×

‘ผู้หญิงของต้อม’ อ่าน 7 นักแสดงหญิงในรอบ 20 ปี ผ่านสายตา เป็นเอก รัตนเรือง

19.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

13 Mins. Read
  • THE STANDARD ถามเป็นเอกว่าเขาเลือกนักแสดงที่ ‘ใช่’ จากอะไร เขาบอกกลับมาอย่างเรียบง่ายว่า “ใช้สัญชาตญาณล้วนๆ”
  • “เรารู้สึกว่านางเอกมันเหมือนคนทั่วไป คือมันต้องมีทุกอย่าง มันต้องไม่เป็นเหยื่อซะจนไม่ลุกขึ้นทำอะไร คือถ้ามันเป็นเหยื่อมากๆ มันก็ต้องลุกขึ้นทำอะไร อย่าง Samui Song เปิดเรื่องขึ้นมาแทบจะเห็นเลยว่าเขาเป็นเหยื่อ แต่แล้วในที่สุดตัวละครมันก็ต้องลุกขึ้นมาทำอะไร”
  • “ประเภทสวยจนผมไม่กระดิกสักเส้นนี่ไม่เอาเด็ดขาด (หัวเราะ) ผมไม่ยุ่งก็ต้องไปทำผมยุ่งก่อน ต้องไปทำเสื้อยับมาก่อน มือตีนอย่าไปทำอะไรกับเขามาก”

นับตั้งแต่หนังยาวเรื่องแรกคือ ฝัน บ้า คาราโอเกะ ถึงหนังเรื่องที่ 9 Samui Song ไม่มีสมุยสำหรับเธอ ที่กำลังจะเข้าฉายวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง ทำหนังมาครบ 20 ปีแล้ว

 

ซึ่งถ้าจะให้อธิบายถึงหนังแบบ ‘เป็นเอก เป็นเอก’ ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าถึงผลงานของเขาจะไม่เคยทำเงิน แต่เนื้อหนังก็เต็มไปด้วยเสน่ห์ตั้งแต่พล็อต วิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพ บรรยากาศ ภาษา จังหวะสนทนา โดยเฉพาะกับ ‘ตัวละครหญิง’ ของเป็นเอกที่โดดเด่น น่าจดจำ ซึ่งนั่นก็มักจะส่งผลให้ ‘นักแสดงหญิง’ ในหนังของเขาทั้งแจ้งเกิดและถูกจดจำตามไปด้วย

 

THE STANDARD ถามเป็นเอกว่าเขาเลือกนักแสดงที่ ‘ใช่’ จากอะไร เขาบอกกลับมาอย่างเรียบง่ายว่า “ใช้สัญชาตญาณล้วนๆ” แต่เชื่อเถอะว่านอกเหนือจากเรื่องของสัญชาตญาณ ความจริงยังมีรายละเอียดและเรื่องเล่าเกี่ยวกับ ‘นักแสดง’ รวมไปถึงการทำหน้าที่ ‘ผู้กำกับแบบเป็นเอก’ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์น่าสนใจไม่แพ้กัน

 

**รวบรวมความคิด จากการคุยกับต้อม เป็นเอก ในหลากครั้ง หลายโอกาส ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา (2554, 2560, 2561)

เรารู้สึกว่านางเอกมันเหมือนคนทั่วไป คือมันต้องมีทุกอย่าง มันต้องไม่เป็นเหยื่อซะจนไม่ลุกขึ้นทำอะไร

ลลิตา ปัญโญภาส: เรื่องตลก 69 (2542)

 

ตัวละครหญิงของเป็นเอก

เราไม่เชื่อในความเป็นนางเอ๊กนางเอก แต่เราเชื่อว่าต้องทำทุกอย่างให้มันไปสู่จุดที่มีมิติครบทุกด้าน มีด้านอ่อนแอด้วย ด้านแข็งแรงด้วย มีด้านดีด้วย แล้วก็มีด้านเหี้ยด้วย (หัวเราะ) คือส่วนมากเราจะแคสต์คนสวย คนพวกนี้ที่เราแคสต์ส่วนมากแม่งสวย แล้วพอมาอยู่ในหนัง เราก็ทำให้ไม่ค่อยสวย มันก็จะกลายเป็นคนปกติที่หน้าตาดี ส่วนผสมเหล่านี้แหละที่มันทำให้เกิดเป็นผู้หญิงในหนังเราขึ้นมา

 

เฟย์ อัศเวศน์: ฝัน บ้า คาราโอเกะ (2540)

 

ประเภทสวยจนผมไม่กระดิกสักเส้นนี่ไม่เอาเด็ดขาด ผมไม่ยุ่งก็ต้องไปทำผมยุ่งก่อน ต้องไปทำเสื้อยับมาก่อน มือตีนอย่าไปทำอะไรกับเขามาก เราว่าหลายอย่างมันช่วยกันฮะ ตัวบทด้วย รสนิยมของเราในการมองผู้หญิงด้วย สไตลิ่งด้วย แต่รวมๆ แล้วมันจะออกมาเป็นผู้หญิงไทยแบบนี้ ผู้หญิงในหนังเรามันถึงได้มีความรู้สึกนี้ออกมา

 

โดยส่วนตัวเราไม่ค่อยชอบนางเอกในหนังหรือละครที่มันเป็นนางเอกมากๆ คือบทนางเอกแบบนั้น ถ้าไม่ถูกกระทำจนน่าเห็นใจก็จะต้องเป็นคนดีเหลือเกิน หรือถ้าจะแกร่งก็ต้องแกร่งเหลือเกิน แล้วส่วนใหญ่จะน่ารัก ซึ่งเราไม่เคยชอบสิ่งเหล่านั้นในผู้หญิงเลย

หนังของเราตั้งแต่เรื่องแรกมาจนถึงเรื่องนี้มันอาศัยพลังของนักแสดงค่อนข้างเยอะ ในการจะทำให้มันเป็นหนังดีหรือไม่ดี

เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์: Samui Song ไม่มีสมุยสำหรับเธอ (2561)

 

เรารู้สึกว่านางเอกมันเหมือนคนทั่วไป คือมันต้องมีทุกอย่าง มันต้องไม่เป็นเหยื่อซะจนไม่ลุกขึ้นทำอะไร คือถ้ามันเป็นเหยื่อมากๆ มันก็ต้องลุกขึ้นทำอะไร อย่าง Samui Song เปิดเรื่องขึ้นมาแทบจะเห็นเลยว่าเขาเป็นเหยื่อ แต่แล้วในที่สุดตัวละครมันก็ต้องลุกขึ้นมาทำอะไร ยิ่งเรื่องนี้เห็นชัดมาก เพราะมันลุกขึ้นมาฆาตกรรมกัน

 

ตอนที่เลือกเฟ้นนักแสดง คุณมองหาอะไร ต้องการนักแสดงแบบไหนเพื่อให้เขาได้ไปมีชีวิตบนแผ่นฟิล์ม

เราโชคดีตรงนักแสดงที่มาร่วมงานกับเราส่วนมากเขามาเพราะอยากมา เหมือนเขาอยากมาร่วมขบวนการนี้กับเรา แล้วพอมันมาด้วยความสมัครใจเต็มร้อย มีความอยากจะทดลองเหมือนกัน เขาก็จะไม่มาทำตัวเป็นดาราเวลาอยู่ในกองถ่ายเราไง ฉะนั้นพอถึงเวลาทำงานด้วยกันมันจะดี ความสัมพันธ์ก็จะดี

 

คริส หอวัง: ฝนตกขึ้นฟ้า (2554)

 

แล้วค่าตัวที่เราให้เขาแต่ละคนนี่แม่งเป็นค่าตัวที่น่าสมเพชมาก นึกออกไหม เขากินข้าวกลางวันก็หมดแล้ว (หัวเราะ) ค่าตัวพวกเขามันน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาได้รับโดยปกติเวลาที่เล่นละครหรือเล่นหนังเรื่องอื่น

 

แต่มันดีฮะ เวลาที่คนไม่ได้มาเพราะค่าจ้าง แต่มาด้วยเหตุผลอื่น มันจะร่วมมือกันอย่างดีมาก อย่างหมิว (ลลิตา ปัญโญภาส) เราเคยร่วมงานกันตอน เรื่องตลก 69 เจ็ดปีผ่านไปเราถึงได้มาร่วมงานกันอีกทีในเรื่อง พลอย แล้วจำได้เลยฮะว่าถ่ายหนังเสร็จไปตั้งนานแล้วเขาก็ไม่มารับเช็คสักที จนในที่สุดต้องให้โปรดิวเซอร์โทรไปบอกว่า “พี่หมิวไม่มารับค่าตัวเรื่อง พลอย เหรอ” หมิวก็บอก เออ จริงด้วย ลืมไปเลย (หัวเราะ) นั่นแสดงว่าสำหรับหมิวเขาไม่ได้มาเพื่อสิ่งนี้ไง งานมันเลยออกมาดี  

 

สิริยากร พุกกะเวส: มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544)

 

หลังจากเจอคนที่ ‘ใช่’ เวลาอยู่ในกองถ่าย เป็นเอกกำกับการแสดงอย่างไร

เราเป็นคนชอบนักแสดง เราชื่นชมพวกเขา เพราะว่ามันไม่ง่าย มันเป็นตำแหน่งที่กล้าหาญมาก คิดดู บางซีนอยู่ดีๆ ก็ต้องไปแก้ผ้าให้คนดู แล้วก็ต้องเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นตัวเองออกมาจากตัวจนหมด ความสุข ความทุกข์ของเขา

 

เราว่านักแสดงมันเป็นอาชีพที่ต้องมีสมาธิอย่างแรงกล้ามาก ต้องไปยืนหน้ากล้องเป็นเดือนๆ โดยที่ไม่หลุดออกจากคาแรกเตอร์ตัวละคร แต่ขณะเดียวกันก็ต้องประคองชีวิตส่วนตัวให้มั่นคงไปด้วย

แต่ถ้าเราเป็นคนเหี้ยกว่านี้อีกสักนิดนะ แบบที่ไปทำอะไรแย่ๆ ไว้แล้วลืมมันได้เลย ชีวิตเราคงมีความสุขกว่านี้ ตัวละครของเราก็เหมือนกัน

 

คุณลองไปยืนตรงหน้ากล้องแล้วต้องไป pretend ว่าแม่คุณตายตอนอายุ 7 ขวบ แล้วตอนนี้คุณกำลังจะเป็นเอดส์ เรื่องพวกนี้มันไม่ง่าย บางซีนมันต้องเอาบาดแผลของตัวเองจริงๆ ออกมาให้คนเห็นต่อหน้า มันเป็นอาชีพที่เรียกว่าถ้าคุณอินกับมันจริงๆ มันก็โหดร้ายเหมือนกัน

 

ในกองถ่ายเราจะเป็นที่รู้กันเลยว่านักแสดงจะได้รับสิทธิพิเศษบางอย่างเพื่อที่จะทำให้เขาสามารถทำการแสดงได้ดี เช่น ถ้าเขายังไม่พร้อมถ่าย เราก็จะยังไม่ถ่าย หรือพยายามจะทำความเข้าใจกับพวกเขาทุกๆ วัน คือเราไม่ได้เอาใจเขานะ แล้วก็ไม่ได้ต้องการจะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองสำคัญเกินเหตุ

 

การเป็นผู้กำกับในกองถ่าย ครึ่งหนึ่งยูเป็นคนทำหนัง แต่อีกครึ่งหนึ่งยูเป็นได้แค่หมอโรคจิตน่ะ คือยูต้องคอยดูแล เพราะเราต้องใช้เขาในการถ่ายทอดไอเดียทุกอย่างผ่านไปถึงคนดู เราเล่นเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องดูแลเขา

 

 

นักแสดงที่ใช่ต้องมีกลิ่นแบบไหน  

ไม่รู้ มันบอกไม่ได้ แล้วเราไม่ได้เลือกจากความสามารถในการแสดง เพราะเวลามาเทสต์หน้ากล้อง ถึงเป็นนักแสดงที่เก่งที่สุดมันก็ยังแสดงแย่อยู่ดี เพราะว่าเขายังไม่ได้ถูกกำกับ เขาแค่ออกมาจากบ้าน ขับรถ นั่งมอเตอร์ไซค์มา แล้วก็เล่นเลย เพราะฉะนั้นเราถึงไม่เลือกนักแสดงจากการมานั่งดูวิธีการแสดง

 

ถ้าอย่างนั้นเป็นเอกเลือกจาก…

ส่วนมากจะเลือกจากลุค ลุคที่ว่านี่ไม่ใช่หน้าตานะ แต่หมายความว่าเรากำลังมองไปที่คนคนนี้ว่ามันใช่ไอ้ตัวละครที่มันกำลังเล่นหรือเปล่า ก็ดูมือ ดูเท้า เวลาเขานั่งให้สัมภาษณ์กับกล้อง อะไรพวกนี้แหละที่มันจะเป็นประโยชน์มากกว่าการแสดง

 

คิดว่าคาแรกเตอร์ตัวละครในหนังของคุณตัวไหนใกล้เคียงกับเป็นเอก รัตนเรือง มากที่สุด

โอ้โห มันเหมือนเกือบทุกตัวเลย (หัวเราะ) ต่อให้เป็นตัวละครผู้หญิงหรือโจรที่เลวร้ายมันก็มีส่วนที่เป็นเรานะ ตัวละครของเราไม่ค่อยตะโกนใส่กัน จะพูดกันเฉยๆ แล้วส่วนมากจะพูดกันในลักษณะสำบัดสำนวน เพราะเราเป็นคนอย่างนั้น

 

ตัวละครของเราแทบทุกตัวมันมีความรู้สึกว่าจริงๆ มันอยากจะเป็นคนดี แต่มันก็เป็นกันไม่ได้ สุดท้ายมันก็ต้องไปทำอะไรไม่ดี แล้วมันก็จะรู้สึกเหี้ยกับตัวเอง แล้วก็ยอมรับความจริง

 

เราเองก็คงเป็นคนแบบนั้น คืออยากเป็นคนดี แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็เป็นไม่ได้ เพราะเสือกไปทำอะไรแย่ๆ ไว้เต็มไปหมด …แต่ถ้าเราเป็นคนเหี้ยกว่านี้อีกสักนิดนะ แบบที่ไปทำอะไรแย่ๆ ไว้แล้วลืมมันได้เลย ชีวิตเราคงมีความสุขกว่านี้ ตัวละครของเราก็เหมือนกัน

 

อภิญญา สกุลเจริญสุข: พลอย (2550)

 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพสักหน่อยได้ไหม เช่น ฉากไหน ตอนไหน

อย่างในเรื่อง พลอย หลายซีนมันก็เป็นประสบการณ์จริงที่เราเอากลับมารีไซเคิลเยอะมาก อย่างฉากที่พลอย (รับบทโดย สายป่าน-อภิญญา สกุลเจริญสุข) มันเดินไปหาวิทย์ (รับบทโดย พรวุฒิ สารสิน) ในบาร์แล้วก็พูดว่า “พี่มีไฟหรือเปล่า” พอเขาเอาไฟให้แล้วก็บอก “พี่มีบุหรี่หรือเปล่า” ซีนนี้ก็เกิดขึ้นกับเรานะ มันเป็นเหตุการณ์จริง คือมีผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาหา เรารอเพื่อนอยู่ในบาร์ที่ไหนสักแห่งแล้วเขาก็เดินมาพูดกับเราแบบนี้ เออ เฟี้ยวดีว่ะ แล้วคิดเลยว่าสักวันมันต้องไปอยู่ในหนังกูแน่ๆ (หัวเราะ)

 

 

อีกอย่าง ตัวละครในหนังเราเวลามีปัญหาอะไรกันชอบมาเคลียร์กันในรถ ไม่ขับรถแล้วเคลียร์กันก็ไปนั่งเฉยๆ คุยกันในที่จอดรถ เพราะชีวิตจริงของเราไม่รู้เป็นอะไร เวลามีปัญหากับแฟนแล้วต้องมาเคลียร์กันในรถ (หัวเราะ) แล้วไอ้ตอนที่มันไม่พูดกัน แต่ต้องขับรถกลับมาด้วยกันจากพิษณุโลก แต่ก็ไม่พูดกับกู แล้วกูจะต้องทนอึดอัดอย่างนี้ไปอีกกี่ชั่วโมงวะ หนังเราเลยมีแบบนี้มาเรื่อยๆ เพราะเราเข้าใจซีนแบบนี้มาก

 

 

‘ปู’

เฟย์ อัศเวศน์

ฝัน บ้า คาราโอเกะ (2540)

 

สัญชาตญาณล้วนๆ

 

เฟย์ไม่เคยแสดงอะไรมาเลย เล่นหนังก็ไม่เป็น แล้วตอนที่เลือกมาเล่นเขาเรียนอยู่พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ปรากฏตัวอยู่ตามหน้าหนังสือแฟชั่น เพราะเป็นนางแบบแฟชั่น เราก็ใช้วิธีเรียกมาคุย นั่งคุยกันเสร็จก็เอาเลย “แต่เฟย์เล่นไม่เป็นนะ” ไม่เป็นไร เดี๋ยวจะค่อยๆ จัดการให้เล่นได้ แล้วดีด้วย คุณจะได้ไม่ต้องแสดง เป็นธรรมชาติดี ส่วนมากเราจะใช้วิธีแบบนี้ ใช้การคุย ใช้สัญชาตญาณ

 

 

(หลังจากภาพยนตร์ ฝัน บ้า คาราโอเกะ เข้าฉายในปี 2540 แม้ว่าหนังจะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่เฟย์ อัศเวศน์ คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ประจำปี 2540 ไปครองได้)

 

 

‘ตุ้ม’

หมิว-ลลิตา ปัญโญภาส

เรื่องตลก 69 (2542), พลอย (2550)

 

ตอนนั้นเอา ฝัน บ้า คาราโอเกะ ไปฉายที่อังกฤษ เขาเชิญเรากับนักแสดงไป เฟย์ก็ไปด้วย พอฉายหนังเสร็จ มีรอบตอบคำถาม หมิวก็ไปดู เพราะตอนนั้นเขาไปเรียนที่อังกฤษ เขากับเพื่อนก็มาสวัสดีเรา ตอนแรกเรายังไม่รู้เลยว่าเป็นหมิว เพราะเคยเห็นแต่ในทีวี ซึ่งเขาก็เป็นอีกแบบหนึ่ง

 

 

…ต้องเข้าใจว่าตอนนั้นหมิวเขาดังมาก แต่ดังในฐานะนางเอกแบบเป็นนางฟ้า เป็นคนดี บทของเขาไม่เคยฆ่าใคร ระหว่างเดินออกจากโรงที่ฉายเราก็เลยเดินคุยกับหมิวไป เออ หมิว เรามีหนังเรื่องหนึ่ง เขียนบทอยู่ หมิวสนใจไหม แต่ว่าบทมันไม่ได้เป็นแบบหมิวเลย พอเล่าให้เขาฟังคร่าวๆ หมิวบอกว่าส่งบทมาสิพี่ พอกลับมาเมืองไทย เราก็เอามาเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนยังบอกอยู่เลยว่า ไอ้เหี้ย หมิวเขาคงเล่นให้หรอกมึง (หัวเราะ) แต่พอเขียนบทเสร็จเราก็ส่งไปให้เขาที่อังกฤษ พออ่านเสร็จเขาก็บอกเลยว่าจะเล่น อยากทำ เรารอจนเขากลับมาเมืองไทยแล้วก็เริ่มต้นถ่าย เรื่องตลก 69

 

 

นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้ทำงานกับนักแสดงที่เป็นโปรเฟสชันนัลจริงๆ ก่อนหน้านั้นตอนทำหนังเรื่องแรกอย่าง เฟย์ อัศเวศน์, เร แมคโดนัลด์ มันไม่มีใครโปรเฟสชันนัลสักคน แต่แล้วพอได้มากำกับนักแสดงมืออาชีพ โอ้โห กูเข้าใจแล้วว่ะ คนพวกนี้แม่งเก่งจริง แม่งทำให้ชีวิตผู้กำกับของเราง่ายขึ้นเยอะเลย (หัวเราะ)

 

 

‘สะเดา’

อุ้ม-สิริยากร พุกกะเวส  

มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544)  

 

ตอนทำ เรื่องตลก 69 หนังมันได้รางวัลเยอะเหมือนกัน แล้วมีรางวัลหนึ่งที่ต้องเข้าไปรับในวัง (รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ประจำปี 2542 สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม) ซึ่งปีนั้นอุ้มเขาก็ได้รับรางวัลเหมือนกัน (รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ประจำปี 2542 ตุ๊กตาเงินดาวรุ่งฝ่ายหญิงจากภาพยนตร์เรื่อง โคลนนิ่ง คนก๊อปปี้คน) คือก่อนหน้านั้นเราก็ไม่รู้จักเขา แต่ได้เห็นหน้าเขาตอนที่ไปรับรางวัล

 

 

ทีนี้พอถึงตอนเขียนบท มนต์รักทรานซิสเตอร์ เขียนถึง ‘สะเดา’ เมียไอ้แผน เราก็เห็นเป็นอุ้มเว้ย เราเห็นสะเดาเป็นคนนี้ อยากให้เป็นคนนี้ ทั้งที่ตอนนั้นเราไม่รู้จักอุ้มเลย ไม่รู้จักด้วยว่าเขาชื่ออะไร ก็เลยไปถามเพื่อนว่านักแสดงที่มีไฝตรงนี้ คนที่เขาเล่นละครเรื่อง สี่แผ่นดิน เขาชื่ออะไร เพื่อนก็บอกมาว่าอุ้ม สิริยากร ใช่ไหม พอเราบอกว่าใช่ๆ เพื่อนเราบอก ไอ้อุ้มมันจะมาเล่นเป็นผู้หญิงบ้านนอกได้ไง ไอ้เหี้ย แม่งไฮโซฉิบหาย อ๋อเหรอ เราไม่รู้ แต่มันปักใจไปแล้วว่าเป็นคนนี้ก็เลยเลือกเขา แล้วเราก็ใช้วิธีนี้มาเรื่อย  

 

 

‘น้อย’

นุ่น-ดารัณ บุญยศักดิ์

Last Life in the Universe เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (2546)

 

ตอนทำ Last Life in the Universe เราไปแคสต์พี่สาวก่อน (ดารัณ บุญยศักดิ์) ไอ้นุ่นเนี่ยเราไม่รู้จักเลย ตอนนั้นนุ่นเขาลาวงการไปเรียบร้อยแล้ว เขาเบื่อวงการมาก ช่วงนั้นน้องเขาก็ดังขึ้นมา (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ส่วนเขาไปเรียนทำอาหารอยู่ที่วิทยาลัยในวังหญิง

 

 

เราไปคุยกับเขาแล้วชอบหน้ามาก หน้าเขาโคตรเศร้าเลย ตาโคตรเศร้าเลย โอ้โห คนนี้แม่งใช่ มันเหมาะกับบทนี้มาก เราชวนเขา แต่ตอนแรกเขาก็บอกไม่อยากมาเล่น เพราะถ้าเขาจะมาเล่น เขาต้องลาออกจากโรงเรียนนี้ ซึ่งตอนนั้นเขาอยากจะไปมีอาชีพเป็นคนทำกับข้าว ถ้าอย่างนั้นก็คิดดูแล้วกัน แต่จะให้เราเลื่อนการเปิดกล้องหนังออกไปก็ไม่ได้ เพราะดาราญี่ปุ่นมันเป็นหลัก ทาดาโนบุ  อาซาโน่ มีเวลาให้แค่นั้น

 

 

นุ่นก็บอกว่าเดี๋ยวอาทิตย์นึงให้คำตอบ ถึงเวลาเขาก็บอกว่าเล่น แล้วก็ไปลาออกจากโรงเรียน ตอนหลังเราไปรู้มาอีกว่าเขามีน้องสาวชื่อพลอย งั้นก็เอาน้องสาวมาเล่นด้วยเลย เพราะในเรื่องมันต้องเป็นพี่น้องกันอยู่แล้วนี่ งั้นก็เล่นด้วยกันจริงๆ ไปเลย ตอนนั้นพลอยอายุ 17 เองมั้ง เขาดังมาก กำลังพีกในเรื่องของความเซ็กซี่ นึกออกไหม

 

 

‘พลอย’

สายป่าน-อภิญญา สกุลเจริญสุข

พลอย (2550)

 

เรื่อง พลอย เราได้กลับมาร่วมงานกับหมิวอีก แต่กลายเป็นว่าคนที่โดดเด่นที่สุดกลับเป็นไอ้เด็กคนหนึ่งที่ไม่มีใครรู้จักเลย คือทีมไปแคสต์สายป่านมาจากไหนก็ไม่รู้ฮะ (ยิ้ม) เขาไปเจอมันเดินอยู่ตามห้างที่ไหนก็ไม่รู้ เทปแคสติ้งครั้งแรก ทีมงานเขาแคสต์มาได้ 7-8 คน สายป่านแม่งดันเป็นคนแรกในเทปนั้น พอเปิดแล้วนั่งดูกับทีมงาน เห็นแม่งเล่นครั้งแรกแล้วตกใจเลย เฮ้ย ทำไมมันเหมือนที่กูคิดได้ขนาดนี้วะ ปกติมันไม่มีหรอกฮะที่ใครจะมาเล่นได้เหมือนที่คิดไว้ในหัว มันต้องอะแดปต์เอา แต่นี่แม่งเหมือนเลย แล้วมันเป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้ เชื่อไหมว่าพอดูเทปแคสติ้งของมันจบนะ ไอ้ที่เหลืออีก 7 คนไม่ได้ดูเลยฮะ แล้วเราก็เก็บคนนี้เอาไว้ก่อน เดี๋ยวผ่านไปสักอาทิตย์ค่อยกลับมาดูเทปอีกที ถ้าความรู้สึกนี้มันยังอยู่ก็เอาเลย ซึ่งพอเอากลับมาดูใหม่มันก็ยังใช่อยู่จริงๆ  

 

 

แล้วตอนสายป่านเขามากองถ่ายก็ไม่ผิดหวังเลยฮะ ตั้งแต่เข้ากองวันแรกเลยนะ ไม่มีอะไรทำให้เธอหวั่นไหวได้เลย มาถึงก็แสดงโป้งป้าง หมิวเครียดถึงขั้นว่าขอคุยกับเรา “พี่ต้อม หมิวมีความลำบากใจ” คือในเรื่องหมิวต้องเล่นคู่กับพี่ใหญ่ (พรวุฒิ สารสิน) ที่เล่นเป็นสามี ซึ่งก็ไม่ใช่มืออาชีพเลย กับอีกคนคือต้องเล่นกับสายป่าน เด็กคนนี้เล่นด้วยแล้วน่ากลัวมาก ซึ่งเด็กคนนี้มันน่ากลัวมาก แล้วมันไม่กลัวใครเลยจริงๆ ทุกคนในกองถ่ายงงหมดว่ามันเป็นใครมาจากไหนวะ ทำไมมันทำได้แบบนี้ แล้วทำไมมันไม่แคร์ใครเลย เล่นผิดเล่นถูกไม่ใช่เรื่องของกู มึงจัดการกันเอง (หัวเราะ)

 

 

หมิวก็เลยมีความประหวั่น เราก็เลยบอกว่าดีแล้วหมิว รักษาความรู้สึกนี้ไว้ให้อยู่ตลอดการถ่ายทำแล้วกัน เพราะในเรื่อง พลอย บทของหมิวมันต้องเป็นผู้หญิงที่หมดความมั่นใจ ซึ่งมันมีผลมากกับหนัง แล้วพอถ่ายออกมามันก็ได้อย่างนั้นจริงๆ

 

คือตอนนั้นสายป่านก็ยังแสดงไม่เป็นหรอก เพียงแต่สัญชาตญาณของเขามันดีมาก แล้วเห็นเลยว่ามันมีพรสวรรค์แบบที่พระเจ้าให้มาจริงๆ ส่วนปัจจุบันนี้ไม่ต้องพูดถึงนะ สายป่านเขาไปอีกระดับหนึ่งแล้ว เก่งด้วย เทคนิคก็ดี เลยยิ่งไปกันใหญ่ ตอนนี้เรียกว่าถ้าใครอยากได้นักแสดงที่ไว้ใจได้ก็ต้องเขาเลยฮะ

 

 

‘เมย์’

กิ๊บซี่-วนิดา เติมธนาภรณ์

นางไม้ (2552)

 

เรื่องนี้ยิ่งไปกันใหญ่ กิ๊บซี่นี่มาจากไหนไม่รู้ เราไม่เคยรู้จักเลยว่าวง Girly Berry คืออะไร แล้วตลกมาก ในจำนวนผู้หญิงที่ทีมงานแคสต์มาทั้งหมด 7-8 คนเพื่อให้เราดูเนี่ย เขาเป็นคนเดียวที่คาแรกเตอร์ไม่ตรงกับบทเลย

 

ตอนแรกทีมแคสติ้งเขาไม่ได้ให้เราดูด้วย เขาเอาอีก 7 คนที่คาแรกเตอร์มันตรงกับบทที่เขียนมาให้ดู แต่พอดูเสร็จเราไม่ชอบสักคน รู้สึกว่ามันแบนๆ เบื่อๆ ไม่น่าสนใจ เราก็เลยบอกว่าหาใหม่เถอะ อีกสักชุดหนึ่ง แคสติ้งเขาก็ถามว่าแล้วอยากได้แบบไหน ที่แคสต์มา 7 คนนี่มันไม่ดีตรงไหน เราบอก 7 คนที่แคสต์มาดีทุกคนเลย สวย หน้าตาดี ตรงตามบททุกอย่าง แต่มีอะไรก็ไม่รู้ที่เรารู้สึกว่ามันเบื่อๆ เอาเป็นว่าไปหามาใหม่ หายังไงมาก็ได้ (ยิ้ม) แคสติ้งเขาก็ไปถ่ายรูปกิ๊บซี่ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่มันจะชอบมีคอลัมน์เล็กๆ เป็นกอสซิปดารา แล้วส่งมาให้ดูว่าคนนี้เป็นยังไง เราดูแล้วก็คิดว่า เฮ้ย ไม่เลวเหมือนกันนะ มีอะไรน่าสนใจ ก็เลยเรียกกิ๊บซี่มาแคสต์

 

 

ถึงเวลาพอเราเปิดดูเทป โอ้โห คนนี้แม่งโคตรน่าสนใจเลย กูนั่งดูไปได้ 2 ชั่วโมง ไม่ได้สวยนะ แต่แม่งโคตรมีอะไรอยู่ข้างหลังสายตาคู่นั้นเลย สายตาเขาเหมือนไปทำอะไรผิดมา กิ๊บซี่เขาเหมือนมีความผิดอยู่ในใจ แต่ซ่อนไว้ ไม่อยากให้ใครรู้ เราชอบมาก แต่คาแรกเตอร์มันไม่ตรงกับบท เราก็จัดแจงเปลี่ยนบทให้เลยฮะ เขียนใหม่เพื่อให้ตรงกับคาแรกเตอร์ของเขาให้ได้ แล้วพอหนังเรื่อง นางไม้ ออกมา การแสดงของกิ๊บซี่นี่เรียกว่าคนแม่งงงเลย

 

แล้วเราค้นพบว่ากิ๊บซี่เป็นคนโคตรฉลาด ตลกด้วย แม่งเล่าเรื่องโจ๊กในกองถ่าย คนหัวเราะกันขี้แตกเลย คือเป็นคนเฟี้ยวจริงๆ แจ๋วมาก

 

 

‘อริณ’

คริส หอวัง

ฝนตกขึ้นฟ้า (2554)

 

ครั้งหนึ่งเราเคยไปถ่ายหนังสั้น แล้วเอาพลอย หอวัง น้องสาวเขามาเล่น คือช่วงที่ถ่ายทำกันอยู่ คริสเขาแวะมาหาน้องที่กองถ่าย เราเลยได้รู้จักกัน คุยกันแล้วรู้สึกว่าคนนี้แม่งน่าสนใจเหมือนกันเว้ย เขาเป็นนักเต้น เป็นครูสอนบัลเลต์ ชอบขาเขา ตีนเขา มือเมอเราชอบหมด พอจะทำ ฝนตกขึ้นฟ้า ก็เลยโทรไปหา บอกว่าสนใจมาร่วมงานกันไหม แล้วเขาก็ตอบตกลง แต่ค่าตอบแทนนี่ไม่ได้พูดถึงเลยนะฮะ

 

 

‘วิยะดา’

พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์

Samui Song ไม่มีสมุยสำหรับเธอ (2561)

 

ลองคิดดูว่าถ้าต้องทำหนังที่ตัวละครแม่งเป็นดาราละครที่ชีวิตไม่ได้ราบรื่นนัก คือชีวิตเหี้ยหน่อย แล้วก็ไม่ได้เป็นคนน่ารักมาก ชั่วโมงนี้แม่งไม่มีใครเหมาะเท่าเฌอมาลย์แล้ว เพราะเฌอมาลย์เนี่ยได้รับก้อนหินพอๆ กับดอกไม้เลยนะ คือในขณะที่มีคนชื่นชมก็มีคนปาก้อนหินใส่เขาด้วย แต่พลอยเนี่ย ไม่ว่าตอนอยู่นอกกล้องจะเป็นยังไง พอก้าวเข้ามาหน้ากล้องปั๊บแม่งเป็นอีกคนหนึ่งเลย อย่างซีนที่อารมณ์มันซับซ้อนมากๆ ผัวะเดียวเล่นได้เลย คือมันมีพรสวรรค์จริงๆ

 

 

อีกอย่างคือนอกจากความเก่ง กล้องชอบหน้ามัน พอพลอยมันยืนหน้ากล้องปั๊บนะ โอ้โห โคตรน่าดู แล้วไม่ใช่ความสวยนะที่น่าดู มันเป็นไอ้ความเหี้ย ความอะไรต่างๆ ที่ออกมาแล้วมันน่าดูมาก ข้างในกล้องมันมีเสน่ห์จริงๆ

 

FYI
  • ผลงานภาพยนตร์ไทยเรื่องยาวของ ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง
    – ฝัน บ้า คาราโอเกะ (2540) : เฟย์ อัศเวศน์
    – เรื่องตลก 69 (2542) : ลลิตา ปัญโญภาส
    – มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544) : สิริยากร พุกกะเวส
    – เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (2546) : ดารัณ บุญยศักดิ์
    – คำพิพากษาของมหาสมุทร (2549) : คังแฮจอง 
    – พลอย (2550) : อภิญญา สกุลเจริญสุข
    – นางไม้ (2552) : วนิดา เติมธนาภรณ์
    – ฝนตกขึ้นฟ้า (2554) : คริส หอวัง
    – Samui Song ไม่มีสมุยสำหรับเธอ (2561) : เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์
  • พอลล่า เทเลอร์ เกือบจะได้เป็น ‘นางเอกของต้อม’ ในผลงานหนังยาวร่วมทุนต่างชาติ คำพิพากษาของมหาสมุทร หรือ Invisible Waves (2549) อยู่แล้วเชียว แต่ด้วยตางรางงานที่ไม่ลงตัว ลงท้ายบทนำเลยตกเป็นของ คังแฮจอง นางเอกสาวชาวเกาหลีที่กำลังโด่งดังจาก Old Boy ของผู้กำกับ ปาร์คชานวุก เป็นเอกเล่าความเกือบไปแล้วในช่วงเวลานั้นให้ฟังว่า “ตอนนั้นสนิทกับพอลล่า ไปรู้จักกันโดยบังเอิญ เพราะเขาอยากจะให้เราไปช่วยทำอะไรสักอย่าง นัดคุยกันแล้วก็ถูกคอ พอจะทำ Invisible Waves เลยนึกถึงเขา แต่พอดีเขาไม่สะดวก ก็เลยกลายเป็นนางเอกเกาหลี เพราะหนังมันมีเกาหลีมาร่วมทุนด้วย ฝั่งนั้นเขาเลยคิดว่าถ้าเกิดมีนางเอกเป็นเกาหลี เขาก็จะโปรโมตในประเทศเขาได้ดี”
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X