บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญได้ออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลจีนร่วมมือกับกลุ่มประเทศบริกส์ ในการเพิ่มทางเลือกสกุลเงินเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ เพื่อตอบโต้การใช้อำนาจโดยมิชอบของสหรัฐฯ ที่อาศัยสกุลเงินดอลลาร์มาทำร้ายกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ บริกส์ (BRICS) คือตัวย่อของกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว อันประกอบด้วย บราซิล (Brazil), รัสเซีย (Russia), อินเดีย (India), จีน (China) และแอฟริกาใต้ (South Africa)
สำหรับข้อเรียกร้องในครั้งนี้มีขึ้นเพียงไม่นานก่อนที่การประชุมระดับสูงของรัฐมนตรีต่างประเทศในกลุ่มบริกส์ ซึ่งจัดขึ้นผ่านระบบทางไกลที่จีนเป็นเจ้าภาพเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา
บรรดาผู้เชี่ยวชาญอ้างถึงความจำเป็นสำหรับประเทศในกลุ่ม BRICS ที่ต้องมีการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและลดการพึ่งพาระบบการชำระเงินที่สหรัฐฯ มีอิทธิพลครอบงำอยู่ในปัจจุบัน ด้วยสถานะของเงินดอลลาร์ โดยที่ผ่านมาบริกส์มีการหารือกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดเพื่อเร่งหาสกุลเงินชำระหนี้ระหว่างประเทศนอกเหนือจากเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียด้วยการตัดรัสเซียออกจากระบบการเงินโลกและบังคับให้ประเทศอื่นๆ ต้องแบกรับภาระปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
ด้านกระทรวงต่างประเทศจีนเปิดเผยว่า การหารือในครั้งนี้มุ่งส่งเสริมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สร้างฉันทามติ และทำให้เสียงของตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนามีน้ำหนักบนเวทีโลก ซึ่งจะช่วยปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน ทางด้าน Moody’s Investors Service ได้ออกโรงเตือนบรรดาประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) ว่ามีแนวโน้มจะเผชิญกับสภาวะที่ยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2-3 ไตรมาสนับจากนี้ หากว่าสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนยืดเยื้อออกไป
ทั้งนี้ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำระดับโลกคาดการณ์ว่าเกือบ 30% ของบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในกลุ่มตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่จะเผชิญกับ ‘ความเสี่ยงด้านเครดิตและหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น’ ซึ่งในกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือการรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้เกิดภาวะถดถอยทั่วโลกและสภาพคล่องรัดตัว โดยครอบคลุมถึงการระงับการซื้อขายพลังงานระหว่างยุโรปกับรัสเซีย
อัตซี เซธ (Atsi Sheth) หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์และการวิจัยระดับโลกของ Moody’s Investors Service กล่าวว่า กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะเผชิญกับ ‘เขตแดนที่ยากลำบาก’ (Tough Terrain) ในอีกไม่กี่ไตรมาสข้างหน้า เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และบรรดาบริษัทในภาคบริการจะประสบปัญหาเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะถูกจำกัดด้วยเงินเฟ้อ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์เป็นภาคส่วนหนึ่งที่อาจยังคงประสบปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน
รายงานของ Moody’s พบว่าบริษัทในเอเชียมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและการเข้าถึงเงินทุนที่จำกัด เมื่อเทียบกับบริษัทในลาตินอเมริกาที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า
ขณะเดียวกัน ในกรณีที่เกิดภาวะช็อกในสินค้าโภคภัณฑ์ อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบต่อการเติบโตทั่วโลกลากยาวไปถึงปี 2023 Moody’s คาดว่า ราว 8% ของบริษัทในตลาดเกิดใหม่อาจเผชิญกับความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมตลาดจะมืดมน แต่ Moody’s ประเมินว่า ผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์จะเผชิญกับผลลัพธ์ที่ดีกว่าบริษัทในภาคส่วนอื่นๆ
อ้างอิง:
- https://www.globaltimes.cn/page/202205/1266097.shtml
- https://www.channelnewsasia.com/business/moodys-sees-tough-terrain-ahead-emerging-economies-russia-ukraine-war-extends-2694306
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP