×

ใจจำลอง แม้อดีตจะผ่านไปนานเพียงใด แต่ ‘ความทรงจำ’ จะทิ่มแทงผู้คนในปัจจุบันเสมอ

29.06.2022
  • LOADING...
ใจจำลอง

ใจจำลอง (Come Here) ภาพยนตร์ทดลองเรื่องล่าสุดของ ใหม่-อโนชา สุวิชากรพงศ์ ผู้กำกับหญิงชาวไทยที่เคยพา ดาวคะนอง (2016) ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในงานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 26 จากการที่ตัวภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องที่แตกแขนงกัน แต่มีจุดร่วมคือการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2519 หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘เหตุการณ์ 6 ตุลา’ 

 

และในคราวนี้ ใหม่ อโนชา กลับมาอีกครั้งพร้อมกับการทดลองใหม่ ที่เธอรวบรวมเอาความทรงจำจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เคยประสบพบเจอมาในชีวิต ออกมาถ่ายทอดและเล่าสู่กันฟังผ่านตัวละครที่เธอรู้สึกสนใจ โดยได้ ศรภัทร ภัทราคร, ภูมิภัทร ถาวรศิริ, สิราษฎร์ อินทรโชติ, อภิญญา สกุลเจริญสุข และ เววิรี อิทธิอนันต์กุล มาร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวความทรงจำเหล่านั้นให้กับผู้ชมได้รับชม

 

 

โดยภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มเพื่อนนักแสดงละครเวที 4 คนที่ไปพักผ่อนกันที่บ้านพักริมน้ำในจังหวัดกาญจนบุรี สถานที่ที่มีแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง ทางรถไฟสายมรณะ ที่สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ในขณะเดียวกันภาพยนตร์ก็บอกเล่าเรื่องราวของหญิงสาวที่วิ่งหลงทางอยู่ในป่า หลังตามหาเพื่อนที่หายตัวไป แล้วทั้งสองเหตุการณ์นี้ก็อาจจะบอกเล่าเชื่อมโยงเข้ากับมุมมองทางประวัติศาสตร์อันแสนเจ็บปวดในอดีต

 

 

ภาพยนตร์ของอโนชายังคงแนวทางเดิมของเธออย่างการเล่าเรื่องที่สอดแทรกประเด็นทางการเมืองผ่านท้องเรื่องและพื้นหลังของภาพยนตร์ แต่เพียงคราวนี้มันถูกถ่ายทอดและเล่าออกมาในรูปแบบของ ‘ช่วงเวลา’ และ ‘ความทรงจำ’ ที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับความรักในประเทศไทยร่วมสมัย เมื่อแนวคิดเรื่องความรักกลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ความรักถูกนำไปยึดโยงกับประเทศชาติจนแยกขาดจากกันไม่ได้ แรงกดดันทางสังคมทำให้การจะรักตัวเอง ครอบครัว และเพื่อนฝูง ไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะแนวคิดของความรักถูกนำไปใช้อธิบายความสัมพันธ์แบบเคารพต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นคือส่วนสำคัญที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการที่จะนำเสนอให้กับผู้ชมได้ขบคิดและตั้งคำถาม

 

 

แต่ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่อาจทำให้สิ่งที่เหล่านั้นไม่สามารถส่งต่อไปสู่ผู้ชมได้ ก็คือวิธีการนำเสนอเนื้อหาของอโนชาที่เลือกที่จะนำเสนอสิ่งเหล่านั้นออกมาในรูปแบบของ ‘จิ๊กซอว์’ ที่กระจัดกระจายให้ผู้ชมเป็นคนปะติดปะต่อเรื่องราวเหล่านั้นกันเอาเองโดยปราศจากคู่มือและความช่วยเหลือใดๆ ส่วนหน้าตาของจิ๊กซอว์ตอนประกอบเสร็จจะออกมาเป็นแบบไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ชมที่เป็นคนต่อเช่นกัน 

 

ซึ่งหากมองอีกมุมหนึ่งมันก็อาจจะเหมือนเรื่องราวของเราทุกคน ที่เวลาเราเล่าเรื่องราวต่างๆ ออกมา มันเป็นเรื่องของเรา แต่ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ใช่ เพราะคนจะมองและตัดสินสิ่งที่เราเล่าออกมาอย่างไรนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ที่รับฟังอยู่ดี ก็คงเฉกเช่นเดียวกับวีธีการนำเสนอของอโนชาที่เล่าเรื่องราวของเธอผ่านตัวละครและสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้ชมได้เป็นคนตัดสินเรื่องราวเหล่านั้นด้วยตาของตัวเอง ซึ่งหากมองในมุมนี้ก็อาจจะพอคิดได้ว่าวิธีการนำเสนอของอโนชานั้นดูสมเหตุสมผลและมีนัยมากขึ้น

 

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นด้วยความที่ ใจจำลอง ไม่มีบทภาพยนตร์ที่ชัดเจน (ผู้กำกับเคยกล่าวเอาไว้) มันก็อาจส่งผลให้ผู้ชมบางส่วนไม่สามารถจับต้นชนปลายในสิ่งที่ผู้กำกับต้องการจะนำเสนอได้ จนอาจถึงขั้นพานเกลียดภาพยนตร์เรื่องนี้ไปเลย และด้วยความยาวเพียงแค่ 69 นาที ก็อาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ยังไม่สมบูรณ์ และขาดองค์ประกอบต่างๆ ไปพอสมควร

 

แต่หากเราได้รับชม ใจจำลอง แล้ว เราก็อาจจะพออนุมานได้ว่า อโนชาไม่ได้ต้องการให้ผลงานเรื่องล่าสุดของเธอกลายเป็นภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ที่เล่นเนื้อหาอะไรเกินตัว เธอเพียงแค่ต้องการให้ ใจจำลอง เป็นภาพยนตร์ที่มีความเรียบง่าย ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ใฝ่สูงและทะเยอทะยานเหมือนงานชิ้นก่อนๆ อย่าง เจ้านกกระจอก (2009) หรือ ดาวคะนอง (2016) 

 

สำหรับ ใจจำลอง บางทีอโนชาอาจเพียงแค่อยากให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเหมือนโลกเล็กๆ ใบหนึ่งที่เธอสามารถเอาไว้ใช้เล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต และเล่นเกมปะติดต่อปะต่อสิ่งเหล่านั้นกับผู้ชมเท่านั้นเอง  

 

 

ซึ่งนักแสดงก็สามารถถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นออกมาได้เป็นอย่างดี ถึงแม้จะมีบางส่วนที่ดูมีปัญหาติดขัดอยู่บ้าง โดยเฉพาะการเล่นใหญ่เกินเบอร์ที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยเห็นถึงความหมายของการกระทำเหล่านั้นสักเท่าไร หากเปรียบเทียบกับสารตั้งต้นของภาพยนตร์อย่างการที่ตัวละครเป็นนักแสดงละครเวทีแล้ว การแสดงแบบเล่นใหญ่คงไม่ได้ผิดอะไรเลย มันออกจะถูกต้องเสียด้วยซ้ำ เพราะละครเวทีมันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘มุมกล้อง’ การเล่นให้ ‘มาก’ เพื่อขับอารมณ์ออกมาให้ดูเกินจริงจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารมวลอารมณ์ของตัวละครให้แก่ผู้ชมในวงกว้าง  เพียงแต่การกระทำเหล่านั้นมันผิดวิสัยของการแสดงภาพยนตร์โดยทั่วไปที่ต้องเล่นให้ ‘น้อย’ กว่าละครเวที เพราะเวลาที่ภาพและการแสดงเหล่านั้นถูกขยายขึ้นบนจอใหญ่ ความล้นทะลักทางการแสดงของพวกเขาทุกคนจะถูกมองเห็นโดยผู้ชมได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อมันปราศจากความหมายใดๆ ทำให้ส่วนที่ดีที่สุดอย่างนักแสดงที่ควรเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องราวความสัมพันธ์ของตัวละครทำออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ถึงกระนั้นภาพยนตร์ก็ยังมีงานภาพและเสียงที่ยังคงพอจะเป็นเสาหลักคอยค้ำยันให้ผู้ชมมีความตื่นเต้นลุ้นละทึกไปกับเรื่องราวความสัมพันธ์ของพวกเขาได้

 

 

อีกสิ่งหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือความแอ็บสแตรกต์ของภาพยนตร์ ที่สามารถเป็นทั้งเครื่องมือที่ดึงดูดผู้ชมและขับไล่ผู้ชมในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ภาพยนตร์เลือกที่จะใช้ภาพขาวดำในการสื่อสารและเสริมอารมณ์เรื่องราวให้กับผู้ชม ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในบททดสอบสำคัญสำหรับผู้ชมพอสมควร แต่ถึงกระนั้นภาพยนตร์ก็มีความชัดเจนในโครงสร้าง และเนื้อหาที่ยากเกินกว่าจะปฏิเสธแนวทางของมันได้ 

 

จากทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา หากเรามองในมุมกลับกัน คำว่า ‘จำลอง’ หมายถึงการปั้นแต่งสิ่งต่างๆ ขึ้นมา และบางทีความรู้สึกของเรานั้นก็อาจจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จงใจปั้นแต่งขึ้นเพื่อจำลองความรู้สึกของผู้ที่ได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นได้ 

 

 

ในภาพรวมแล้วแม้ ใจจำลอง จะไม่ใช่ผลงานการทดลองที่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรของอโนชา แต่มันก็เป็นเหมือนใบเบิกทางให้เธอได้มีโอกาสทำงานประเภทนี้ให้กับผู้ชมได้รับชมมากยิ่งขึ้น และเมื่อถึงเวลานั้นผู้ชมอาจจะต้องตัดสินงานของเธออีกครั้งหนึ่งด้วยตาคู่นี้ของตัวเอง เฉกเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้ง ดาวคะนอง 

 

‘ใครกันล่ะที่เป็นเจ้าของเรื่อง ใครกันล่ะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ในภาพยนตร์ เรากำลังจำลองใจของใครอยู่ บางครั้งคำว่า ‘เจ้าของ’ อาจจะเป็นเราทุกคนในที่นี้ หรือบางทีคำคำนั้นอาจจะไม่มีอยู่จริงมาตั้งแต่แรกแล้วก็ได้’

 

ร่วมจำลองความทรงจำผ่านห้วงเวลาและพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ใน ใจจำลอง (Come Here) ได้แล้ววันนี้ที่ House Samyan

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising