วัฒนธรรมการดื่มชาอยู่คู่กับหลายประเทศทั่วโลกมาอย่างยาวนาน องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO จึงประกาศให้วันที่ 21 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันชาสากล เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์และคุณค่าทางวัฒนธรรม ขบวนการการเพาะปลูก และการผลิตชา เป็นแหล่งรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัวกว่าล้านครัวเรือนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อีกทั้งการเฉลิมฉลองวันชาสากล จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนขบวนการการเพาะปลูกชาอย่างยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม การบริโภค การซื้อขาย และโอกาสทางการค้าขาย ทั้งในระดับสากล ภูมิภาค และภายในประเทศ ทั้งนี้เพื่อทำให้ตลาดการค้าชาเป็นตลาดหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความจน ความหิวโหย และช่วยรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติ
เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันชาสากล THE STANDARD POP ขอถือโอกาสนี้พาทุกท่านไปรู้จักกับวัฒนธรรมการดื่มชาที่นิยมและมีมาอย่างยาวนานจาก 10 ประเทศทั่วโลก จะมีประเทศไหนบ้าง เป็นชาที่คุณชื่นชอบหรือไม่ ตามมาดูกันเลย
***หมายเหตุ: มีหลายประเทศในกลุ่มผู้ผลิตชา เช่น บังคลาเทศ, ศรีลังกา, เนปาล, เวียดนาม, อินเดีย, แทนซาเนีย ฯลฯ ยึดเอาวันที่ 15 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันชาสากล
1. Zavarka, รัสเซีย
ชาถูกนำเข้ามาในประเทศรัสเซียครั้งแรกในศตวรรษที่ 17 ผ่านเส้นทางสายไหม การดื่มชาที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศรัสเซียเรียกว่า Zavarka นิยมชงใบชาดำโดยใช้หม้อ Samovar ต้มน้ำจนเดือด จากนั้นจึงใช้น้ำเดือดชงชาในกาแยกให้เข้มข้น เรียกน้ำชานั้นว่า ‘Zavarka’ เนื่องจาก Zavarka มีความเข้มข้นสูงมาก จึงรินใส่แก้วสำหรับดื่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเจือรสให้จางลงโดยการเติมน้ำ หรือเพิ่มรสชาติด้วยเลมอน, น้ำตาล, น้ำผึ้ง, ผลไม้ หรือสมุนไพรอื่นๆ
2. English Afternoon Tea, อังกฤษ
English Afternoon Tea ถือเป็นวัฒนธรรมการดื่มชาที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก นิยมดื่มคู่กับขนมหวานหลากหลายชนิดในยามบ่าย เป็นมื้อระหว่างอาหารกลางวันกับอาหารเย็น โดยประเภทชาที่นิยมเสิร์ฟใน Afternoon Tea มักจะเป็นชาดำชนิดต่างๆ หรือชาสมุนไพร หากเป็นชาดำ สามารถเพิ่มรสชาติโดยการเติมน้ำตาลและนม หากเป็นชาสมุนไพร นิยมดื่มโดยไม่แต่งรสชาติเพิ่มเติม
3. Touareg Tea, โมร็อกโก
Touareg Tea หรือที่รู้จักกันในนาม Moroccan Mint Tea ชาที่นิยมมากทางตอนเหนือของทวีฟแอฟริกา เป็นชาเขียวผสมกับใบสะระแหน่ มักมีรสหวานมาก ดื่มคู่กับของหวานหรือถั่วต่างๆ
4. Turkish Tea, ตุรกี
นอกจากกาแฟจากประเทศตุรกีจะโด่งดังมากๆ แล้ว ชาจากตุรกีก็มีดีไม่แพ้กัน ประเทศตุรกีเป็นประเทศผู้ผลิตชารายใหญ่เป็น 1 ใน 5 ของโลก ชาวตุรกีนิยมดื่มชาเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าทุกบ้านต้องมีหม้อต้มชาพร้อมเสิร์ฟแก่สมาชิกในครอบครัวและแขกผู้มาเยี่ยมเยือนได้ตลอดเวลา ชาวตุรกีสามารถดื่มชาได้ทุกช่วงเวลาตั้งแต่เช้าไปจนถึงก่อนนอน แต่ช่วงเวลาที่นิยม คือ 15.00-17.00 น. ของวัน โดยจะเสิร์ฟชาดำ ไม่ใส่นม คู่กับขนมหวานตุรกี เช่น Baklawa, Turkish Delight, Helva และ Kunefe
5. Yerba Mate, อาร์เจนตินา
Yerba Mate หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Mate เป็นชาสมุนไพรรสขมยอดนิยมของประเทศอาร์เจนตินา Mate มีกาเฟอีนสูงไม่แพ้กาแฟเลย การดื่ม Mate เรียกได้ว่าเป็นวิถีชีวิตของชาวอาร์เจนตินา สามารถดื่มได้ทุกเวลา มักดื่มเมื่อมีการรวมกลุ่ม โดยดื่มจากแก้วและหลอดเดียวกันวนรอบครบทั้งกลุ่ม วัฒนธรรมการดื่ม Mate ดั้งเดิมนิยมดื่มเป็นชาร้อน ใช้ลูกเต้ามาทำเป็นแก้วและใช้หลอด ‘Bombilla’ ในการดื่ม เพราะ Mate จะเสิร์ฟทั้งใบชา จึงต้องใช้หลอดเพื่อกรองชา ปัจจุบันนอกจากดื่มเป็นชาร้อนแล้ว ยังสามารถดื่มเย็นได้ด้วยการเติมน้ำเย็นแทนน้ำร้อน หรือใช้น้ำผลไม้แทนน้ำเปล่าเพื่อเพิ่มความสดชื่น ซึ่งเรียกเครื่องดื่มนี้ว่า Tereré
6. Indian Chai, อินเดีย
นอกจากอินเดียจะเป็นประเทศผู้ผลิตชารายใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ยังเป็นประเทศที่บริโภคชามากที่สุดในโลกอีกด้วย ชาอินเดียเรียกว่า ‘Chai’ เป็นชาดำผสมนม มีรสหวาน สามารถดื่มได้ทุกวัน สิ่งที่ทำให้ชาอินเดียมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ เครื่องเทศต่างๆ ที่ผสมลงไปในชา ไม่ว่าจะเป็น ลูกกระวาน, ลูกยี่หร่า, อบเชย, กานพลู, ขิง และอื่นๆ ทำให้ชาอินเดียมีกลิ่นและรสชาติที่เฉพาะตัว ชาอินเดียสามารถหาดื่มได้ทั่วทั้งประเทศอินเดีย มักเสิร์ฟในถ้วยดินเผาแบบใช้แล้วทิ้ง
7. Chinese Cha Dao, จีน
ประเทศจีนเป็นประเทศแรกของโลกที่บริโภคชา และได้พัฒนาวัฒนธรรมการดื่มชาของตัวเองขึ้นมาที่เรียกว่า Cha Dao โดยคำว่า Cha หมายถึง ชา คำว่า Dao คือ ลัทธิเต๋า ปรัชญาที่สื่อถึงการใช้ชีวิตอย่างมีสมดุลกับธรรมชาติ ทำให้วัฒนธรรมการดื่มชานี้ไม่ได้ทำเพื่อความพึงพอใจเท่านั้น แต่ยังเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับปรัชญาอีกด้วย ชาที่ใช้ในการดื่ม Cha Dao มีหลากหลายทั้งชาดำและชาขาว เช่น ชาอู่หลง ชามะลิ
8. Japanese Tea Ceremony, ญี่ปุ่น
พิธีการดื่มชาของประเทศญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนานิกายเซน ซึ่งพัฒนาไปเป็นพิธีการชงชาแบบญี่ปุ่น หรือ ชาโนยุ (Chanoyu) เป็นการทำให้จิตใจสงบโดยการมีสมาธิจดจ่อกับการชงชาอย่างประณีต แสดงออกถึงความงามของความเรียบง่ายและกลมกลืนไปกับธรรมชาติ โดยชาที่ใช้คือ ‘มัทฉะ’ มีลักษณะเป็นผง มีรสขม ชงโดยการผสมน้ำกับผงมัทฉะ และใช้ ‘ฉะเซ็น’ ไม้ไผ่ซี่ตีมัทฉะให้ละลายและดื่มได้ทันที ในปัจจุบันนิยมนำไปผสมกับนมหรือเครื่องดื่มอื่นๆ เพื่อให้ดื่มได้ง่ายขึ้น
9. Thai Tea, ไทย
ชาที่อยู่กับคนไทยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ ชาไทยหรือชาเย็น ชาสีส้มเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใช้ชาซีลอนเข้มข้นผสมนมข้น นมจืด และน้ำตาล มีรสหวานมัน นิยมดื่มเย็น ช่วยดับกระหายจากอากาศที่ร้อนจัดของประเทศไทย
10. Taiwanese Bubble Tea, ไต้หวัน
Taiwanese Bubble Tea หรือ ชานมไข่มุก เป็นชาอีกหนึ่งประเภทที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี สามารถใช้ได้ทั้งชาดำ ชาเขียว ชามะลิ หรือชาอู่หลง ชงกับนมผงและน้ำเชื่อมให้มีรสหวาน นิยมดื่มเย็นคู่กับไข่มุก แป้งมันสำปะหลังปั้นก้อน เคี้ยวหนุบหนับ เพลินๆ
ภาพ: Shutterstock, Getty Images
อ้างอิง:
- www.fao.org/international-tea-day/en
- www.pastemagazine.com/drink/tea/unique-tea-traditions-from-around-the-world/#moroccan-atai-tea
- https://travel.earth/fascinating-tea-traditions-around-the-world
- www.thespruceeats.com/turkish-tea-and-coffee-culture-3274135
- www.wellbeing.com.au/body/health/cha-dao-tea-drink-drinking-chinense.html