×

เช็กสถานการณ์ล่าสุด ‘ฝีดาษลิง’ ไทยพร้อมรับมือแค่ไหน

31.05.2022
  • LOADING...
ฝีดาษลิง

ปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วย ‘โรคฝีดาษลิง’ ในประเทศไทย ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 จากการแถลงข่าวของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวจากยุโรปและมีผื่นขึ้นตามร่างกายซึ่งเข้าเกณฑ์ ‘ผู้ป่วยสงสัย’ จำนวน 3 ราย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบไวรัสฝีดาษลิง แต่เป็นไวรัสโรคเริม ทว่าการระบาดก็ใกล้ไทยเข้ามาเรื่อยๆ โดยพบนักเดินทางจากยุโรป 1 รายแวะพักเครื่องที่ไทย 2 ชั่วโมง ก่อนเดินทางไปยังออสเตรเลีย แล้วพบว่าป่วยเป็นโรคฝีดาษลิง

 

สถานการณ์การระบาดของโรคนี้ทั่วโลกเป็นอย่างไร และไทยมีมาตรการรับมืออะไรบ้าง

 

การระบาดของโรคฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ พบระบาดเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ ในแถบแอฟริกากลางและตะวันตก 4 ประเทศ ได้แก่ ดีอาร์คองโก, แอฟริกากลาง, แคเมอรูน, และไนจีเรีย ถึงแม้จะมีชื่อ ‘ลิง’ ห้อยท้าย (เพราะตรวจพบครั้งแรกในลิง) แต่ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่สามารถติดเชื้อไวรัสและแพร่เชื้อให้คนได้ เช่น กระรอก กระต่าย หนู หากสัมผัสกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ รวมถึงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ

 

ส่วนการระบาดนอกทวีปแอฟริกามีโอกาสเกิดจาก 2 กรณี คือ 

  • การติดต่อจากสัตว์ไปสู่คน เช่น สัตว์ที่นำเข้าจากแถบแอฟริกากลางและตะวันตก โดยอาจแพร่ให้กับสัตว์เลี้ยงก่อนแพร่ไปสู่คนอีกที
  • การติดต่อจากคนไปสู่คน เช่น นักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับมาจากแถบแอฟริกากลางและตะวันตก แล้วแพร่เชื้อให้กับคนที่สัมผัสสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ ตุ่มหนอง หรือสิ่งของที่ปนเปื้อน จึงมักพบการแพร่เชื้อในครอบครัวและบุคลากรทางการแพทย์

 

การระบาดที่พบในขณะนี้น่าจะเป็นกรณีหลัง การถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสจากผู้ติดเชื้อในหลายประเทศ เช่น เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี โปรตุเกส และสหรัฐอเมริกา พบว่าใกล้เคียงกับสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งมีความรุนแรงต่ำกว่าอีกสายพันธุ์หนึ่ง (อัตราป่วยตายต่ำกว่า 1%) และใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่เคยพบระบาดนอกทวีปแอฟริกาในปี 2561 และ 2562 ดังนั้นผู้ป่วยรายแรกในปีนี้น่าจะสัมผัสกับสัตว์ที่นำเข้าหรือเดินทางกลับมาจากแอฟริกาตะวันตกแล้วแพร่เชื้อต่อในประเทศ

 

แต่เนื่องจากผู้ป่วยหลายรายไม่มีความเชื่อมโยงกัน จึงเป็นไปได้ว่าไวรัสติดต่อจากคนไปสู่คนในยุโรปมาระยะหนึ่งแล้วจนตรวจพบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นในช่วงนี้ ข้อมูลระบาดวิทยาผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงทั่วโลกจำนวน 123 ราย เมื่อสัปดาห์ก่อน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย (99.2%) อายุระหว่าง 20-59 ปี

 

สถานการณ์การระบาดทั่วโลกล่าสุด เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2565 องค์การอนามัยโลกรายงานว่า พบผู้ป่วยยืนยัน 257 ราย และผู้ป่วยสงสัย 120 ราย แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต กระจายในหลายภูมิภาค ได้แก่ อเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย รวม 23 ประเทศ โดยประเทศที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  • สหราชอาณาจักร 106 ราย
  • โปรตุเกส 49 ราย
  • แคนาดา 26 ราย
  • สเปน 20 ราย
  • เนเธอร์แลนด์ 12 ราย

 

มาตรการในสหราชอาณาจักร

สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UKHSA) รายงานสถานการณ์การระบาดล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ว่าผู้ป่วยสะสมในอังกฤษมีจำนวน 101 ราย และพบผู้ป่วยเพิ่ม 3 รายในสกอตแลนด์ 1 รายในเวลส์ และ 1 รายในไอร์แลนด์เหนือ รวมผู้ป่วยในสหราชอาณาจักร 106 ราย ประเมินความเสี่ยงของประชาชนว่ายังอยู่ในระดับ ‘ต่ำ’ แต่แนะนำให้ประชาชนสังเกตอาการผื่นผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นจุด แผล หรือตุ่มน้ำตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

 

UKHSA ยังระบุอีกว่า “ถึงแม้คำแนะนำดังกล่าวจะเป็นคำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป แต่เนื่องจากผู้ป่วยที่พบส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่เป็นเกย์ ไบเซ็กชวล และชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย จึงขอให้ประชาชนกลุ่มนี้สังเกตอาการตนเองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อเพิ่งมีคู่นอนใหม่” หากมีความสงสัยให้ติดต่อสายด่วนระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) หรือหน่วยงานด้านสุขภาพในท้องถิ่น

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 หน่วยงานด้านสาธารณสุขของทั้ง 4 ประเทศในสหราชอาณาจักรร่วมกันออกแนวทางสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ประกอบด้วย

 

  • ผู้ป่วยสงสัย/เข้าข่าย/ยืนยันควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่นจนกว่าผื่นจะหายและสะเก็ดจะแห้ง ผู้ป่วยสามารถลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อด้วยมาตรฐานการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ รวมถึงการซักเสื้อผ้าและผ้าปูเตียงด้วยน้ำยาซักฟอกในเครื่องซักผ้า
  • ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างที่มีอาการตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ในขณะที่ยังไม่มีหลักฐานว่าไวรัสแพร่เชื้อผ่านสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศได้หรือไม่ ผู้ป่วยควรใช้ถุงยางอนามัยเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์หลังติดเชื้อ โดยจะมีการปรับปรุงเมื่อมีหลักฐานเพิ่มเติม
  • หากผู้ป่วยสงสัย/เข้าข่าย/ยืนยันจำเป็นต้องเดินทางไปพบแพทย์ ควรสวมเสื้อผ้าคลุมผื่น สวมหน้ากาก และหลีกเลี่ยงระบบขนส่งสาธารณะถ้าเป็นไปได้
  • หากเป็นไปได้ บุคคลากรทางการแพทย์ที่ตั้งครรภ์หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องไม่ควรทำงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยสงสัยหรือยืนยันโรคฝีดาษลิง 
  • อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลสำหรับบุคลากรฯ ในการดูแลผู้ป่วยยืนยัน ได้แก่ หน้ากาก FFP3 (มาตรฐานสูงกว่า N95) ชุดคลุม ถุงมือ และอุปกรณ์ป้องกันตา ส่วนในการดูแลผู้ป่วยเข้าข่าย/สงสัย ได้แก่ หน้ากากอนามัย ชุดกาวน์ ถุงมือ และอุปการณ์ป้องกันตา
  • สำหรับที่พักที่อาศัยอยู่รวมกัน เช่น เรือนจำ สถานที่พักพิงสำหรับคนเร่ร่อน ศูนย์อพยพ ควรแยกผู้ป่วยพักในห้องเดี่ยวและแยกห้องน้ำถ้าเป็นไปได้ และผู้สัมผัสใกล้ชิดควรได้รับการประเมินความจำเป็นในการได้รับวัคซีนโรคฝีดาษ

 

ทั้งนี้ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงควรสังเกตอาการตนเองและกักกันตนเองที่บ้านเป็นระยะเวลา 21 วัน นอกจากนี้ UKHSA ยังสั่งซื้อวัคซีนโรคฝีดาษ Imvanex ของบริษัท Bavarian Nordic จำนวน 20,000 โดส สำหรับฉีดให้ผู้สัมผัสใกล้ชิดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบบมีอาการและอาการรุนแรง

 

มาตรการในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงว่าคณะกรรมการวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีมติให้โรคฝีดาษลิงเป็น ‘โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง’ หมายถึงโรคติดต่อที่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ และจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่จัดเป็นโรคติดต่ออันตราย (เหมือนโควิด) เพราะยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศ ลักษณะการแพร่เชื้อต้องใกล้ชิดกันมาก เฉพาะกลุ่ม โดยยังไม่ระบาดเป็นวงกว้าง และเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงน้อย

 

ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเริ่มคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 โดยกำหนดนิยาม ‘ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค’ (Patient Under Investigation: PUI) เป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิงในประเทศ (Local Transmission) ภายใน 21 วัน ได้แก่ ประเทศในกลุ่มแอฟริกากลางและตะวันตก และประเทศนอกทวีปแอฟริกา ได้แก่ สหราชอาณาจักร สเปน และโปรตุเกส

 

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 นพ.จักรรัฐแถลงข่าวว่า ยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทย แต่มีกรณี ‘ผู้ป่วยสงสัย’ เป็นนักท่องเที่ยวจากยุโรปและมีผื่นขึ้นตามร่างกายจำนวน 3 ราย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบไวรัสฝีดาษลิง แต่เป็นไวรัสโรคเริม และกรณี ‘ผู้ป่วยยืนยัน’ เป็นนักเดินทางจากยุโรป 1 รายแวะพักเครื่องที่ไทย 2 ชั่วโมง จากนั้นเดินทางไปยังออสเตรเลีย ตรวจพบว่าเป็นโรคฝีดาษลิง มีผู้สัมผัสใกล้ชิดเป็นผู้โดยสารและลูกเรือ 12 ราย ยังไม่มีอาการป่วย

 

กรมควบคุมโรคประเมินความเสี่ยงของการติดต่อโรคฝีดาษลิงในประเทศไทยว่า ‘มีโอกาส’ พบผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศที่มีการรายงานผู้ป่วย เช่น ไนจีเรีย สหราชอาณาจักร แคนาดา สเปน โปรตุเกส จึงมีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ในประเทศไทย ดังนี้

 

  • เน้นการเฝ้าระวังโรคใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้เดินทางเข้าประเทศ, ผู้ป่วยรับการรักษาในโรงพยาบาล คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, และผู้ดูแลสัตว์ป่านำเข้าจากทวีปแอฟริกา
  • เตรียมพร้อมทางห้องปฏิบัติการ และการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  • เตรียมพร้อมทีมสอบสวนโรค
  • เตรียมพร้อมด้านเวชภัณฑ์ ยา วัคซีน และอุปกรณ์การแพทย์

 

แนวทางการเฝ้าระวังโรคภายในประเทศ

สำหรับแนวทางการเฝ้าระวังโรคแบ่งผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยสงสัย/เข้าข่าย/ยืนยันโรคฝีดาษลิง และกำหนดนิยามดังนี้

 

ผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษลิง หมายถึง ผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้

  • ไข้ > 38 องศาเซลเซียส หรือมีประวัติไข้ ร่วมกับอาการป่วยอย่างน้อย 1 อาการ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต
  • หรือมีผื่นกระจายตามใบหน้า ลำตัว ลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด
  • ร่วมกับประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา ภายใน 21 วันที่ผ่านมา ได้แก่
    • ประวัติเดินทางมาจาก/อาศัยอยู่ในประเทศที่มีการรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิงภายในประเทศ
    • ประวัติร่วมกิจกรรมในงานที่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง หรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสคลุกคลีกับผู้เดินทางจากต่างประเทศเป็นประจำ
    • ประวัติสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนำเข้าจากทวีปแอฟริกา

 

ผู้ป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษลิง หมายถึง ผู้ป่วยสงสัยที่มีประวัตสัมผัสใกล้ชิดดังต่อไปนี้

  • สัมผัสโดยตรงกับผิวหนังผู้ป่วย หรือสัมผัสสิ่งของที่อาจมีเชื้อปนเปื้อนของผู้ป่วย รวมถึงเสื้อผ้าผู้ป่วย
  • ผู้สัมผัสร่วมบ้านที่อาศัยอยู่ในห้องเดียวกันกับผู้ป่วย หรือใช้ห้องน้ำหรืออุปกรณ์ในห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย
  • ผู้สัมผัสที่อยู่ภายในห้องหรืออยู่ใกล้ผู้ป่วยฝีดาษลิงในระยะ 2 เมตร

 

ผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษลิง หมายถึง ผู้ป่วยสงสัยหรือเข้าข่ายที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธี RT-PCR ยืนยัน 

 

ประชาชนสามารถใช้เกณฑ์ข้างต้นประเมินความเสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงได้ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่พบการระบาดในประเทศ ประวัติการเดินทางจากประเทศเสี่ยง และการสอบสวนโรคเพื่อระบุผู้สัมผัสใกล้ชิดจึงมีความสำคัญ หากเข้าเกณฑ์ ‘ผู้ป่วยสงสัย/เข้าข่าย’ จะได้รับการตรวจหาเชื้อ รับการรักษา ตรวจสอบประวัติเสี่ยง สอบสวนโรค และพิจารณาแยกกักจนกว่าตรวจไม่พบเชื้อ ส่วน ‘ผู้ป่วยยืนยัน’ จะได้รับการรักษาและพิจารณาแยกกัก 21 วันนับจากวันเริ่มป่วย

 

ความพร้อมด้านวัคซีนของไทย

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าวัคซีน ‘โรคฝีดาษ’ หรือไข้ทรพิษ สามารถป้องกัน ‘โรคฝีดาษลิง’ ได้ 85% แต่เนื่องจากโรคฝีดาษถูกกำจัด และไทยยกเลิกการปลูกฝีไปตั้งแต่ พ.ศ. 2523 ผู้ที่เกิดหลังจากปีดังกล่าวจึงไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ ส่วนผู้ที่เคยรับการปลูกฝีก็ต้องรอผลการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันเมื่อระยะเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตามองค์การเภสัชกรรมได้แช่แข็งวัคซีนโรคฝีดาษไว้ประมาณ 10,000 โดส กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่ระหว่างตรวจสอบความปลอดภัยและศึกษาแนวทางการนำมาใช้

 

สำหรับความสงสัยว่าประชาชนทั่วไปจำเป็นต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ 5 องค์กรในประเทศไทยออกประกาศชี้แจงประเด็นนี้ว่า “ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปีน่าจะมีภูมิคุ้มกันโรคนี้จากการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ แต่ผู้ที่อายุน้อยกว่าจะไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่มีโอกาสที่เชื้อจะแพร่ระบาดมาถึงประเทศไทยได้น้อย จึงยังไม่มีความจำเป็นที่ประชาชนทั่วไปจะต้องเร่งรีบหาวัคซีนนี้” ทว่าหลายประเทศเริ่มสั่งจองวัคซีนเตรียมรับมือกับสถานการณ์การระบาดไว้แล้ว

 

โดยสรุปขณะนี้ทั่วโลกพบการระบาดของโรคฝีดาษลิง 23 ประเทศในหลายทวีป โดยเฉพาะในทวีปยุโรป ผู้ที่กำลังจะเดินทางไปควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นผิวในสถานที่สาธารณะ และล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ ผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับมาควรสังเกตอาการตนเอง 21 วัน หากมีอาการเข้าตามนิยามข้างต้น หรือผื่นขึ้นตามร่างกายควรไปพบแพทย์ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่นภายในบ้าน ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคยังไม่มีคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X