ่มต้นจากการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกใช้ความรุนแรง และการถูกตีตราว่าคนกลุ่ม LGBTQ+ มีความผิดปกติทางจิต ชาว LGBTQ+ สมัยก่อนจึงคิดแต่เพียงว่าการเปิดเผยตนเองและการแต่งงานกับคู่รักของตนคงเป็นเพียงแค่ความฝัน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หน้าประวัติศาสตร์ก็เปลี่ยนไป
ช่วงเวลานั้น คนรักเพศเดียวกันนั้นถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย รวมทั้งการแต่งกายไม่ตรงกับเพศกำเนิดถือเป็นเรื่องที่ผิดบาปในสังคม การได้ใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยเป็นตัวของตัวเองแม้เป็นช่วงเวลาเล็กๆ ก็ถือเป็นยาใจให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ ชาว LGBTQ+ จึงนิยมไปรวมตัวกันในที่ Stonewall Inn บาร์ลับยามค่ำคืนย่านกรีนวิชวิลเลจ สถานที่ที่พวกเขาจะได้เปิดเผยตัวตนของตนเองออกมา
ขณะที่ช่วงเช้ามืดของวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ตำรวจมาตรวจบาร์ตามปกติ แต่สิ่งที่ต่างจากปกติคือผู้คนในบาร์ขัดขืนต่อการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ การจลาจลปะทุขึ้นจากความรุนแรงระหว่างสองฝ่ายจนขยายวงกว้างออกมาบนถนนบริเวณหน้าบาร์ ทั้งตำรวจและฝูงชนเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนเหตุการณ์คืนนั้นค่อยๆ ยุติ ทว่าเรื่องไม่จบแค่นั้น คืนต่อมามีผู้คนจำนวนหลายพันคนมาที่บาร์เพื่อชุมนุมและแสดงพลังของชุมชน LGBTQ+ สู่ชาวโลก
เหตุการณ์ครั้งนี้นำมาสู่การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ Pride March) ครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน 1970 ที่นิวยอร์ก และอีก 3 เมืองใหญ่อย่าง ลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก และชิคาโก เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สโตนวอลล์ จากนั้นเป็นต้นมา ชุมชน LGBTQ+ ก็เริ่มออกมาเดินพาเหรดเพื่อแสดงจุดยืนของตนเอง
ในปี 2000 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น ‘เดือนแห่งความภูมิใจของชาวเกย์และเลสเบี้ยน’ (Gay & Lesbian Pride Month) และในอีก 9 ปีต่อมา ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น ‘เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ’ (Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Pride Month) เพิ่มการตระหนักรู้ถึงความหลากหลายในกลุ่ม LGBTQ+
🌈เมืองทั่วโลกกับ Pride Month
เมืองต่างๆ ทั่วโลกนั้นจะมีตารางการจัด LGBTQ Pride แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของสภาพอากาศ อย่างประเทศในยุโรปจะจัดงานช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนกันยายน ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี หรือไต้หวันเองก็จัดมาอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีงาน Metro Manila Pride ซึ่งถือเป็น LGBTQ Pride ที่ยาวนานที่สุดในอาเซียน ซึ่งจัดมาแล้วกว่า 20 ปี แต่ทั้งนี้เมืองต่างๆ ทั่วโลกก็ร่วมแสดงความภาคภูมิใจในช่วงเดือนมิถุนายนด้วยเช่นกัน
🌈ประเทศไทยกับ Pride Month
ส่วนในประเทศไทย ถ้าไม่นับรวม Bangkok Naruemit Pride Parade ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2022 LGBTQ Pride จัดขึ้นครั้งสุดท้ายที่กรุงเทพฯ ในปี 2006 ก่อนหน้านั้นมีการเดินขบวนอยู่หลายปี แต่ส่วนมากผู้เข้าร่วมมักเป็นนักกิจกรรมชาว LGBTQ+ ในแวดวงบาร์และธุรกิจที่มีชาว LGBTQ+ มาเกี่ยวข้อง ซึ่งยังไม่ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ รวมทั้งยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงประชาชนมากนัก
ส่วนที่จังหวัดภูเก็ตก็มีการจัด Phuket Pride มาตลอดทุกปีตั้งแต่ปี 1999 โดยผู้ร่วมขบวนเป็นพนักงานจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชาว LGBTQ+ ในหาดป่าตองและชาวต่างชาติเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการเดินขบวน LGBTQ Pride ที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2009 แต่ถูกขัดขวางจากผู้ต่อต้านจนไม่สำเร็จและยกเลิกงานไป
สำหรับ Bangkok Naruemit Pride Parade จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2022 ครั้งแรกในรอบ 16 ปี กับขบวนพาเหรดสีรุ้ง เพื่อสนับสนุนความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศ จัดโดยคณะทำงานบางกอกนฤมิตไพรด์ และกลุ่มขับเคลื่อนรณรงค์ความหลากหลายทางเพศทั้งภาคเอกชนและประชาชน งานนี้นอกจากเหล่าชุมชนผู้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศแล้ว ยังได้ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาเดินขบวนด้วย
จงภูมิใจและยืนหยัดในความเท่าเทียมและความหลากหลาย
Be Proud of Who You Are
ภาพ: Adnan Farzat / NurPhoto via Getty Images