วานนี้ (7 มิถุนายน) อังเกลา แมร์เคิล อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนีแก้ต่างในประเด็นรัสเซีย รวมถึงกรณีเคยคัดค้านการสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ NATO ของยูเครนเมื่อปี 2008 ชี้ไม่มีอะไรต้องขอโทษ ขณะในสัมภาษณ์สื่ออย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังพ้นจากตำแหน่งผู้นำเยอรมนีเมื่อราว 6 เดือนก่อน
เธอได้รับการกล่าวหาว่าเข้าไปพัวพันกับประเด็นอ่อนไหวกับรัสเซีย โดยเฉพาะโครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ที่ส่งตรงจากรัสเซียสู่เยอรมนีในสมัยรัฐบาลภายใต้การนำของเธอ ก่อนที่โครงการนี้จะระงับลงหลังจาก โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศช่วงสั้นๆ ก่อนกองทัพรัสเซียจะเปิดฉากรุกรานประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ภายใต้แรงกดดันจากมาตรการคว่ำบาตรในปัจจุบัน ทำให้เยอรมนีพยายามที่จะลดการพึ่งพิงพลังงานเชื้อเพลิง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย โดยให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ที่ผ่านมาเธอมองว่าเธอไม่มีอะไรต้องขอโทษ หากหลายฝ่ายจะมองว่าเธอยังพยายามไม่มากพอในการกดดันรัฐบาลรัสเซีย จากกรณีที่รัสเซียผนวกแหลมไครเมียของยูเครน และประกาศให้ดินแดนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2014
แมร์เคิลชี้ว่า ทั้งยุโรปและรัสเซียต่างเป็นเพื่อนบ้านที่ไม่สามารถเมินเฉยต่อกันและกันได้ เราทั้งคู่จำเป็นต้องหาทางอยู่ร่วมกัน แม้เรานั้นล้วนแตกต่างกัน การรุกรานนอกจากจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้แล้ว ยังเป็นสิ่งที่ผิดพลาดมากที่สุดของรัสเซีย เพราะถ้าเราเริ่มด้วยการย้อนกลับไปหลายศตวรรษ แล้วอ้างว่าดินแดนส่วนนั้นส่วนนี้ควรเป็นของใคร เราจะพบเจอแต่สงคราม และนั่นไม่ใช่ทางเลือกที่ดีไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม
นอกจากนี้ แมร์เคิลยังแก้ต่างให้ตัวเธอเองว่า เยอรมนีภายใต้การนำของเธอก็เป็นหนึ่งในประเทศที่สนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย รวมถึงเข้าไปมีบทบาทสำคัญในกระบวนการสันติภาพมินสก์ เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งในยูเครนตะวันออก ช่วงปี 2014-2015 พร้อมเน้นย้ำว่า กระบวนการสันติภาพในครั้งนั้นมีส่วนทำให้ยูเครนเข้มแข็งขึ้น และฟื้นฟูความแข็งแกร่งทางด้านการทหารเพิ่มมากยิ่งขึ้น
“ฉันไม่จำเป็นต้องโทษตัวเองว่ายังพยายามไม่มากพอ ฉันไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องพูดในประเด็นนี้ ฉันไม่มีอะไรต้องขอโทษ”
โดยเหตุผลส่วนหนึ่งที่เธอคัดค้านการสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ NATO ของยูเครน เมื่อปี 2008 เป็นเพราะเธอต้องการประวิงเวลาและป้องกันความขัดแย้งของทั้งสองประเทศ รวมถึงยูเครนเองในช่วงเวลานั้นก็ยังไม่มีความพร้อมมากเพียงพอ “ยูเครน ณ ตอนนั้น ไม่ใช่ยูเครนที่เรารู้จักในวันนี้ ยูเครนตอนนั้นยังไม่มีความมั่นคง ไม่มีเสถียรภาพ เต็มไปด้วยปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน”
แต่ในเวลานี้ เธอขอกล่าวชื่นชมความกล้าหาญของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี และประชาชนชาวยูเครน ที่ยังคงยืดหยัดต่อสู้เพื่อประเทศของตนเอง ตลอดช่วงเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมา แม้เซเลนสกีจะมองว่า การแสดงจุดยืนคัดค้านการสมัครเข้าเป็นสมาชิก NATO ของยูเครนโดยรัฐบาลเยอรมนีในวันนั้น จะเป็นการคำนวณที่ผิดพลาดก็ตาม
ภาพ: Fabian Sommer / Picture alliance via Getty Images
อ้างอิง: