ทุกวันนี้ค่าครองชีพในชีวิตประจำวันมีแต่จะพุ่งสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟ ค่าน้ำมัน และค่าครองชีพอื่นๆ ที่จำเป็นต้องจ่ายออกไปทุกๆ เดือน หากโฟกัสมาที่ค่าใช้จ่ายส่วนตัวของผู้หญิง เช่น การซื้อผ้าอนามัยในแต่ละเดือนของหญิงที่มีประจำเดือน นับเป็นอีกปัจจัยจำเป็นที่เลี่ยงไม่ได้ และราคาของผ้าอนามัยก็มีหลากหลายราคา ไม่ว่าจะเป็นแบบใช้ภายนอก (Sanitary Pad) หรือผ้าอนามัยแบบสอด (Tampon) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง ผ้าอนามัยก็ไม่ต่างจากการเป็นส่วนหนึ่งของขยะที่เกิดขึ้นในโลก ทำให้ช่วงนี้เริ่มมีกระแสของการใช้ถ้วยอนามัย (Menstrual Cup) แทนการใช้ผ้าอนามัยในผู้หญิงที่มีประจำเดือน ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีหลายคนที่ไม่รู้จัก ไม่กล้าใช้ หรืออยากรู้จักถ้วยอนามัยให้มากขึ้นกว่านี้ เผื่ออยากเปลี่ยนมาเป็นทางเลือกใหม่ในการประหยัดค่าผ้าอนามัย และช่วยลดขยะในโลกไปในตัว พญ.ชัญวลี ศรีสุโข จึงมาไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับถ้วยอนามัยให้ได้เข้าใจแจ่มแจ้งดังนี้
ถ้วยอนามัย (Menstrual Cup) คืออะไร?
แต่เดิมผลิตภัณฑ์รองรับประจำเดือนในผู้หญิงที่มีประจำเดือน มักนิยมใช้ผ้าอนามัย โดยมีทั้งผ้าอนามัยแบบธรรมดา (Sanitary Pad) และผ้าอนามัยแบบสอด (Tampon) ซึ่งแบบหลังได้รับความนิยมน้อยกว่า และการเกิดขึ้นของถ้วยอนามัยนั้น จากข้อมูลพบว่า เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 ที่มีการผลิตถ้วยอนามัยในทางการค้าให้เป็นทางเลือกของการจัดการกับวันมามากและมาน้อยของเดือนสำหรับผู้หญิง ซึ่งจะใช้สอดใส่เข้าไปรองรับเลือดประจำเดือนในช่องคลอด และมีการพัฒนาต่อยอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ถ้วยอนามัยรองรับประจำเดือนได้ขนาดไหน?
โดยปกติแล้ว ถ้วยอนามัยจะรองรับเลือดของประจำเดือนได้ครั้งละ 10-38 ซีซี เนื่องจากประจำเดือนผู้หญิงรอบหนึ่งมาไม่เกิน 80 ซีซี ต่อ 3-5 วัน ในวันหนึ่งๆ แนะนำให้เปลี่ยนถ้วยอนามัยทุก 4-12 ชั่วโมงก็เพียงพอ
ชนิดของถ้วยอนามัยในท้องตลาด
- ชนิดสอดใส่เข้าช่องคลอด มีลักษณะเหมือนระฆัง สอดใส่ช่องคลอดไม่ต้องลึกมาก
- ชนิดครอบปากมดลูก มีลักษณะเหมือนถ้วย สอดใส่ลึก ชิดปากมดลูก
ทุกชนิดเนื้อสัมผัสเรียบนิ่ม โดยขนาดของถ้วยอนามัย จะมี 3 ขนาด ทั้ง S, M และ L ซึ่งการใช้งานของขนาดต่างๆ มีดังนี้
- ขนาด S ใช้กับวัยรุ่นอายุน้อยกว่า 18 ปี ยังไม่เคยมีลูก
- ขนาด M ใช้กับหญิงที่อายุ 18-30 ปี ยังไม่เคยคลอดลูกผ่านช่องคลอด ช่องคลอดไม่กว้าง
- ขนาด L ใช้กับหญิงอายุมากกว่า 30 ปี เคยผ่านการคลอดลูกตามธรรมชาติ หรือประจำเดือนมามาก
วัสดุที่ใช้ทำถ้วยอนามัยทำจากอะไร?
ถ้วยอนามัยมักจะทำด้วยซิลิโคนหรือยางนิ่ม (Rubber, Latex, Thermoplastic Elastomer) มีความยืดหยุ่นสูง แข็งแรงทนทาน ใช้แล้วนำมาล้างใช้ใหม่ได้ อาจใช้ซ้ำได้นานถึง 10 ปี จึงได้รับการขนานนามอีกชื่อว่าเป็น ผ้าอนามัยซักได้
ประโยชน์ของถ้วยอนามัย
- ราคาถูก เมื่อเทียบกับอายุการใช้งาน เพราะนำมาล้างด้วยน้ำและสบู่ใช้ใหม่ได้ ราคาประมาณ 200-1,000 บาทเศษ แล้วแต่ชนิดของวัสดุและยี่ห้อ มีการคำนวณการคุ้มทุน พบว่าราคาผ้าอนามัยใน 1 ปี มักจะสูงกว่าหรือพอๆ กับถ้วยอนามัย 1 ถ้วย ขณะที่ถ้วยอนามัยใช้ได้นานถึง 10 ปี
- ลดขยะผ้าอนามัย ลดโลกร้อนในการกำจัดขยะติดเชื้อ
- ปลอดภัย ไม่เพิ่มการติดเชื้อ ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ ยกเว้นแพ้วัสดุที่ผลิต
- สามารถทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย ว่ายน้ำ โยคะ โดยไม่เปื้อนซึม
- เหมาะสำหรับคนที่ต้องการตวงปริมาณของประจำเดือนในแต่ละรอบว่ามามากหรือน้อย เกี่ยวข้องกับอาการซีดหรือไม่
- ลดความอับชื้นที่อวัยวะเพศ ลดการอักเสบติดเชื้อจากการใส่ผ้าอนามัยเป็นเวลานาน
- ลดกลิ่นของประจำเดือน เพราะกักเก็บเลือดไว้ในถ้วย ไม่ออกมาปนเปื้อนกับผ้าอนามัยและความเปียกชื้น
ข้อควรระวังของการใช้ถ้วยอนามัย
- การใช้ถ้วยอนามัย ควรทราบกายวิภาคของช่องคลอดและปากมดลูก เพื่อจะได้ใส่ได้ถูกต้อง ในคนที่มีช่องคลอด ปากมดลูก และมดลูกผิดปกติ อาจไม่เหมาะต่อการใช้
- ต้องทราบเทคนิคการใส่ เช่น งอถ้วยอนามัย เบ่งเล็กน้อยก่อนใส่ ระวังการบาดเจ็บในการใส่ครั้งแรก งานวิจัยพบว่า การคงใช้มีร้อยละ 80 โดยผู้เลิกใช้มักเลิกใช้ภายในสามเดือนแรกเพราะรู้สึกใส่ยาก แต่หากใส่จนชำนาญจะชิน รู้สึกสบายกว่าการใช้ผ้าอนามัย การคงใช้จะสูงขึ้น
- ไม่ควรใช้ในผู้ที่สวมห่วงอนามัย อาจทำให้ห่วงเลื่อนหลุดได้
- ต้องทราบเทคนิคการเอาออก เช่น จับตัวถ้วย บีบถ้วย เบ่งเล็กน้อย ขยับถ้วยออกมา ไม่ดึงก้านถ้วยโดยตรงเพราะจะเลอะเทอะได้ งานวิจัยพบว่า ผู้ใช้ส่วนใหญ่เอาออกตอนนั่งชักโครก มิฉะนั้นเลือดประจำเดือนจะเปรอะเปื้อน ต้องเตรียมอุปกรณ์ เช่น น้ำสะอาดสำหรับล้าง หรือบางคนใช้ทิชชูเปียกฆ่าเชื้อทำความสะอาดหลังเอาออก
- อาจเอาออกยาก ในบางรายเอาออกไม่ได้ ต้องรอให้มีประจำเดือนจำนวนมาก ถ้วยจึงเลื่อนลงมาต่ำ เอาออกง่ายขึ้น
- การสอดใส่ถ้วยอนามัยเข้าไปในช่องคลอดอาจยังไม่เป็นที่ยอมรับในบางวัฒนธรรม เนื่องจากความกลัว (ที่ไม่เป็นจริงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์) ว่าจะเกิดการอักเสบติดเชื้อ เยื่อพรหมจรรย์ฉีกขาด และช่องคลอดกว้างขึ้น
การเลือกซื้อถ้วยอนามัย
- เลือกขนาด S, M หรือ L ให้เหมาะสมกับตัวเอง
- เลือกราคา ไม่ควรเลือกราคาต่ำสุด เพราะราคามักขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ ซิลิโคนเกรดการแพทย์มักจะราคาสูง
- เลือกก้าน มีชนิดก้านกลมตรง แบน ห่วงวงกลม ที่สะดวกสำหรับผู้ใช้เวลาเอาออก
สิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมเป็นพิเศษเกี่ยวกับการใช้งานถ้วยอนามัย
- หากต้องการทำความสะอาดพิเศษ สามารถล้างและต้มน้ำเดือดนาน 15 นาทีได้ โดยทั่วไป การล้างด้วยน้ำและสบู่ถือว่าเพียงพอ
- การใช้ถ้วยอนามัย ต้องสะดวกในการเข้าห้องน้ำ เพราะอาจจะต้องเปลี่ยนวันละ 2-3 ครั้ง
- ต้องทำความสะอาดสม่ำเสมอ เพราะอาจจะเกิดคราบประจำเดือนที่ถ้วย ทำให้ไม่น่าดู
- ต้องมีเวลา ไม่รีบร้อนใส่และถอด มิฉะนั้นอาจจะเกิดการถลอก บาดเจ็บ หรือเปรอะเปื้อนเลือดประจำเดือนได้
- หากมีเพศสัมพันธ์ ต้องถอดออก มิฉะนั้นถ้วยอาจแตก เกิดการถลอก หรือบาดเจ็บอวัยวะเพศของทั้งสองฝ่าย
- การเปรอะเปื้อนของประจำเดือน ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเลือกขนาดไม่เหมาะสม ใส่เอียงตะแคงไม่ตรงช่องคลอด ประจำเดือนมามาก หรือใส่นานไปจนเลือดประจำเดือนล้น
สรุปความเห็นทางการแพทย์เกี่ยวกับการใช้ถ้วยอนามัย
ถ้วยอนามัยเป็นผลิตภัณฑ์รองรับประจำเดือนทางเลือก ผู้ใช้เป็นผู้ตัดสินใจเลือกซื้อตามความพอใจ ต้องเข้าใจวิธีใช้จึงจะเกิดประโยชน์ ถ้วยอนามัยไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นสินค้าวางจำหน่าย คำแนะนำทางการแพทย์จึงเหมือนสินค้าทั่วไป คือควรเลือกซื้อชนิดที่มีคุณภาพและปลอดภัย
ภาพ: Shutterstock
อ้างอิง:
- Beksinska M, Smit J, Greener R. ‘It gets easier with practice’. A randomised cross-over trial comparing the menstrual cup to tampons or sanitary pads in a low resource setting. Eur J Contracept Reprod Health Care. 2016;21(suppl 1):138.
- Oster E, Thornton R. Determinants of technology adoption: peer effects in menstrual cup up-take. J Eur Econ Assoc. 2012;10:1263–1293.