“เนื้อปลาแซลมอนนี้ถูกตัดแต่งยีน”
นี่อาจจะเป็นป้ายฉลากบนแพ็กเนื้อปลาแซลมอนตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปในอีกไม่ช้า แน่นอนว่าหลายคนอาจจะไม่ได้ใส่ใจหรือแม้แต่สงสัยด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร แต่ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคนที่อาจจะอ่านแล้วตั้งคำถามว่า มันหมายความว่าอย่างไรกัน? การตัดแต่งยีนปลาแซลมอนทำได้จริงๆ เหรอ? ที่สำคัญ มันปลอดภัยจริงๆ เหรอ?
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท AquaBounty Technologies ประกาศว่าพวกเขาได้ขายปลาแซลมอนที่ตัดแต่งยีนเป็นปริมาณ 4.5 ตันให้กับร้านค้าต่างๆ ในประเทศแคนาดา นี่ถือเป็นบันทึกหน้าแรกของประวัติศาสตร์การซื้อขายสัตว์ที่ถูกตัดแต่งยีนเพื่อเป็นอาหารให้แก่ผู้บริโภคในตลาด
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ทางบริษัทใช้เวลากว่า 20 ปี แทบล้มละลายมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง โดยพวกเขายื่นขอใบอนุญาตจาก FDA (US Food and Drug Administration) ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1995 ขั้นตอนหลังจากนั้นก็ติดๆ ขัดๆ มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและกฎหมายควบคุมสัตว์และพืชที่ถูกตัดแต่งยีนหลายครั้ง กว่าจะถึงขั้นตอนการประเมินความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety Assessment) ก็ปี 2010 หลังจากนั้นก็ต้องผ่านการตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกหลายปี ซึ่งก็มีข่าวลืออีกนั่นแหละว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้นนั้นมาจากผลประโยชน์ทางการเมืองที่ขัดแย้งและไม่ลงตัว
เอลิสัน ฟาน เอเนนนาม (Alison Van Eenennaam) นักพันธุศาสตร์สัตว์ของ University of California, Davis กล่าวว่า “นี่เป็นการเปิดประตูแห่งความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้เลยทีเดียว เพราะที่ผ่านมา กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้โลกได้ใช้ประโยชน์จากมันเลย” โดยเฉพาะหลังจากที่เทคโนโลยีตัดแต่งยีนอย่าง CRISPR เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น กฎข้อบังคับต่างๆ ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นไปอีกด้วย
ปลาแซลมอนของ AquaBounty (ซึ่งเป็นพันธุ์หนึ่งของ Atlantic Salmon) ถูกตัดแต่งยีนให้เติบโตเร็วขึ้นมากกว่าปลาแซลมอนธรรมชาติประมาณ 2 เท่า ใช้เวลาเพียง 18 เดือน (จากปกติประมาณ 3 ปี) ก็สามารถกลายเป็นแซลมอนซาชิมิในร้านอาหารได้ทันที
พวกเขาขายปลาแซลมอนชุดแรกไปเท่ากับราคาตลาด แต่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลว่าผู้ซื้อคือใคร เพราะถึงแม้ว่าแซลมอนของพวกเขาจะผ่านกฎข้อบังคับต่างๆ เรียบร้อย ปัญหาที่น่าหนักใจต่อจากนี้คือการยอมรับของผู้บริโภคต่อตัวสินค้ามากกว่า
สมาชิกวุฒิสภารัฐอะแลสกา ลิซ่า เมอร์คาวสกี (Lisa Murkowski) ถึงขั้นออกมาเรียกร้องให้ FDA แบนการซื้อขายปลาแซลมอนที่ตัดแต่งยีนบนท้องตลาดจนกว่าจะหาหนทางบ่งบอกผู้บริโภคอย่างชัดเจนว่าตนเองกำลังซื้อเนื้อปลาชนิดไหน เธอบอกว่าแซลมอนของ AquaBounty นั้นควรถูกเรียกว่า Frankenfish (เหมือนมอนสเตอร์แฟรงเกนสไตน์ที่ถูกตัดแต่งทดลองทางวิทยาศาสตร์) หรือ Fake fish (ปลาเทียม) เสียมากกว่า แม้ยังไม่มีกฎข้อบังคับว่าร้านที่ขายปลาแซลมอนตัดแต่งยีนต้องเขียนป้ายบอกลูกค้า และซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งบอกว่าพวกเขาไม่มีทางขายปลาประเภทนี้แน่นอน
นอกจากนี้ แม้ว่า AquaBounty จะเดินหน้าเต็มกำลังเพื่อผลิต Frankenfish ออกมาสู่ท้องตลาด แต่ปริมาณของมันก็เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับแซลมอนธรรมชาติ เทียบได้เพียงหยดน้ำในกะละมัง เอาเป็นว่าในเวลานี้ยังไม่ต้องกังวลไปว่าปลาแซลมอนที่เพิ่งรับประทานไปเมื่อกี้มาจากไหน เพราะโอกาสที่จะได้เจอปลาแซลมอนตัดแต่งยีนนั้นน้อยมากจริงๆ
มีหลายฝ่ายออกมาต่อต้านและเรียกร้องให้ FDA นำเรื่องนี้กลับไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง เพราะบางกลุ่มอย่าง Center for Food Safety ถึงขั้นฟ้องร้องทางกฎหมาย กล่าวหาว่าทาง FDA นั้นตัดสินใจไปโดยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงที่ตามมาในธรรมชาติอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากพอ เพราะลองคิดดูให้ดี ถ้าเกิดปลาแซลมอนที่ถูกตัดแต่งยีนเรียบร้อยหลุดออกไปในระบบนิเวศ (โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร และเราสามารถควบคุมมันได้หรือเปล่า แซลมอนในธรรมชาติจะเติบโตด้วยอัตราเร็วเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น
แน่นอนว่าผู้บริหารของ AquaBounty เห็นต่างในประเด็นนี้ เขาบอกว่าปลาแซลมอนตัดแต่งยีนนั้นถือว่าส่งผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะปลาเหล่านี้สามารถเลี้ยงให้เติบโตใกล้เมืองต่างๆ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งแพงระยับจากที่ไกลๆ สร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น โอกาสติดเชื้อโรคร้ายต่างๆ สำหรับปลาของเขาก็น้อยกว่า เพราะเลี้ยงในตู้ ซึ่งเขาเห็นว่าต่อไปการตอบรับของตลาดนั้นน่าจะดีขึ้น ไม่มีการขาดแคลนเนื้อปลาแซลมอนสำหรับผลิตอาหารเลี้ยงประชากรทั่วโลกแน่นอน
FDA ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นหรือบ่งบอกว่าตอนนี้มีการยื่นขออนุญาตสำหรับสัตว์ตัดแต่งยีนอีกหรือเปล่า เพราะมีข่าวว่าหลายบริษัทกำลังตัดแต่งยีนให้วัวไม่ต้องมีเขา หรือแม้แต่หมูที่ไม่ต้องมีการทำหมัน เพื่อลดขั้นตอนและรายจ่ายในการเลี้ยงดูก่อนถูกแปรรูปเป็นอาหารเย็นของเราทุกคน
เมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัท Okanagan Specialty Fruits ประกาศว่าได้เริ่มการผลิตแอปเปิ้ลสีทอง (Golden Delicious Apple) เพื่อให้พวกมันไม่มีสีคล้ำเมื่อโดนอากาศ โดยคาดว่าน่าจะเริ่มต้นขายได้ภายในปลายปีนี้ ทางบริษัทจะหั่นแอปเปิ้ลเป็นชิ้นพร้อมรับประทานใส่ในถุง โดยจะมีร้านค้าที่เข้าร่วมอยู่ประมาณ 400 กว่าร้านในตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียและทางฝั่งมิดเวสต์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการตัดแต่งยีนเพื่อความสวยงามมากกว่าจะช่วยเพิ่มผลผลิต และแน่นอนว่าไม่ได้มีกฎหมายบังคับให้ทางบริษัทบ่งบอกว่าแอปเปิ้ลถุงนี้ถูกตัดแต่งยีนมาหรือไม่ ซึ่งทางบริษัทเองก็พยายามไม่สร้างความแตกตื่นให้ผู้บริโภค โดยเขียนคำว่า ‘GMO Apple’ ติดหน้าห่อ ถึงแม้จะเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขานั้นปลอดภัยดีก็ตาม
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการตัดแต่งยีนในพืชและสัตว์ จริงอยู่ว่ามันคงเป็นหยดน้ำในกะละมังขนาดใหญ่ แต่ก็อย่าลืมว่าพอมันมีหลายๆ หยดเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ แม้จะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปก็ตาม เมื่อรู้ตัวอีกที น้ำทั้งกะละมังอาจจะเปลี่ยนไปหมดแล้วก็ได้
ผมหันไปถามภรรยาว่า “ถ้าเป็นไปได้ อยากรู้ไหมว่าแซลมอนที่เรารับประทานเข้าไปถูกตัดแต่งยีนหรือเปล่า” เธอหันกลับมาตอบ “ถ้ารู้ก็ดี แต่ถ้าไม่รู้แล้วทุกอย่างถูกตัดแต่งยีนหมด ทั้งแซลมอน หมู เนื้อ ผัก และผลไม้ เรามีทางเลือกอื่นด้วยเหรอ”
นั่นสินะ…เรายังมีทางเลือกอื่นอีกไหม
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่
อ้างอิง: