×

เมื่อ ‘กำไร’ ต้องมาก่อน ‘การออกแบบ’ เปิดบันทึกเบื้องหลังการอำลาของ โจนี ไอฟ์ และการเปลี่ยนแปลงแนวทางไปตลอดกาลของ Apple

29.05.2022
  • LOADING...
Apple

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ในความคิดของไอฟ์ Apple Watch ไม่ใช่แค่อุปกรณ์เทคโนโลยี แต่มันคือเครื่องประดับแฟชั่นที่ทั้งล้ำสมัย มีประโยชน์ มีเสน่ห์ และหรูหรา ในเวลาเดียวกัน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของตัวผลิตภัณฑ์นี้ให้เข้าถึงใจคนมากที่สุดและตรงที่สุด เขาต้องการเปิดตัวในเต็นท์สีขาวประหนึ่งงานแฟชั่นโชว์ ซึ่งใช้งบประมาณ 25 ล้านดอลลาร์ ที่แม้จะมีคนคัดค้านมากมาย แต่ ทิม คุก ยอมให้ตามคำขอ
  • เพียงแต่ยิ่งได้รับชัยชนะมากขึ้นเท่าไร ความรู้สึกในใจของดีไซเนอร์อัจฉริยะก็ยิ่งพบว่า จริงๆ แล้วเขาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ความรู้สึกนี้เริ่มเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์งานเปิดตัว Apple Watch ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกว่า แท้ที่จริงแล้วเขาไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากใครเลย
  • กระแสตอบรับในทางลบของ Apple Watch นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง เขาติดต่อคุกเพื่อแจ้งว่า เขาเหนื่อยและต้องการที่จะถอยจากการทำงาน แต่นั่นทำให้ซีอีโอเกิดความกังวลว่าผู้ถือหุ้นอาจจะขายหุ้นทิ้งเมื่อไม่มีเขา
  • ช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2019 ไอฟ์ได้เชิญทีมออกแบบของเขามายังโรงหนังที่ซานฟรานซิสโก เพื่อฉายหนัง Yesterday แบบส่วนตัว เมื่อหนังฉายจบลง ไอฟ์ได้ลุกขึ้นยืนต่อหน้าทุกคน และบอกว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจจากหนังเรื่องนี้อย่างมาก “ศิลปะต้องการพื้นที่ที่เหมาะสมและการสนับสนุนเพื่อให้เติบโต” หนึ่งวันหลังจากนั้นเขาบอกข่าวการอำลา Apple ต่อทีมงานทุกคน

สำหรับแฟนบอยของ Apple แล้ว หากไม่ใช่ ‘สตีฟ จ็อบส์’ คนที่สองที่พวกเขาบูชาสุดหัวใจคือ ‘โจนี ไอฟ์’ ศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบผลิตภัณฑ์ระดับตำนานหลายชิ้นของบริษัท

 

ผลงานการออกแบบของไอฟ์อย่าง iMac, iPod และ iPhone นั้นไม่ได้แค่เพียงสร้างความสุขให้แก่แฟนๆ ที่เป็นลูกค้าที่ประทับใจกับความสวยงามเหนือกาลเวลา ซึ่งมาคู่กับแนวคิดการออกแบบฟังก์ชันการใช้งานที่มอบประสบการณ์อันยอดเยี่ยมเท่านั้น เราอาจกล่าวได้ว่า ผลงานคือผลงานที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โลกด้วย

 

อย่างไรก็ดี หลังการจากไปของจ็อบส์เมื่อปี 2011 หลายสิ่งหลายอย่างของ Apple เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง และที่สุดแล้วไอฟ์ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ตัดสินใจจะอำลาบริษัทที่เป็นเหมือนจิตวิญญาณของเขาไปในปี 2019

 

การอำลาของยอดนักออกแบบผู้นี้สร้างคำถามในวงกว้างว่าเกิดอะไรขึ้น และใครที่ทำให้ไอฟ์ตัดสินใจที่จะขอเป็นฝ่ายไปเสียเอง

 

เรามาร่วมย้อนเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของ Apple กันอีกสักครั้ง

 


อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่:


 

 

แค่เต็นท์หลังเดียว

บิดเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปในปี 2014 บนโต๊ะประชุมที่เต็มไปด้วยผู้บริหารระดับสูงของ Apple เกิดการถกเถียงขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งแม้มันจะไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับบริษัทแห่งนี้ แต่เนื้อหาสาระของการประชุมครั้งนี้ทำให้การถกเถียงนั้นดุเดือดมากยิ่งขึ้น

 

สิ่งที่เป็นปัญหาคือความคิดเห็นไม่ตรงกันของคนสองฝ่ายในเรื่องที่ฟังดูแล้วน่าประหลาดใจ เพราะที่เถียงกันนั้นไม่ใช่เรื่องของการคิดค้นหรือออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่อะไร

 

เรื่องที่ถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนคือ เต็นท์!

 

แต่เต็นท์นี้ไม่ใช่เต็นท์ธรรมดาเหมือนที่เราใช้ในการไปแคมปิ้งกันแต่อย่างใด เพราะเต็นท์หลังนี้คือสิ่งที่มีความสำคัญต่อผลิตภัณฑ์ที่สามารถกำหนดอนาคตของ Apple ได้เลยทีเดียวอย่าง Apple Watch

 

ในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคนเล่าลือกันมาเป็นเวลานานถึง ‘iWatch’ ซึ่งจะเป็น Wearable Technology ชิ้นแรกของ Apple ที่จะออกมาต่อกรกับคู่แข่งในตลาดที่ออกมาก่อนอย่าง Motorola 360, Samsung Gear หรือ Pebble ทางด้านไอฟ์ ในฐานะผู้ออกแบบต้องการที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของตัวผลิตภัณฑ์นี้ให้เข้าถึงใจคนมากที่สุดและตรงที่สุด

 

เพื่อการนั้นสิ่งที่เขาต้องการคือการที่จะเปิดตัวในเต็นท์สีขาว หรือความจริงแล้วคืออาคารหลังย่อมๆ ที่เหมือนงานแฟชั่นโชว์ ภายในมีโต๊ะจัดแสดงผลงานล่าสุดของเขาให้ทุกคนได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้เป็นงานระดับลูกช้าง เพราะจะต้องมีการเคลื่อนย้ายต้นไม้ราว 24 ต้น เพื่อสร้างพื้นที่รองรับอาคารหลังนี้

 

ไอฟ์เชื่อว่ามันจะเป็นการเปิดตัวที่จับใจทุกคน ซึ่งสำหรับเขาแล้วกลุ่มคนที่เขาคาดหวังอยากจะพิชิตหัวใจได้คือกลุ่มนักข่าวจากนิตยสารอย่าง Vogue มากกว่านักรีวิวสายเทค เต็นท์พิเศษหลังนี้จะทำหน้าที่ของมันได้ดีกว่าการจัดในหอประชุมที่คูเปอร์ติโนตามปกติแน่นอน

 

เพราะในความคิดของไอฟ์ Apple Watch ไม่ใช่แค่อุปกรณ์เทคโนโลยี แต่มันคือเครื่องประดับแฟชั่นที่ทั้งล้ำสมัย มีประโยชน์ มีเสน่ห์ และหรูหรา ในเวลาเดียวกัน ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้นาฬิกาของ Apple มีหลายระดับตามความหรูหราของวัสดุที่ใช้ รวมถึงสายของนาฬิกาก็มีแบรนด์ระดับลักชัวรีอย่าง Hermés ที่ร่วมออกแบบสายรุ่นหรูหราให้ด้วย

 

แต่ปัญหาคือความคิดของไอฟ์ไม่ได้รับการสนับสนุนนัก

 

“มันใช้เงิน 25 ล้านดอลลาร์นะ” หนึ่งในผู้ร่วมประชุมกล่าวถึงงบประมาณที่ถูกประเมินไว้หากทำตามแผนการดังกล่าว

 

และปัญหานั้นหนักหนาขึ้น เพราะหลังการจากไปของจ็อบส์ ผู้ที่กุมอำนาจสูงสุดของบริษัทคือ ทิม คุก ผู้ละเอียดทุกเม็ดในเรื่องของการใช้เงิน ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปีที่เขาอยู่ในตำแหน่งซีอีโอ ทั้งสองต่างมีประเด็นถกเถียงกันในเรื่องของการทำงานที่เรียกได้ว่ามีการคัดค้านและขัดขวางกันตลอด

 

เพียงแต่เพราะคุกเองอ่านเกมออกว่า หากวันนั้นไอฟ์ตัดสินใจอำลาบริษัทไปอีกคน มูลค่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับหุ้นในตลาดอาจจะสูงกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 10% ของมูลค่าบริษัทในขณะนั้น

 

ราคาของมันแพงกว่า 25 ล้านดอลลาร์ที่บริษัทต้องจ่ายตามคำขอของไอฟ์มากนัก

 

“เราน่าจะทำตามนั้น” คุกเคาะโต๊ะสรุปให้ทุกฝ่ายดำเนินตามสิ่งที่คนที่ สตีฟ จ็อบส์ เรียกว่าเป็น ‘Spiritual Partner’ ต้องการ

 

โดยที่ไอฟ์ไม่ทันระแคะระคายในเวลานั้น ว่าชัยชนะบนโต๊ะประชุมของเขากำลังจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

 

​​

Apple

 

ชนะในศึก แพ้ในสงคราม

ในช่วงเวลานั้น ไม่ว่ากี่ครั้งที่มีการประชุมกันและต้องมีการตัดสินใจ คุกจะเป็นฝ่ายที่ยอมให้ไอฟ์ได้ได้รับชัยชนะเสมอ

 

เพียงแต่ยิ่งได้รับชัยชนะมากขึ้นเท่าไร ความรู้สึกในใจของดีไซเนอร์อัจฉริยะก็ยิ่งพบว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

 

ไอฟ์เปรียบเทียบชัยชนะของตัวเองครั้งนี้กับชัยชนะของไพรัส กษัตริย์ชาตินักรบแห่งนครอีไพรัส ที่รบพุ่งกับกองทัพแห่งจักรวรรดิโรมัน ซึ่งแม้จะชนะในการศึก แต่สุดท้ายแล้วความสูญเสียที่เกิดขึ้นในสงครามนั้นมากมายมหาศาลเสียยิ่งกว่า

 

ความรู้สึกนี้เริ่มเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์งานเปิดตัว Apple Watch ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกว่า แท้ที่จริงแล้วเขาไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากใครเลย

 

ลำพังการจากไปของ สตีฟ จ็อบส์ เมื่อปี 2011 ก็ทำให้ไอฟ์อยู่ในช่วงเวลาที่ระทมทุกข์มากพออยู่แล้ว แต่การที่ Apple ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจากบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมผ่านผลิตภัณฑ์ชั้นเลิศที่เปลี่ยนแปลงโลกได้ สู่การเป็นบริษัทที่เน้นในเรื่องของการพัฒนาบริการและการใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่มีอย่างคุ้มค่า เพื่อสร้างผลกำไรให้มากที่สุด สิ่งนี้ทำให้นักออกแบบชาวอังกฤษยิ่งเศร้าใจหนักมากขึ้นไปอีก

 

เพราะมันเป็นแนวทางคนละอย่างกับที่เขาและจ็อบส์เคยช่วยกันทำให้ Apple กลายเป็นบริษัทที่อยู่ในใจผู้คนอย่างสิ้นเชิง

 

โดยหลังการอดทนเป็นระยะเวลาร่วม 5 ปี ในที่สุดไอฟ์ก็ขอลาออกจากตำแหน่งในบริษัทที่ทำให้เขาไปสู่จุดสูงสุดของชีวิต และกลายเป็นหนึ่งในตำนานของวงการนักออกแบบ ที่ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปอีกกี่ปี ผลงานของเขาก็จะยังเป็นที่กล่าวถึงเสมอ

 

สำหรับ ทิม คุก นั่นคือสัญญาณไฟเขียวที่จะทำให้เขาเบนเข็ม Apple ไปในอีกทิศทางที่เขาเชื่อว่าเป็นแนวทางที่ดีและยั่งยืนกว่าสำหรับบริษัทในอนาคต ซึ่งความสำเร็จของเขาคือการทำให้บริษัทแห่งนี้กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าถึง ‘ล้านล้านดอลลาร์’ 

 

แม้ว่ามันจะแลกมาด้วยการขาย ‘จิตวิญญาณ’ เหมือนในหนังสือ After Steve: How Apple Became a Trillion-Dollar Company and Lost Its Soul, ได้กล่าวไว้

 

การพบกันแห่งโชคชะตา และ iMac คอมพิวเตอร์ที่สนุกเหมือนการ์ตูน Jetsons

ในฤดูร้อนปี 1997 พนักงานของ Apple ถูกเรียกตัวมายังห้องประชุม เพื่อรอพบกับคนสำคัญคนหนึ่ง

 

คนสำคัญคนนั้นคือ สตีฟ จ็อบส์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ถูกขับออกจากบริษัทของตัวเองเมื่อ 10 ปีก่อน และได้โอกาสกลับมารับตำแหน่งซีอีโอของบริษัทอีกครั้งหลังจากที่บริษัท NeXT ถูก Apple ซื้อเข้ามาในปี 1996

 

ตลอดระยะเวลาที่ห่างหายไป จ็อบส์ยังคงเฝ้ามองบริษัทที่เขาร่วมก่อร่างสร้างมาอยู่ตลอด และรู้ว่า Apple ไม่ได้มีช่วงเวลาที่ดีนัก

 

“ที่นี่มันเป็นอะไรไปแล้ว” จ็อบส์ตะโกนถามคนในห้อง ตามสิ่งที่ วอลเตอร์ ไอแซคสัน ผู้เขียนชีวประวัติของเขาเล่าไว้ในหนังสือ “ผลิตภัณฑ์พวกนี้มันห่วยแตก! มันไม่มีความน่าดึงดูดใดๆ อยู่ในตัวมันเลย”

 

หนึ่งในคนที่อยู่ในห้องประชุมวันนั้นคือไอฟ์ ซึ่งเป็นเด็กหลังห้องนั่งจ๋องอยู่เงียบๆ ในตอนนั้นเขาเพิ่งจะอายุได้ 30 ปี ทำงานกับ Apple ได้แค่ 5 ปี และแน่นอนว่าเขาไม่เคยระแคะระคายมาก่อนว่าในเวลานั้นจ็อบส์มองว่าหนึ่งในปัญหาของบริษัทคือทีมออกแบบ

 

ก่อนหน้าที่จะเข้าประชุม จ็อบส์กำลังคิดที่จะปลดไอฟ์ในฐานะหัวหน้าทีมออกแบบ และดึงตัวนักออกแบบระดับโลกจากภายนอกเข้ามาร่วมงาน เขาได้ทาบทามนักออกแบบรถชาวอิตาลีและนักออกแบบคอมพิวเตอร์อีกราย แต่เพราะคำขอของ ฮาร์ตมุต เอสส์ลิงเกอร์ อดีตพาร์ตเนอร์ที่ร่วมกันสร้าง Macintosh ขึ้นมาที่บอกว่า เขาควรให้โอกาสทีมนี้ก่อน ทำให้ชะตาของไอฟ์และทีมยังไม่ถึงฆาต

 

คำแนะนำของเอสส์ลิงเกอร์ที่บอกกับจ็อบส์คือ “คุณต้องการผลงานที่ฮิตแค่ชิ้นเดียว”

 

และเพราะเหตุนี้ทำให้จ็อบส์ต้องทำงานร่วมกับไอฟ์ในการสร้างคอมพิวเตอร์ที่จะฮิตไปทั่วโลกให้ได้ โดยหัวใจสำคัญของมันคือการเป็น ‘คอมพิวเตอร์เครือข่าย’ ที่เชื่อมต่อกับโลกได้ผ่านอินเทอร์เน็ต

 

หลังได้รับโจทย์ ไอฟ์เรียกทีมทั้งหมดมาระดมสมองกันเพื่อจะลุยโปรเจ็กต์นี้บนความหวังว่าเขาจะสามารถเอาชนะใจของจ็อบส์ ที่มอบโจทย์สั้นๆ ให้แก่ทีมว่าเขาอยากได้ ‘คอมพิวเตอร์ที่สนุกสนาน’

 

ทีมของไอฟ์ครุ่นคิดอยู่นานก่อนจะตกผลึกได้ว่า มันควรจะสนุกเหมือนรายการการ์ตูนทางทีวี The Jetsons คอมพิวเตอร์ที่ดูล้ำสมัย แต่ก็ให้ความรู้สึกที่คุ้นเคย

 

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ iMac คอมพิวเตอร์ที่ไอฟ์เชื่อว่ามันเข้าถึงทุกคนได้ง่ายกว่า ด้วยเครื่องเฉดสีเขียวที่ได้แรงบันดาลใจจากน้ำในทะเลที่ชายหาด Bondi ในนครซิดนีย์ ออสเตรเลีย ซึ่งหนึ่งในทีมนักออกแบบไปเล่นเซิร์ฟมา

 

สตีฟ จ็อบส์ ซีอีโอชั่วคราว (ณ ขณะนั้น) ของ Apple เปิดตัวคอมพิวเตอร์ iMac ใหม่ 5 สี ที่ MacWorld ในซานฟรานซิสโก (ภาพ: MediaNews Group / Bay Area News via Getty Images)

 

ไฮไลต์อยู่ที่การทำฝาครอบแบบโปร่งแสงที่แม้จะมีต้นทุนสูงกว่าการผลิตเคสคอมพิวเตอร์แบบมาตรฐานถึง 3 เท่า แต่จ็อบส์กลับชอบใจกับไอเดียนี้และยินยอมให้เดินหน้าต่อ เพราะเขาเชื่อว่ามันสำคัญต่อการออกแบบและมันจะสำคัญต่อการที่เขาจะไปขายลูกค้าด้วย เพราะนี่แหละคือ ‘การปฏิวัติวงการ’ ที่จับต้องได้

 

แต่หลังการออกแบบเสร็จ โดยที่ใกล้จะถึงเวลาเปิดตัว iMac ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 1998 จ็อบส์ผู้เป็น Perfectionist เกิดรู้สึกขัดใจขึ้นมากับหนึ่งในส่วนประกอบของเครื่อง เพราะเขาอยากให้เครื่องนี้มันมีช่องใส่ซีดีมากกว่าที่จะเป็นถาดใส่ซีดี

 

จ็อบส์เดือดดาลกับสิ่งนี้มาก และขู่ทีมว่าเขาจะยกเลิกงานเปิดตัวนี้

 

แต่เมื่อจ็อบส์ระบายความคับข้องใจของเขาจนเสร็จ ไอฟ์ได้ขอพบกับเขาหลังเวที เพื่อพยายามทำให้เจ้านายของเขาใจเย็น

 

“คุณกำลังคิดถึง iMac เครื่องต่อไป” ไอฟ์บอกกับจ็อบส์ที่กำลังพยายามหายใจลึกๆ โดยที่ความโกรธได้หายไปจากใบหน้าของเขา ก่อนจะตอบย้ำๆ ว่า “ผมรู้ๆ”

 

หลังจากนั้นทั้งสองคนก็เดินออกมาด้วยกัน โดยที่แขนของซีอีโอวางอยู่บนไหล่ของนักออกแบบ

 

จ็อบส์ได้ค้นพบคนที่จะช่วยให้เขารู้สึก ‘สงบ’ ได้แล้ว และวินาทีนั้นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นสู่การทวงคืนความยิ่งใหญ่ของ Apple ที่มีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงโลกในเวลาต่อมา

 

เครื่อง iMac จากไอเดียของจ็อบส์และการออกแบบของไอฟ์กับทีมสามารถขายได้ 1 เครื่องในทุก 15 วินาทีทั่วโลก กลายเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ขายได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ และความสำเร็จนี้ก็ยิ่งทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างจ็อบส์และไอฟ์ยิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้นกว่าเดิมไปอีก

 

หลังจากนั้นทีมออกแบบของไอฟ์ได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของ Apple ที่จะเป็นผู้นำในการสร้างทุกผลิตภัณฑ์ โดยที่ทีมอื่นต้องเดินตามทีมนี้ ไม่เว้นแม้แต่ ทิม คุก ที่ถูกผลักดันเป็นซีโอโอ (Chief Operation Officer) เมื่อปี 2005 เพราะจ็อบส์กลัวว่าจะเขาจะโดน Hewlett-Packard ฉกตัวไป

 

คำพูดสุดท้ายที่ฝังอยู่ในใจ

วันที่ 5 ตุลาคม ปี 2011 เสียง Notification ดังระงมพร้อมๆ กันทั่วแคมปัสของ Apple  

 

‘สตีเวน พี. จ็อบส์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple เสียชีวิตด้วยวัย 56 ปี’

 

ในเวลานั้น โจนี ไอฟ์ ไม่ได้อยู่ที่แคมปัส เขาอยู่ห่างออกไปไม่ถึง 15 ไมล์ในสวนที่อยู่นอกบ้านของจ็อบส์ ฟ้าหลัวในวันนั้นไม่ต่างอะไรจากความรู้สึกของไอฟ์ที่เหมือนโลกล่มสลาย

 

สิ่งเดียวที่อยู่ในหัวของเขาเวลานั้นคือคำพูดสุดท้ายของเจ้านายและเพื่อนที่ฝากไว้

 

“ผมคงจะคิดถึงการพูดคุยกันของเราสองคน”

 

ช่วงเวลาหลังจากนั้นไอฟ์จมอยู่ในความมืดมนอนธการนานหลายเดือน ในแต่ละวันที่ผ่านเขาแทบจะไม่ปริปากอะไรมากนัก นอกจากพูดคุยกับเพื่อนร่วมทีมอย่างเงียบๆ ในบทสนทนาที่เป็นเหมือนการเยียวยาหัวใจที่แตกสลาย

 

แต่สิ่งที่ทำให้ไอฟ์กลับมาตั้งหลักได้คือภารกิจในการสร้าง Smart Watch นาฬิกาล้ำยุคที่ทั้ง Wall Street และลูกค้า ตั้งคำถามว่า เมื่อไม่มีจ็อบส์อยู่แล้ว Apple จะมีน้ำยาในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้อีกไหม ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ไอฟ์รู้สึกว่า Apple จำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้

 

ในความคิดของเขา นาฬิกาซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์แรกของ Apple ที่ทุกคนจะสามารถสวมใส่ได้นั้นควรจะให้ความรู้สึกว่าสามารถที่จะประยุกต์ให้เข้ากับบุคลิกได้ และนั่นทำให้ไอฟ์มุ่งเน้นในเรื่องของวัสดุที่จะนำมาใช้ ไปจนถึงเรื่องของรสนิยมทางแฟชั่นที่ถูกถ่ายทอดให้แก่ทีมสตาฟฟ์ของเขาด้วย

 

ระหว่างการออกแบบนั้น ทิม คุก ซึ่งได้รับตำแหน่งซีอีโอต่อจากจ็อบส์ ด้วยเหตุผลที่อดีตซีอีโอผู้ล่วงลับไว้ใจในความสามารถที่สามารถหารายได้ให้แก่บริษัทได้อย่างมหาศาลผ่านการควบคุมงบประมาณการผลิต วิธีการคิดที่จะทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากทุกสิ่งที่สร้างขึ้นโดยไม่มีอะไรเสียเปล่า (ปัจจุบัน iPhone SE ยังคงใช้โมเดลเดียวกับ iPhone 6 ได้อยู่เลย) ได้เข้ามาเยี่ยมชมสตูดิโอออกแบบของไอฟ์บ้าง

 

หนึ่งในไม่กี่ครั้งที่คุกมาเยี่ยม เขามาเพื่อชมกล้อง Leica ที่ไอฟ์ช่วยออกแบบสำหรับการประมูลการกุศล เพียงแต่ในระหว่างที่ไอฟ์กำลังพยายามเล่ารายละเอียดการออกแบบให้ฟัง คนที่เห็นเหตุการณ์ในห้องกลับพบว่า สิ่งที่ซีอีโอคนใหม่กำลังมองคือโต๊ะที่มี iPhone, iPad และเครื่อง Mac ที่ทำกำไรมหาศาลให้แก่บริษัท

 

คุกใช้เวลาเพียงไม่นานก็ขอตัวกลับไปจากสตูดิโอ

 

 

ไฟที่ลุกโชนได้ดับลง

หลังงานเปิดตัว Apple Watch ซึ่งสตาฟฟ์ทุกคนของ Apple ได้ร่วมกันลุกขึ้นปรบมือเพื่อเป็นเกียรติสูงสุดแก่ โจนี ไอฟ์ ในฐานะผู้นำในการออกแบบผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกของบริษัทในยุคที่พวกเขาไม่มี สตีฟ จ็อบส์ อีกต่อไป นักออกแบบชาวอังกฤษได้เดินทางเพื่อไปร่วมงานเดินแบบที่ปารีส

 

มันดูเหมือนไอฟ์ได้เดินทางไปสู่จุดสูงสุดครั้งใหม่ในชีวิตการทำงานของเขา หลังจากที่ทำได้มาแล้วกับ iMac, iPod และ iPhone

 

แต่แทนที่จะได้ชาร์จประจุหัวใจกลับมา ไอฟ์กลับรู้สึกหมดเรี่ยวแรงและอ่อนล้า จนในช่วงปลายปีเขาได้เรียกประชุมทีมนักออกแบบและวิศวกรทุกคน เพื่อขอบคุณสำหรับการทำงานอย่างหนัก จนทำได้ดีเกินกว่าความคาดหมายของทุกคน

 

ก่อนที่เขาจะหยุดพูดครู่หนึ่ง แล้วบอกต่อว่า “ผมอยู่ที่ Apple มา 20 ปีแล้ว นี่เป็นหนึ่งในปีที่ท้าทายที่สุดที่ผมเคยเจอมา”

 

ความอ่อนแรงของไอฟ์ผสานเข้ากับกระแสตอบรับในทางลบของ Apple Watch ที่หลังได้รับเสียงสรรเสริญในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ยอดขายของมันสวนทางกับความคาดหวังของ Wall Street ซึ่งนักวิเคราะห์เคยคาดหวังว่าจะขายได้อย่างน้อย 40 ล้านเรือนในปีแรก แต่ยอดขายที่ออกมาจริงๆ แล้วได้แค่ครึ่งหนึ่ง โดยที่ลูกค้าที่ซื้อไปร้องเรียนเกี่ยวกับอายุการใช้งานที่สั้นและฟังก์ชันการทำงานที่ล้มเหลว

 

ทิม คุก ตัดสินใจที่จะปรับแนวทางของ Apple Watch ใหม่ทันที จากการเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นที่ขายในกลุ่มเฉพาะ เขาขยายช่องทางการจำหน่ายผ่านผู้ค้าปลีกรายใหญ่ทั่วไป

 

และที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแนวทางของ Apple Watch จากแฟชั่นสู่การเป็นนาฬิกาเพื่อการออกกำลังกายแทน

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือฟางเส้นสุดท้ายสำหรับไอฟ์ เขาติดต่อคุกและแจ้งว่าเขาเหนื่อยและต้องการที่จะถอยจากการทำงาน หลังการจากไปของจ็อบส์ เขาต้องแบกรับความคาดหวังทั้งในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์และการทำตลาด

 

ไม่นับการที่เขาต้องต่อสู้กับเพื่อนร่วมงานที่หวังจะได้เลื่อนขั้นตำแหน่งและการบริหารจัดการทีมที่ขยายเป็นหลายร้อยคน จากเดิมที่เขามีทีมออกแบบในมือแค่ 20 คนตลอดหลายปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้สูบพลังงานของเขาออกจนหมดเกลี้ยง

 

คำขาดของไอฟ์สร้างความกังวลให้แก่ซีอีโอที่หวั่นใจว่า หากไม่มีนักออกแบบผู้นี้แล้ว นักลงทุนอาจเทขายหุ้นได้ ซึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยงมหาศาล เขาจึงขอหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมด้วยการทำข้อตกลงร่วมกับไอฟ์เกี่ยวกับบทบาทใหม่

 

ไอฟ์จะโฟกัสกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นหลักในฐานะ Chief Design Officer และทำงานแบบพาร์ตไทม์ได้ โดยที่ภาระการทำงานประจำวันของเขาจะถูกโยกไปให้คนอื่น และยังโปรโมตคนในทีมของเขา 2 คน เพื่อแก้ปัญหาด้วย

 

นั่นคือสิ่งที่มีการสื่อสารออกไปในภายนอก โดยที่คนใน Apple เองก็แทบไม่มีใครได้รู้ความจริง

 

ว่าไอฟ์กำลังหมดไฟ และเขาก็หมดใจแล้ว

 

 

ชัยชนะของสมองซีกซ้าย

ภายหลังจากการปรับเปลี่ยนบทบาท ไอฟ์หายหน้าไปจาก Apple จากที่เข้าทำงานทุกวันเพื่อรีวิวงานออกแบบ ก็เปลี่ยนเป็นรายสะดวก แล้วแต่จะนัด

 

ความคาดเดาไม่ได้ว่าเขาจะมาเมื่อไร ทำให้ทีมออกแบบตกอยู่ในสภาวะทำตัวไม่ถูก เพราะไม่รู้ว่าวันใดที่ไอฟ์จะเดินเข้ามาในสตูดิโอ และนั่นก็ไม่ได้ช่วยให้บรรยากาศในการทำงานของทีมดีขึ้นเลย

 

มีครั้งหนึ่งช่วงต้นปี 2017 ซึ่งเป็นปีที่ iPhone ถือกำเนิดครบรอบ 10 ปี และมีการพูดถึงเครื่องรุ่นใหม่ที่จะออกมาเพื่อฉลองวาระนี้ที่น่าจะมีความพิเศษ ไอฟ์ได้ถูกเชิญเข้าร่วมประชุมที่ The Battery คลับหรูหราใจกลางเมืองด้วย

 

ในห้องวันนั้น ทีมออกแบบได้มีการพรินต์ไอเดียในการออกแบบขนาด 11-17 นิ้ว ออกมาเพื่อรอให้เจ้านายที่หายตัวของพวกเขาดู และขอคำอนุมัติเกี่ยวกับลูกเล่นบางอย่างสำหรับ iPhone เครื่องแรกที่จะใช้หน้าจอแบบเต็มจอ

 

แต่ทีมออกแบบต้องรอถึง 3 ชั่วโมงกว่าที่ไอฟ์จะเข้ามาในห้องแห่งนั้น โดยที่เขาไม่มีแม้แต่คำขอโทษ ก่อนที่เขาจะดูงานออกแบบและให้ความเห็นกลับไปเล็กน้อย แล้วรีบกลับออกไปโดยที่ไม่ช่วยตัดสินใจขั้นสุดท้ายให้แก่ทีม

 

ทุกคนในห้องอยู่ในอาการนะจังงังกันหมด เพราะงานต้องหยุดนิ่ง ไม่มีความคืบหน้า และคำถามที่สำคัญกว่าคือ เรื่องราวมันเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

 

ขณะที่หลังฉากในระหว่างที่ไอฟ์ไม่อยู่ที่บริษัท ทิม คุก ได้เริ่มปรับเปลี่ยน Apple ให้เป็นไปตามภาพที่เขาต้องการ หนึ่งในคนที่ต้องเดินออกไปคือ มิกกี้ เดร็กซ์เลอร์ นักการตลาดพรสวรรค์ผู้เป็น Company Director ซึ่งถูกแทนที่โดย เจมส์ เบลล์​ อดีต Chief Financial Officer ของ Boeing

 

หากให้เปรียบเทียบง่ายๆ คือ คุกได้พยายามเปลี่ยนแปลง Apple จากบริษัทที่เต็มไปด้วยคนที่ใช้สมองซีกขวาที่เป็นส่วนที่ทำหน้าที่จินตนาการ สร้างสรรค์ ความฝัน และความคิดใหม่ๆ ให้เป็นบริษัทที่มีคนใช้สมองซีกซ้าย ส่วนที่ควบคุมการคิดและตรรกะ มีการทำงานออกเป็นรูปธรรม เช่น การคิดเลข การบอกเวลา การนับจำนวน การสรรหาถ้อยคำ และการหาเหตุผล ฯลฯ

 

หรือพูดให้ง่ายกว่านั้นคือ Apple ได้เปลี่ยนจากบริษัทของ สตีฟ จ็อบส์ และ โจนี ไอฟ์ ให้เป็นบริษัทแบบ ทิม คุก ที่ไม่เน้นการสร้างนวัตกรรมผ่านผลิตภัณฑ์ แต่เน้นการเพิ่มรายได้แทน และสัญญาณที่น่าตกใจเกิดขึ้นในการประชุมครั้งหนึ่งในปี 2017

 

ในการประชุมครั้งนั้น ปีเตอร์ สเติร์น ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่นาน เปิดสไลด์ผลกำไรของ Apple ที่แสดงให้เห็นว่า ส่วนแบ่งกำไรจากการจำหน่าย iPhone, iPad และ Mac ลดลงสวนทางกับบริการอย่าง iCloud

 

คนในห้องประชุมเริ่มตระหนักและตระหนกในอนาคตของไอฟ์ เพราะกราฟนี้แสดงให้เห็นว่า ความสำคัญของเขาที่เคยมีกับ Apple ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากำลังจะกลายเป็นอดีต อนาคตของ Apple ในสายตาของ ทิม คุก คือ Apple Music, iCloud และบริการอื่นๆ รวมถึง App Store ที่สร้างรายได้มหาศาล

 

โดยในระหว่างที่สเติร์นกำลังเปิดสไลด์ ไอฟ์เพิ่งจะขอเดินออกไปนอกห้องเพื่อสูดอากาศพอดี

 

Apple

 

การประชุมนัดสุดท้ายกับหนัง Yesterday ที่ฉายจบลง

ช่วงปลายเดือนมิถุนายน ปี 2019 ไอฟ์ได้เชิญทีมออกแบบของเขามายังโรงหนังที่ซานฟรานซิสโก เพื่อฉายหนัง Yesterday แบบส่วนตัว

 

Yesterday เป็นหนังของนักร้อง-นักแต่งเพลงที่ประสบอุบัติเหตุ และเมื่อฟื้นขึ้นมาพบว่าเขาคือคนเดียวในโลกที่จดจำ The Beatles ได้ แต่สิ่งที่หนังเรื่องนี้ซ่อนไว้อยู่คือเรื่องราวการต่อสู้และความขัดแย้งกันระหว่างศิลปะกับการค้า

 

เมื่อหนังฉายจบลง ไอฟ์ได้ลุกขึ้นยืนต่อหน้าทุกคน และบอกว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจจากหนังเรื่องนี้อย่างมาก

 

“ศิลปะต้องการพื้นที่ที่เหมาะสมและการสนับสนุนเพื่อให้เติบโต” ไอฟ์กล่าว “ยิ่งคุณเติบโตมากเท่าไร สิ่งนี้ก็ยิ่งสำคัญมากขึ้นเท่านั้น”

 

หนึ่งวันหลังจากนั้น… วันที่ 27 มิถุนายน ทีมออกแบบถูกยิงนัดหมายในการประชุมกับไอฟ์อีกครั้ง การพบกันครั้งนี้มีขึ้นในห้องประชุมชั้น 4 ของ Apple Park ที่ทำการใหม่ของ Apple ซึ่งเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไอฟ์

 

ในขณะที่สายตาของทีมงานทุกคนเริ่มคิดในสิ่งที่พวกเขาแอบคิดมานานและไม่คิดว่าวันนี้จะมาถึง ไอฟ์ได้กล่าวยกย่องทีมที่พยายามรักษาตัวตนของ Apple เอาไว้ ก่อนจะอธิบายว่า หลังจากนี้เขาจะทำงานร่วมกับทีมในฐานะที่ปรึกษาผ่าน LoveFrom บริษัทออกแบบที่เขาก่อตั้งขึ้นเอง

 

สิ่งที่ไอฟ์ไม่ได้บอกคือ Apple ตกลงที่จะจ่ายเงินในการเชิญเขาออกมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ หรือมากถึง 3.4 พันล้านบาท (1 ดอลลาร์สหรัฐ = 34.18 บาท) จำนวนเงินที่เทียบเท่ากับ Golden Parachutes ที่บริษัทใหญ่จะจ่ายให้แก่ผู้บริหารระดับสูงสุด

 

เช่นเดียวกับเรื่องราวการต่อสู้เบื้องหลังที่เขาไม่ได้บอกกับทุกคน และมีแค่ไม่กี่คนที่ล่วงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างเขากับทีมการเงินของ Apple ที่อยู่ใต้อาณัติของ ทิม คุก

 

เมื่อไม่มีไอฟ์ ในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ก็ไม่มีการพูดถึงความสำคัญในเชิงของการออกแบบ เช่น ความบาง หรือการใช้วัสดุชั้นเลิศในการผลิต เหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่มีเรื่องเส้นสายลายสี มีแค่เรื่องความแรงของชิปประมวลผลและประสิทธิภาพในการทำงาน

 

เมื่อไม่มีไอฟ์ ทีมออกแบบที่เคยอยู่ใต้เขาต้องทำงานร่วมกับแผนกวิศวกรรมและฝ่ายปฏิบัติการมากขึ้น และที่สำคัญคือ เผชิญกับแรงกดดันมากขึ้นจากการต้องควบคุมงบประมาณทุกอย่าง

 

แต่ถึงจะไม่มีไอฟ์ Apple ก็ยังคงมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาสู่ตลาดเสมอ และยังมีความสำคัญอยู่เหมือนเดิมเหมือนในวันที่ยังมีเขาอยู่ และบริษัทก็ยังคงประสบความสำเร็จทางยอดขายและรายได้ยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

 

ไม่ต่างอะไรจากสายลม ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ และเป็นสิ่งเดียวที่เป็นนิรันดร์

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising