วันนี้ (16 พฤษภาคม) รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) เขียนข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า ขอชี้แจงการดีเบตที่พูดถึงโครงการ ‘ก่อการครู’ ดิฉันมีทีมนโยบายที่ปรึกษาด้านการศึกษาอยู่หลายท่าน หนึ่งในนั้นคือครูสัญญา มัครินทร์ ครูผู้ได้รับเลือกให้เป็นปาฐกของมูลนิธิโกมลคีมทอง ปี 2565 ซึ่งเป็นครูแกนนำคนหนึ่งในโครงการก่อการครู ซึ่งโครงการก่อการครูเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่มีความตั้งใจ และมีอุดมการณ์ในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยที่น่าสนใจ และสามารถเป็นแนวทางต่อวงการการศึกษา ดิฉันมีความตั้งใจที่จะเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมในแต่ละด้านที่มีความตั้งใจจะร่วมกันแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ทั้งปรับปรุงและพัฒนา เพราะเชื่อมั่นว่ามีแต่พลังของชุมชน ภาคประชาสังคมที่ตื่นรู้ที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาที่หมักหมมในแต่ละด้านได้
รสนายังระบุต่อไปว่า ดิฉันไม่ได้มีความตั้งใจจะเอากลุ่มก่อการครูมาเป็นฐานในการหาเสียงแต่ประการใด แต่นโยบายที่ดิฉันประกาศคือเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทุกภาคส่วนในด้านการศึกษา ซึ่งดิฉันได้รับเกียรติอย่างสูงจากครูสัญญา มัครินทร์ ครูรุ่นใหม่ที่เป็นผลผลิตของโครงการ ‘กลุ่มก่อการครู’ มาเข้าร่วมในทีมที่ปรึกษาของดิฉัน ซึ่งได้ประกาศสู่สาธารณะไปก่อนหน้านี้แล้ว
ดิฉันถอดเทปคำต่อคำที่ดิฉันพูดในการดีเบตดังนี้ “ดิฉันมีทีมงานนะคะ ที่เป็นกลุ่มก่อการครู ที่เขาเปิดโอกาสให้เด็กสามารถออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง และดิฉันคิดว่าถ้าเราสามารถเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง ด้วยวิธีการที่เขาอยากจะเรียน จะเป็นสิ่งที่สามารถจะทำให้เด็กเหล่านั้นไม่ตกไปอยู่ในสิ่งที่เป็นสิ่งแวดล้อมที่ไปสู่อบายมุข และดิฉันคิดว่าประเด็นที่สำคัญที่สุดคือว่า เราต้องเปิดพื้นที่ในชุมชน ดิฉันได้เจอ วันก่อนนะคะ เด็กเขาบอกว่า เขาอาศัยศิลปะในการที่จะทำในชุมชน และผู้ใหญ่เพียงแต่ให้โอกาสและสนับสนุนเด็กเหล่านี้ในการทำในสิ่งที่เขาต้องการ การที่จะไม่ให้เด็กไปสู่อบายมุขต้องเปิดโอกาสให้เขาค่ะ”
รสนากล่าวอีกว่า หากมีผู้เห็นว่าข้อความที่ดิฉันพูดยังไม่ชัดเจน ดิฉันต้องน้อมขออภัยเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดดังกล่าว และทำให้ ‘กลุ่มก่อการครู’ และคนที่เกี่ยวข้องไม่สบายใจและได้รับความเสียหาย ดิฉันจึงขอชี้แจงว่า ดิฉันไม่เคยมีเจตนาที่จะเด็ดยอด หรือหมายรวมเอาโครงการก่อการครูมาเป็นผลงานหรืออยู่ภายใต้ดิฉันแต่ประการใด แต่ยังขอยืนยันความชื่นชมที่ดิฉันมีต่อแนวคิดทางการศึกษาแบบใหม่ของ ‘กลุ่มก่อการครู’ ที่ควรจะขยายกว้างออกไปในวงการศึกษาของไทย
อ้างอิง: