การมีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคนบน YouTube ถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ และในทางปฏิบัติมักจะหมายความว่า ‘ครีเอเตอร์’ สามารถหาทำเป็นอาชีพเพื่อหาเลี้ยงตัวเองได้จากแพลตฟอร์มดังกล่าว
ครีเอเตอร์ หรือที่เรียกว่า YouTuber สามารถสร้างรายได้จากหลายวิธี แต่เงินจากโฆษณาที่เล่นในวิดีโอมักถือเป็นรายได้ก้อนโต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- YouTube ประเทศไทย เผยคนไทยชมวิดีโอ ‘การเงิน’ เพิ่มขึ้นกว่า 100% คาราโอเกะ เกษตรกรรม และออกกำลังกาย ฮิตด้วย
- DAAT คาด ‘โฆษณาดิจิทัล’ ปี 2565 พุ่งถึง 27,040 ล้านบาท จับตา ‘TikTok’ แพลตฟอร์มมาแรง พบการใช้เม็ดเงินทะยานกว่า 654%
อังเดร จิคห์ (Andrei Jikh) ซึ่งเป็น YouTuber ด้านการเงินที่มีผู้ติดตามกว่า 1.7 ล้านคน สร้างรายได้จากโฆษณา 1.6 ล้านดอลลาร์ หรือราว 55 ล้านบาทในเวลาน้อยกว่า 3 ปี
ขณะที่ ทิฟฟานี่ หม่า (Tiffany Ma) YouTuber สายไลฟ์สไตล์ บอกกับ Insider ว่าเธอสร้างรายได้สูงถึง 11,500 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือราว 400,000 บาทจากโฆษณาในวิดีโอของเธอ
รายงานของ Insider ระบุว่า ในการเริ่มสร้างรายได้โดยตรงจาก YouTube ครีเอเตอร์ต้องมีผู้ติดตามอย่างน้อย 1,000 คน และชั่วโมงการรับชม 4,000 ชั่วโมงในปีที่ผ่านมา
เมื่อถึงเกณฑ์ดังกล่าวพวกเขาสามารถสมัครโปรแกรมพาร์ตเนอร์ของ YouTube ได้ ซึ่งช่วยให้พวกเขาเริ่มสร้างรายได้จากช่องของตนผ่านโฆษณา การสมัครรับข้อมูล และการเป็นสมาชิกของช่อง
สำหรับการดูโฆษณาทุกๆ 1,000 ครั้ง ผู้โฆษณาจะจ่ายเงินให้กับ YouTube ในราคาที่ตกลงกันไว้ โดย 45% จะเป็นของ YouTube และที่เหลือจะเป็นของ YouTuber
ตัวชี้วัดหลัก 2 ประการสำหรับการสร้างรายได้บน YouTube คืออัตรา CPM หรือจำนวนเงินที่ผู้โฆษณาจ่ายให้กับ YouTube ต่อการดูโฆษณา 1,000 ครั้ง และอัตรา RPM ซึ่งเป็นรายได้ที่ครีเอเตอร์ได้รับต่อทุกๆ 1,000 ครั้งต่อการดูวิดีโอ
เนื้อหาบางอย่างเช่น การเงินส่วนบุคคล และสกุลเงินดิจิทัล สามารถเพิ่มอัตราโฆษณาของครีเอเตอร์ได้โดยการดึงดูดผู้โฆษณาที่มีกำลังพร้อมจะจ่าย โดย “รายได้จากโฆษณาสำหรับคริปโตนั้นสูงกว่าสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเงินมาก เช่น บัตรเครดิต หรือธนาคาร” จิคห์กล่าวกับ Insider
แม้ว่าเนื้อหาไลฟ์สไตล์ของหม่าจะทำเงินได้น้อยลง แต่เธอก็ได้ใช้กลยุทธ์อื่นๆ เพื่อทำให้มีรายได้มากขึ้น เช่น “ในการเพิ่มประสิทธิภาพผู้ชมของคุณจริงๆ ฉันคิดว่าผู้ใช้ YouTube ควรใส่โฆษณา 3-4 รายการในวิดีโอ” เธอกล่าว
ปลายปีที่แล้ว YouTube ประเทศไทย ได้ออกมาเปิดเผยพฤติกรรมของคนไทยที่พบว่า คนไทยใช้เวลาในการรับชมวิดีโอประเภทการเงินเพิ่มขึ้นกว่า 100% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ระหว่างเดือนเมษายน 2563 และเมษายน 2564) ในขณะที่เวลาการรับชมวิดีโอประเภทคาราโอเกะบน YouTube เพิ่มขึ้นกว่า 70% นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรรมและออกกำลังกายที่ชมเพิ่มขึ้น 50%
โดยแพลตฟอร์ม YouTube มีช่องที่มีผู้ติดตามทะลุ 1 ล้านคน รวมกว่า 650 ช่อง ซึ่งเพิ่มขึ้น 200 ช่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือเฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้น 1 ช่องทุกๆ 2 วัน และช่องที่มีผู้ติดตามกว่า 1 แสนคน รวมแล้วกว่า 7,000 ช่อง
ข้อมูลจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) คาดการณ์ว่าเม็ดเงินลงทุนผ่านสื่อดิจิทัลจะเพิ่มมากขึ้นประมาณ 9% ในปี 2565 เป็น 27,040 ล้านบาท
Facebook ยังคงเป็นแพลตฟอร์มอันดับ 1 ที่แบรนด์ต่างๆ เลือกใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภค คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของเม็ดเงินลงทุนผ่านสื่อดิจิทัลทั้งหมด ตามมาด้วย YouTube คิดเป็นสัดส่วน 17% หรือราว 4,690 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2564 นั้นมีการใช้งบโฆษณากับ YouTube ทั้งสิ้น 4,195 ล้านบาท
ขณะที่ข้อมูลจาก Media Intelligence Group เผยว่า จำนวนผู้ใช้ YouTube ในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 38 ล้านราย โดยมีกลุ่มผู้ใช้ในทุกช่วงวัย แต่จะเติบโตในกลุ่มอายุ 35-55 ปี เหตุผลที่นิยมใช้ YouTube เพราะมีเนื้อหาที่หลากหลาย ตลอดจนชอบเนื้อหาด้านความบันเทิงและแรงบันดาลใจ (Inspiration)
อ้างอิง: