×

‘ต้องหยุดโกง กรุงเทพฯ เปลี่ยนแน่’ รสนาประกาศลงผู้ว่าฯ กทม. คือ The Last Battle การต่อสู้ครั้งสุดท้า

13.05.2022
  • LOADING...
รสนา โตสิตระกูล

HIGHLIGHTS

13 Mins. Read
  • การสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปัจจุบัน รสนา โตสิตระกูล ลงสมัครในนามอิสระ ได้หมายเลข 7
  • ใจความสำคัญของการสัมภาษณ์ได้ครอบคลุมในหลายประเด็น ตั้งแต่ตัวตน การตัดสินใจ คำถามค้างคาใจที่สังคมอยากรู้ รวมถึงนโยบาย
  • รสนาอยู่ในสนามการเมืองระดับประเทศมาก่อน ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ก่อนตัดสินใจลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ในการเลือกตั้งหนใหม่ในรอบ 9 ปี

THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ เผยแพร่ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

สัมภาษณ์ รสนา โตสิตระกูล นักเคลื่อนไหวตรวจสอบการทุจริต เคยขึ้นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือเวทีคนเสื้อเหลือง ก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เธอกลับมาในสนามการเมืองอีกครั้งในนามผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พร้อมชูนโยบายเด่น ‘ต้องหยุดโกง กรุงเทพฯ เปลี่ยนแน่’ 

 

ชมคลิปสัมภาษณ์

 

สมัยเรียนมหาวิทยาลัย

ตอนแรกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ แต่หลังจากหยุดเรียนไปพักหนึ่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 กลับมาก็เปลี่ยนไปเรียนวารสารศาสตร์ ที่จริงสนใจทั้งเศรษฐศาสตร์และวารสารศาสตร์ เป็นคนแปลหนังสือตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย 

 

ความฝันวัยเด็ก 

ที่จริงจำคำพูดตัวเองไม่ได้ แต่เพื่อนเล่าให้ฟัง เคยพูด นักธุรกิจคือผู้สร้างชาติ 

 

ทุกวันนี้คนละเรื่องเลย 

ถูกต้อง  

 

เคยคิดไหมว่าวันหนึ่งจะกลายเป็นนักการเมือง 

ไม่เคยคิดเลย ไม่เคยมีความฝันในการที่จะมาเป็นนักการเมือง ไม่ได้อยู่ในความคิด  

รสนา โตสิตระกูล

 

มาเป็นได้อย่างไร

ตอนเรียนจบไปทำโครงการเล็กๆ ชื่อโครงการ ‘สมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง’ ตอนนั้นสนใจพุทธศาสนา สนใจการเปลี่ยนแปลงสังคมแบบสันติวิธี ตอนที่เรียนจบตอนนั้นได้ไอเดียจากการแปลหนังสือ มหาตมะ คานธี ที่พูดว่า งานสองเรื่องสำหรับมนุษย์ที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องการทำเกี่ยวกับปัจจัยสี่ สัมมาอาชีวะ เรื่องที่สอง การขัดเกลาจิตใจตัวเองให้มีความเห็นแก่ตัวที่น้อยลง

 

ตอนจบมหาวิทยาลัย เพื่อนที่เป็นเภสัชกรเขาก็ชวนมา บอกว่ามาช่วยทำโครงการด้วยกันหน่อย ยุคนั้นเราอยู่มูลนิธิโกมลคีมทอง ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ส่งเสริมอุดมคติของคนหนุ่มสาว ตอนนั้นอยากจะทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เป็นยุคที่ WHO ประกาศ Health for all by the year 2000 ซึ่งตอนนั้นต่างประเทศเริ่มยอมรับว่าการแพทย์แผนตะวันตกไม่สามารถตอบสนองต่อสุขภาพดีถ้วนหน้าสำหรับทุกคนในโลกที่สาม ตอนนั้นเราถูกเรียกว่าโลกที่สาม แล้วก็สนับสนุนโลกที่สามให้ใช้ Traditional Medicine ในยุคนั้นเราคิดว่าสโลแกนยังเป็นเรื่องมีอะไรให้ไปหาหมอ ซื้อยาปรึกษาเภสัชกร ผ่านมา 40 ปี ยุคนี้ก็ยังเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นตอนนั้นจากความคิดที่ มหาตมะ คานธี พูด เราก็คิดว่าเรื่องยาเป็นเรื่องหนึ่งในปัจจัยสี่ พอเพื่อนมาชวนก็เลยไปทำด้วย เขาขอให้อยู่ 2 ปี ไม่ให้ลาออก แต่อยู่จริง 20 กว่าปี โครงการสมุนไพรอยู่ 16 ปี แล้วยกระดับมาเป็นมูลนิธิสุขภาพไทย ดิฉันก็ยังเป็นกรรมการอยู่จนถึงปัจจุบัน 

 

ในที่สุดหลังต้มยำกุ้งปี 2540 มีเรื่องทุจริตยา ตอนที่เกิดเรื่อง บรรดาหมอและเภสัชกรเปิดโปง 2 เดือน แล้วโดนผู้บริหารเล่นงาน จนเขาต้องมาหาองค์กรภาคเอกชนอย่างพวกเรา อยากจะขอให้เข้ามาช่วย เพราะเขารับมือไม่ไหวแล้ว

 

ตอนนั้นดิฉันก็ไปแถลงข่าวช่วยหมอ จริงๆ หัวหน้าทีมคือ เดช พุ่มคชา ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรภาคเอกชน แต่ปรากฏแกไปผิดที่ เราย้ายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพราะเป็นวันหยุด ไปที่ร้านต้นโพธิ์ ท่าพระอาทิตย์ แต่แกไปโผล่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

 

ตอนนั้นจึงเป็นอุบัติเหตุ ทำให้ดิฉันต้องแถลง แล้วสื่อมวลชนมาตามดิฉัน ตอนนั้นมีการหยิบยกเรื่องทุจริตมาเป็นประเด็นแรก แล้วบังเอิญเป็นผู้หญิงมาแถลงด้วย เพราะฉะนั้นสื่อจึงตาม

 

พอเริ่มโดดเด่น คนเริ่มรู้จัก มาเป็นนักการเมืองได้อย่างไร  

กรณีนี้เป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญ เรามีรัฐธรรมนูญ 2540 เปิดทางให้มีการรวบรวม 50,000 ชื่อเพื่อถอดถอนนักการเมือง รวมถึงข้อกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งตอนนั้นพวกเราทดลองกลไกประชาชนเป็นครั้งแรก รวบรวมได้ 50,000 ชื่อจริง แต่ปรากฏว่าตอนไปยื่นที่สภา สภาบอกว่ายังไม่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เราเลยถูกดองไว้ รออีกปีเมื่อมีการตั้ง ป.ป.ช. ก็เลยเอาเรื่องร่ำรวยผิดปกติเข้าไปร้อง กรณีนั้นทำให้อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขถูกยึดทรัพย์ 233.8 ล้านบาท 

 

ถือว่าเป็นผลงานของภาคประชาชน กรณีนี้นำไปสู่การที่รัฐมนตรีต้องคดีอาญาด้วย เพราะในความร่ำรวยผิดปกตินั้นพบว่า มีจำนวน 5 ล้านบาทที่รับมาจากบริษัทยา ก็เลยทำอีกคดีขึ้นมา เป็นผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาร้องเพื่อให้เข้าระเบียบ แล้วในที่สุด 2 คดีนี้โยงกันไปมา แล้วก็ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี ซึ่งเราถือว่าคดีนี้เป็นคดีแรกที่ภาคประชาชนทำให้นักการเมืองสามารถติดคุกได้  

 

รสนา โตสิตระกูล

 

ถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรสนาในสมัยนั้นไหม 

ถือว่าเป็นความสำเร็จร่วมกัน เพราะครั้งนั้นมีทั้งสื่อ หมอที่อยู่ในกระทรวง และภาคประชาสังคมต่างๆ เข้ามาร่วมกัน เพราะฉะนั้นเป็นความสำเร็จร่วมกันของหลายๆ ภาคส่วนที่ทำให้เรื่องนี้สามารถไปถึง 

 

หลังจากนั้นภาพรสนาเป็นนักตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชัน เคยได้รับอันตรายอย่างไรบ้าง

เจอบ่อย เคยโดนวางระเบิดสำนักงานด้วย มีคนโทรมาด่า โทรมาขู่ที่บ้าน เคยโดนคดีฟ้อง ถูกรัฐมนตรีฟ้อง 4 คดี ในจังหวัดภาคอีสาน โดนปลัดกระทรวงสาธารณสุขฟ้อง 1 คดี รัฐมนตรีช่วยฟ้อง 1 คดี ช่วงนั้นได้เครือข่ายทนายอาสาและทนายของสภาทนายความเข้ามาช่วย เป็นครั้งแรกที่ต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล

 

หวาดหวั่นใจไหม มีคดีเต็มไปหมด 

แน่นอน ตอนนั้นก็ขาสั่นเหมือนกัน 

 

วันนี้ชินแล้ว? 

ต้องบอกว่าทุกคดีเราสู้ได้หมด เพราะฉะนั้นตอนหลังๆ ก็เจออีกหลายคดี เจอบ่อย คดีเยอะมาก สู้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราชอบโดนคดี

 

ไม่กลัวที่จะเป็นนักตรวจสอบ

ก็กลัวเหมือนกัน จะไปบอกว่าไม่กลัวก็ไม่ได้ ทีนี้เราก็ต้องระมัดระวังว่าเราก็ต้องป้องกันตัวเวลามีการพูดอะไรเหล่านี้ ก็ต้องพยายามพูดข้อเท็จจริงที่เราสามารถหาข้อมูลได้ อะไรที่เกินเลยเราต้องระวัง ต้องระวังตลอด เพราะไม่แน่นอนว่าเราจะถูกฟ้องวันไหน แล้วถ้ามีการฟ้อง เราต้องสามารถสู้ได้ 

 

เวลาว่างทำอะไร 

อ่านหนังสือ แปลหนังสือ ฟังเพลงทั่วๆ ไป ไปวัดปฏิบัติธรรม อีกงานที่คนไม่ค่อยรู้คือ ปิดทองพระพุทธรูปองค์เล็กๆ พระพุทธรูปที่ไม่ใช่ทอง แต่ได้ไปเรียนรู้วิธีปิดทอง เคยทำให้มูลนิธิพันดารา ตอนยังเป็น ส.ว. อยู่ ทำกระทั่งปี 2563 หลังจากนั้นไม่ได้ทำอีก การปิดทองได้ฝึกสมาธิและเป็นเครื่องชโลมใจถึงความสำเร็จ ผลสำเร็จในการทำอะไรเป็นรูปธรรม

 

รสนา โตสิตระกูล

 

ไปลง ส.ว. ได้อย่างไร 

หลังจากทำงานตรวจสอบเรื่องทุจริตยา ก็จะมีเรื่องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่มีการแปรรูป ตอนนั้นดิฉันและพรรคพวกที่เป็นเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เราก็ไปฟ้องศาลปกครอง ซึ่งไม่มีใครเชื่อว่าสามารถทำได้ ดิฉันปรึกษาอาจารย์ที่จุฬาฯ เป็นนักกฎหมาย เขาบอกว่าไม่มีประโยชน์หรอกพี่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมาแล้วว่าทุนรัฐวิสาหกิจไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นจะไปร้องก็น่าจะรกโรงรกศาลเปล่าๆ

 

แต่ตอนนั้นพวกเราก็คิดว่า ถึงแม้ว่าถ้าเรามองโดยภาพใหญ่เป็นทุนรัฐวิสาหกิจที่มีการแปรรูป แต่ในรายละเอียดมันไม่ใช่ เช่น การที่เรามีกฎหมายเวนคืน ระบุชัดเจนต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น ฉะนั้นสายส่งไฟทั้งหลายอยู่บนพื้นที่เวนคืนจะแปรรูปแล้วยกให้เอกชนน่าจะไม่ถูกต้อง ก็ทดลองดู หลายคนคิดว่าจะไม่สำเร็จ แต่เราไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องที่คิดว่าจะสำเร็จ เราทำเพราะเชื่อว่ามันถูกต้อง ส่วนสำเร็จหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องของเรา

 

ถ้าเชื่อว่าถูกก็ทำ ไม่ใช่ทำแต่เรื่องชนะเท่านั้น เพราะก็มีเพื่อนอย่าง วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่แกช่วยเหลือคนจน ช่วยเหลือคนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี ที่ญาติๆ แกมักจะพูดว่า พี่มดทำอะไรมีแต่อยู่กับความพ่ายแพ้ตลอด ไม่มีอะไรที่ชนะเลยสักครั้ง ดิฉันบอกว่าคนที่อยู่กับความพ่ายแพ้ได้ตลอดเวลาต้องเป็นคนเข้มแข็งมากนะ 

 

ดิฉันนับถือคนที่อยู่กับความพ่ายแพ้แล้วไม่ยอมแพ้และยังอยู่ต่อไป ดิฉันคิดว่าสิ่งที่เพื่อนทำหลายเรื่องเตือนใจเราว่ามีคนที่อยู่กับสิ่งที่เขาเชื่อมั่นว่าเป็นความถูกต้อง แล้วเขาพยายามทำ แม้จะต้องอยู่กับความพ่ายแพ้ ก่อนวนิดาจะเสียชีวิตเขาบอกดิฉันว่าฝากประเทศไว้กับเธอนะ 

 

ตอนนั้นก่อนหรือหลังเป็น ส.ว. 

ดิฉันลง ส.ว. ปี 2549 ได้อันดับ 4 ตอนนั้นเป็นรัฐธรรมนูญปี 2540 ส.ว. กทม. มี 18 คน ต่อมา คมช. รัฐประหาร จึงไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ 

 

ส่วนวนิดาเขาเสียชีวิตปี 2550-2551 ก่อนเพื่อนจะเสียชีวิตเขายังเรียก ส.ว. มาแล้วเหรอ ตอนจังหวะปัจฉิมทัศนาที่เราจะลากัน เขาบอกว่าฝากประเทศไว้กับเธอนะ 

 

เขาเข้มแข็ง อยู่กับความพ่ายแพ้จนวาระสุดท้ายของชีวิตก็ยังไม่ยอมแพ้ ยังอุตส่าห์ฝากบ้านเมือง คนแบบนี้น่าจดจำ เป็นความรู้สึกสะเทือนใจ มีคนเป็นห่วงบ้านเมืองจนวาระสุดท้าย 

 

ลง ส.ว. ปี 2551 ตอนนั้นเป็นอย่างไร 

สมัยนั้นมีโพลบอกไม่ได้หรอก แต่ก็ได้คะแนนมา 743,397 คะแนน เป็นสิ่งเหนือความคาดหมายมากเลย

 

รสนา โตสิตระกูล

 

คิดว่าเพราะอะไรตอนนั้นถึงได้คะแนนจากคนกรุง 7 แสนกว่าคะแนน 

อาจมีหลายเหตุผสมกัน เพราะช่วงนั้นกรณีแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของคนมาก เพราะเขารู้สึกว่าเรื่องไฟฟ้าเป็นเรื่องของทุกๆ คน ถ้าหากว่าการไฟฟ้าถูกแปรรูปไปเหมือน ปตท. ประชาชนคนเล็กคนน้อยคงจะแย่ เพราะทุกคนต้องใช้ไฟฟ้า เพราะฉะนั้นเรื่องนี้อยู่ในจิตใจของคน ช่วงปี 2549 กับ 2551 ไม่ห่างกันเท่าไร อันนั้นน่าจะเป็นประเด็นสำคัญข้อหนึ่ง 

 

ในช่วงหลังหายไปบ้าง อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจมาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.

คนที่อยู่ในวงการจะไม่คิดว่าดิฉันหายไปไหน เพราะหลังจากเป็น ส.ว. ประเด็นที่เราได้ทำในฐานะที่เป็นประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล ช่วง 6 ปีที่อยู่ในตำแหน่ง เราทำเรื่องพลังงานอย่างมาก เพราะเราเห็นว่ากรณีเรื่องพลังงานเป็นตัวที่ทำให้เกิดปัญหา ทั้งเรื่องของราคา เกิดความเหลื่อมล้ำเรื่องคนรวย-คนจนเพิ่มขึ้น คือพลังงานทั้งโลกเป็นตัวที่ทำให้เกิดการสะสมทุน ทำให้เกิดการสร้างความเหลื่อมล้ำขึ้นมา แล้วยังเป็นตัวที่ทำให้เกิดพิบัติภัยต่างๆ โลกร้อน ประเด็นที่มีผลมาจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีเรื่องน้ำมันเข้ามา 

 

เพราะฉะนั้นคิดว่าเรื่องนี้เราทำมาตลอด 6-7 ปี แล้วก็ทำให้ประชาชนตื่นตัวเรื่องพลังงานมากขึ้น มาถึงปัจจุบันเราก็ยังต่อสู้เรื่องราคาพลังงานที่เป็นธรรม แล้วสิ่งที่คนในแวดวงจะเห็น ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือไม่มีตำแหน่งดิฉันก็ยังทำ ทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตัว เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ คนที่อยู่ในแวดวงในเรื่องนี้จะเห็น 

 

ส่วนเหตุผลที่ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพราะการตรวจสอบทุจริตที่ผ่านมา ประเด็นความสำเร็จอาจจะมีสัก 2-3 เรื่อง แต่เรื่องที่ไม่สำเร็จมีเยอะ เพราะกระบวนการตรวจสอบทั้งหมดเป็นเขาวงกต หาทางแก้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นคิดว่าถ้าเรามีโอกาสในการบริหาร ถ้าบริหารให้มันมีธรรมาภิบาล มันจะลดกระบวนการตรวจสอบเหล่านี้ลงไปได้ 

 

ส่วนต่อมาดิฉันเชื่อมั่นว่าในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยต้องเริ่มจากการที่เราทำในสิ่งที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเติบโตขึ้น ในการที่เขาจะสามารถมีอำนาจ ในการที่เขาจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาต่างๆ เพราะว่าเวลาเราพูดถึงประชาธิปไตยคืออำนาจของประชาชน แต่อำนาจของประชาชนส่วนใหญ่อยู่กับตัวแทน ซึ่งหลังจากเราเลือกแล้ว เราก็จะหมดอำนาจ 

 

ดิฉันคิดว่าพื้นที่ในการบริหารงานท้องถิ่นเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยทางตรงหรือประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือกันมากขึ้น 

 

เพราะดิฉันเชื่อมั่นว่าถ้าเราไม่ต้องการที่จะทำให้การเมืองเป็นพื้นที่ในการทำมาหากิน เป็นธุรกิจการเมือง การเมืองโดยอุดมคติคือการที่เราเป็นคนจัดสรรทรัพยากร สิ่งที่มีคุณค่า ให้กับสมาชิกที่อยู่ในพื้นที่นั้นให้ใกล้เคียงความเท่าเทียมกันมากที่สุด สิ่งนี้เป็นอุดมคติของงานการเมือง เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มันต่อสู้กันมานาน 

 

ดิฉันเองเป็นคนยุค 14 ตุลา 2516 เราก็ผ่านกระบวนการต่อสู้มาตลอดเวลา การต่อสู้ทั้งหมดที่ผ่านมาเราเสียชีวิต เสียเลือด เสียเนื้อ เสียทุกอย่าง เราหวังเห็นสังคมเปลี่ยนแปลง แต่มาถึงวันนี้ดิฉันก็คิดว่าสังคมที่เราเห็นอยู่ ณ วันนี้ มันเป็นได้แค่นี้จริงหรือ เราไม่รู้ว่าตกลงเราเลือกตัวแทนเราเป็นคนหรือเป็นลิง เพราะตอนนี้เห็นแจกกล้วยกันตลอดเวลา พูดกันเป็นปกติธรรมดาซึ่งไม่ปกติแน่นอน 

 

ดิฉันคิดว่าในฐานะประชาชน เราอยู่ในขบวนการต่อสู้เรื่องเหล่านี้มาตลอด เราไม่อยากทิ้งสังคมไว้ในลักษณะแบบนี้ เพราะคนรุ่นใหม่หลายคนแม้จะไม่รู้จักดิฉัน แต่ว่าคนเหล่านี้เขาบอกว่าเขาอยากย้ายประเทศใช่ไหม เขาไม่อยากอยู่เพราะว่าบ้านเมืองนี้ไม่ให้ความหวังอะไรกับเขา ไม่มีอนาคต ซึ่งมันไม่จริง 

 

อนาคตเราต้องสร้างกัน ไม่มีใครมาสร้างให้เราได้ เราต้องทำเอง หลายคนอาจจะบอกว่าดิฉันอายุเยอะแล้วมาลงทำไม ดิฉันคุยกับเพื่อน NGO ตอนที่เราจะลง เพื่อนที่เป็นนักข่าวหลายคนก็บอกว่าพี่น่าจะพักผ่อนในช่วงปลายของชีวิต จะลงทำไม 

 

ดิฉันคิดว่านี่เป็น The Last Battle ของรสนา นี่เป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของดิฉัน จะทำไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ 

 

เราไม่อยากเห็นการส่งมอบสังคมให้กับคนรุ่นต่อไปในลักษณะปรักหักพังแบบนี้ ดิฉันเป็นชาวพุทธ เราคิดว่าชีวิตเรามันสั้น แต่ชีวิตของบ้านเมืองมันยืนยาว แล้วในการที่เรามาอยู่ในโลกนี้ชั่วคราวก่อนที่เราจะลาจากไป เราบริโภคกินอาหารเสร็จแล้วก็เก็บให้เรียบร้อย ส่งมอบเพื่อให้คนรุ่นต่อไปเขาได้พื้นที่ ได้ถ้วยชามที่สะอาดที่เขาจะใช้ต่อไป เขามีอาหารที่ไม่ใช่เราไปแย่งอนาคตของเขามากินแล้วเหลือแต่เศษซากกระดูกส่งมอบให้เขา ดิฉันรู้สึกว่าอยากจะรับผิดชอบตรงส่วนนี้  

 

รสนา โตสิตระกูล                  

 

ถ้าไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะวางมือทางการเมืองหรือไม่ 

ดิฉันก็ยังเป็นประชาชนที่ยังทำงานเคลื่อนไหวภาคประชาชนอยู่ ส่วนการเมืองแล้วแต่โอกาส แล้วแต่สถานะ แล้วแต่สุขภาพ แต่ขณะนี้ที่เราแข็งแรงพอที่จะทำอะไร เราก็คิดว่าเราจะทำเต็มที่ แต่ว่าเราไม่ทิ้งอยู่แล้ว ในฐานะที่เราเป็นประชาชน เราก็ต้องต่อสู้เพื่อประชาชน

 

สำหรับดิฉันเมื่อตอนหาเสียง ส.ว. พบข้อความหนึ่งที่บ้านครัว เป็นข้อความที่ดีมาก ไม่ทราบว่าใครเขียน เขาเขียนว่า ‘ไม่มีส่วนไหนยิ่งใหญ่กว่าส่วนรวม’ 

 

โอ้โห คนเขียนเขาเข้าใจนะ เพราะในส่วนรวมมีส่วนของเราทุกคน การที่เราเห็นว่าส่วนรวมนั้นยิ่งใหญ่กว่าส่วนไหนๆ อันนี้ถูกต้อง ทุกคนต้องรักษาส่วนรวมไว้ เหมือนภาษิตจีนที่ว่า รักษาขุนเขาไว้ ไม่ต้องกลัวไร้ฟืนเผา 

 

ถ้าเรารักษาส่วนรวมไว้ ทุกคนจะได้ประโยชน์ เป็นสิ่งที่ถือคติมาตลอดว่าการที่รักษาส่วนรวมคือรักษาส่วนของตัวเองด้วย แต่ไม่ใช่แย่งชิงทุกอย่างมาเป็นของตัวเอง แล้วทำให้คนอื่นอยู่ไม่ได้ อันนั้นทำให้สังคมการเมืองเราขาดสุขภาวะ ขาดเสถียรภาพ

 

ดิฉันให้ความสำคัญกับสิ่งที่ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พูดเรื่องคุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ถ้าเรามีชีวิตอยู่ ก็อยากจะให้รัฐที่เราเลือกผู้แทนมาดูแลเราตั้งแต่เกิดถึงตาย อย่าให้เราต้องมาเสียชีวิตในสงครามแบบโง่ๆ เราไม่ควรเสียชีวิตโง่ๆ กับความขัดแย้งทางการเมือง ประชาธิปไตยทางการเมืองต้องมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเป็นฐานรองรับ

 

นโยบายของดิฉันให้ความสำคัญกับการทำมาหากินของคนเล็กคนน้อย เพราะรัฐบาลสนใจแต่ธุรกิจใหญ่ๆ หน่วยงานใหญ่ๆ ต้นไม้จะแข็งแรงไม่ใช่ด้วยรากแก้วอย่างเดียว แต่เต็มไปด้วยรากเล็กๆ น้อยๆ ที่พยุงต้นไม้เศรษฐกิจหรือประเทศให้อยู่ได้   

 

ลงอิสระจริงหรือไม่ 

จริงแน่นอน เลือกลงท้องถิ่น เพราะไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ไม่มีใครหนุนหลัง 

 

ถ้ามาเป็นผู้ว่าฯ จะแก้ส่วยใน กทม. ได้หรือไม่ 

ต้องแก้ได้ หัวไม่ส่าย หางต้องไม่กระดิก แต่ถ้าหางกระดิกก็ต้องช่วยกันจัดการหางที่มันกระดิก เพราะดิฉันเชื่อมั่นว่าถ้าเราเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาตรวจสอบ การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันต้องอยู่ในที่สว่าง ที่ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ แล้วดิฉันยินดีที่จะให้คนตรวจสอบดิฉันด้วย

รสนา โตสิตระกูล

 

พ่อค้าแม่ค้าจ่ายเทศกิจ ไม่อย่างนั้นตั้งขายริมถนนไม่ได้ จะแก้อย่างไร

แก้ได้แน่นอนถ้าผู้ว่าฯ ไม่รับส่วย พ่อค้าแม่ค้าบอกว่า เวลาเทศกิจรับส่วย ต้องส่งนาย ดิฉันก็ไม่รู้ว่านายไหนนะ ต้องตั้งคำถาม เพราะฉะนั้นถึงบอกว่าเวลาที่จะเกิดปัญหาพวกนี้ขึ้นมา ก็คือมีผู้ใหญ่รับไหม เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ทั้งหลายก็ต้องทำไปตามนั้น สมมติถ้าหัวไม่ส่าย หางก็กระดิกไม่ได้ แล้วส่วนนี้ต้องถูกตรวจสอบ เรื่องการรับส่วย การรับเงินใต้โต๊ะ การรับเงินทอน ในยุคสมัยของดิฉันต้องไม่มีแน่นอน 

 

มีกำหนดระยะเวลาเท่าไรไหม

ทำเลยตั้งแต่วันแรก ต้องเป็นนโยบายเลยว่าไม่มีการรับส่วย คนที่จะขึ้นมาเป็น ผอ. เป็นอะไรเหล่านี้ ไม่ต้องมาจ่ายเงิน คุณมาด้วยฝีมือและความสามารถของคุณ แล้วก็การที่เปิดพื้นที่ให้มีการตรวจสอบ เคยคุยกับอดีตผู้ว่าฯ สตง. ว่า อยากให้มาเป็นผู้ตรวจสอบอิสระ มาตรวจสอบผู้ว่าฯ ด้วยนะ มาตรวจสอบการใช้งบประมาณ ใช้อย่างคุ้มค่าไหม เพราะเดี๋ยวนี้ใช้แบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไม่ได้ใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แล้วยิ่งมีเงินทอนก็แสดงว่าอะไรก็ตามที่ทำจะไม่ได้เต็มร้อย 

 

แม้แต่การประมูล ต้องเปิดเผยให้คนที่เกี่ยวข้องเข้ามาสังเกตการณ์ได้ เพื่อให้มีการตรวจสอบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ การจะรับมอบถนน ทางเท้าที่ห่วยแตกใช้ปีเดียวก็พัง ต้องมาตรวจสอบเลย มารับมอบตั้งแต่แรก จัดซื้อจัดจ้างด้วยราคานี้เหมาะสมหรือไม่ ต้องทำอย่างนั้น ประเทศเราจะสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ต้องโปร่งใส

 

รถไฟฟ้า 20 บาท มั่นใจขนาดไหน ทำได้จริงหรือ 

ดิฉันดูข้อมูลทางการเงินของบีทีเอสในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ค่าโดยสารการเดินรถต่อเที่ยวค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 10-16 บาท แต่ว่าที่เราต้องจ่ายเงิน 65 บาท เพราะมันมีต้นทุนโครงสร้างระบบรางที่เข้ามารวมอยู่ในนี้ แต่ในปี 2572 ต้นทุนระบบรางตรงนี้จะถือว่าถูกจ่ายหมดแล้ว หมดสัมปทานแล้ว รถไฟฟ้าสายสีเขียวจะตกเป็นสมบัติของ กทม. 

 

แต่ผู้ว่าฯ กทม. ในยุคที่จะเลือกนี้จะต้องเป็นคนตัดสินใจว่าคุณจะต่อสัมปทานหรือไม่ เพราะถ้าไม่ต่อก็ต้องแจ้งล่วงหน้า 5 ปี คือภายในปี 2567 ซึ่งใน 2567 ลองคิดดู ในเมื่อสมบัติอันนี้คือรถไฟฟ้าสายสีเขียวตกเป็นของ กทม. ก็จะเหลือแต่ค่า Maintenance กับค่าเดินรถ ซึ่งค่าเดินรถ กทม. สามารถเปิดประมูลให้เอกชนทุกรายมาแข่งราคากันว่าราคาต้องไม่เกิน 20 บาท ทำได้แน่นอน 

 

นอกจากนั้น กทม. ยังสามารถจะมีรายได้จากพื้นที่ในสถานีรถไฟ 23 สถานี แล้วการโฆษณาในขบวนรถ ในสถานี รวมไปถึงการเชื่อมต่อกับพื้นที่ของเอกชน รวมแล้วปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท 

 

เพราะฉะนั้น 20 บาทสำหรับประชาชนทำได้แน่นอน แต่มันมีสิ่งที่ดิฉันตั้งคำถามเลยว่ามันมีกระบวนการทุจริตเชิงนโยบาย เพราะเขาได้ทำส่วนต่อขยาย 2 ข้าง อ่อนนุชไปสมุทรปราการ แบริ่งไปสมุทรปราการ ส่วนหมอชิตต่อไปถึงคูคต สองส่วนนี้ไม่ใช่ของ กทม. แต่เป็นของ รฟม. แล้วรัฐบาลในยุคก่อนๆ ตัดสินใจให้สร้าง โดยอ้างว่าเมื่อประเมินผลในทางเศรษฐกิจแล้วคุ้มค่า แต่ผลในทางธุรกิจไม่คุ้มค่าเลย ขาดทุน แน่นอน เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องจ่ายเงินที่จะให้เดินรถ แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมากลายเป็น กทม. ไปทำสัญญาจ้างเดินรถถึงปี 2585 เกิดการเขย่ง ส่วนตรงกลางจะหมดปี 2572 ส่วนต่อขยายหมดปี 2585 เพราะฉะนั้นเกิดการล็อกสเปก ในที่สุดจะไปจ้างคนอื่นมาเดินไม่ได้ ต้องจ้างเจ้าเก่าเดินใช่ไหม แล้วสองส่วนต่อขยายที่ไม่ได้เป็นของ กทม. แต่ กทม. ดันไปจ้างเดินรถ

 

พอจ้างเดินรถถึงปี 2585 ในยอดเงิน 161,000 ล้าน แล้วเวลานี้เดินรถโดยไม่เก็บค่าโดยสาร ก็เป็นหนี้พอกพูน แล้วก็ถูกบีบต้องต่อสัมปทานไปอีก 30 ปีในราคา 65 บาท 

 

จะทำอย่างไร 

ต้องแก้ มีวิธีแก้ตรงนี้ แต่ประเด็นนี้ต้องถามว่ารัฐบาลจะว่าอย่างไรในเรื่องนี้ ถ้าคน กทม. เลือกดิฉัน เราจะไม่ปล่อยให้คุณต้องรับภาระอย่างนี้แน่นอน เราจะสู้กับคุณไปถึงที่สุดในเรื่องนี้ เพราะอันนี้คือการที่บีบคน กทม. ให้ยอมรับ 65 บาท ไปอีก 30 ปี คืออีก 1 เจเนอเรชัน 

 

ดิฉันจะไม่ยอม 65 บาท และจะไม่ยอมต่อสัมปทาน ต้องแก้โจทย์หลายโจทย์ตรงนี้ ซึ่งคิดวิธีแก้ไว้แล้ว แต่ถ้าอธิบายจะยาว 

 

รสนา โตสิตระกูล

 

ลงอิสระจะสามารถทำงานกับรัฐบาลและ ส.ก. ได้หรือไม่ 

การเมืองระดับชาติต้องเลือก ส.ส. เพราะ ส.ส. ต้องไปเลือกนายกฯ แต่สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น ประชาชนเลือกผู้ว่าฯ ด้วยตัวเอง แล้วก็เลือก ส.ก. ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เราตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกันได้ การที่ดิฉันไม่มี ส.ก. จะทำให้ดิฉันสามารถทำงานกับ ส.ก. ทุกพรรคได้ เพราะเราจะไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นพวกใครพวกเขา 

 

แล้วดิฉันคิดว่าเมื่อ ส.ก. ถูกเลือกมาโดยประชาชน ก็ต้องทำประโยชน์ให้ประชาชน สิ่งเหล่านี้คือการถ่วงดุลอำนาจในระบบประชาธิปไตยที่เราควรจะพัฒนาให้มีความเข้มแข็ง และพัฒนาให้ประชาชนเข้ามามีส่วนตรวจสอบ ส.ก. ของคุณ และตรวจสอบผู้ว่าฯ ด้วย ว่าทั้งสองฝ่ายทำงานเพื่อประโยชน์ของชาว กทม. จริงหรือไม่

 

หลายคนอาจจะบอกว่า กทม. มีอำนาจน้อย แต่ถ้าคุณได้รับเลือกมาโดยอำนาจของประชาชน คุณต้องทำให้ได้ คุณมีประชาชนเป็นหลังพิงอยู่แล้ว ประชาชนเลือกคุณเพราะนโยบายเรื่องนี้ ประชาชนก็ต้องมาร่วมสู้ด้วยกัน ในกระบวนการต่อสู้เหล่านี้เป็นสิ่งที่ดิฉันเคยต่อสู้มาโดยตลอด แต่ต่อสู้โดยไม่มีอำนาจที่จะไปทำอะไรได้ จึงทำได้เพียงแค่กฎหมายมีอะไรบ้างที่จะมาใช้เป็นกลไกเครื่องมือ ฟ้องที่โน่นที่นี่ แต่อย่างที่บอก เราก็เจอเขาวงกตตลอดเวลา ถ้าเรามีโอกาสบริหาร เราคิดว่าเราก็จะทำให้อำนาจของคน กทม. เป็นอำนาจที่แท้จริง ที่เขาต้องมาร่วมตัดสินใจกับพวกเราด้วย 

 

คนมองว่าจะแย่งฐานเสียงกันเองกับอัศวิน, สุชัชวีร์, สกลธี เป็นฝั่งนี้หาร 4 หรือไม่ คิดอย่างไร 

ดิฉันไม่ค่อยได้สนใจการคิดแบบนั้น เพราะคิดว่าประชาชนมีวุฒิภาวะ และเขาควรจะคิดว่าเขาต้องการผู้ว่าฯ มาทำงานอะไรให้กับเขา เพราะฉะนั้นดิฉันไม่ได้คิดว่าจะต้องไปแบ่งอะไรใคร ดิฉันไม่เคยสนใจประเด็นพวกนี้เลย  

รสนา โตสิตระกูล

 

คิดอย่างไรกับสโลแกน ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ 

มันก็ไม่ลงตัวอยู่แล้ว มันเป็นเพียงแค่คำโฆษณาประชาสัมพันธ์เท่านั้นเอง แต่สโลแกนของดิฉันคือ ‘ต้องหยุดโกง กรุงเทพฯ เปลี่ยนแน่’ ถ้าคุณไม่หยุดโกง ต่อให้คุณคิดโครงการวิลิศมาหราขนาดไหน คุณจะไม่มีทางทำได้ แล้วคุณจะไม่มีทางที่จะมีทรัพยากรมากเพียงพอจะจัดสรรปันส่วนให้กับคน กทม. ให้มากที่สุดที่จะเป็นประโยชน์กับเขาตรงนี้ได้ 

 

มีอะไรอยากฝากแฟนรายการ THE STANDARD NOW และคนที่จะไปเลือกตั้งวันที่ 22 พฤษภาคมนี้   

ดิฉันเองขอสวัสดีเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั้งหลายที่เป็นแฟนคลับของ THE STANDARD สำหรับดิฉันเองเราก็เชื่อมั่นว่าบ้านเมืองนี้เป็นของเรา ท่านไม่ต้องย้ายไปอยู่ประเทศไหน เราควรมาต่อสู้ร่วมกันเพื่อที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นบ้านของเรา แล้วการที่ดิฉันประกาศว่าต้องหยุดโกง กรุงเทพฯ เปลี่ยนแน่ เมื่อเราเปลี่ยนกรุงเทพฯ ได้ เราจะเปลี่ยนประเทศไทยได้ ขอให้ท่านเชื่อมั่นในตัวเองและเชื่อมั่นที่จะมาต่อสู้ร่วมกันในการทำให้การโกงนั้นหมดไป เพราะดิฉันเชื่อมั่นว่าโลกที่เราเห็นอยู่ในวันนี้ที่บอกว่ามันจะต้องเป็นเช่นนี้ การโกงแก้ไขไม่ได้ ไม่จริง เราต้องฝันถึงโลกที่ควรจะเป็นในวันข้างหน้า สมัยเมื่อ 200 ปีที่แล้ว เวลาที่สหรัฐอเมริกาบอกว่าเราจะเลิกทาส ทุกคนบอกว่าเราจะอยู่ได้อย่างไรโดยไม่มีทาส 

 

แต่มาถึงวันนี้เราพบว่า การไม่มีทาสเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แล้วสักวันหนึ่งท่านจะเชื่อมั่นว่าการไม่มีทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยจะทำให้ประเทศไทยเราเจริญ และเดินไปข้างหน้าพร้อมกับประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายได้แน่นอนด้วยตัวของพวกเราเอง เลือกเบอร์ 7 นะคะ รสนาค่ะ 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X