×

“โตมากับ Hormones วัยว้าวุ่น” เยี่ยมโรงเรียนเก่าที่คุ้นเคย และเรื่องราวที่ทำให้คิดถึงรั้วโรงเรียนนาดาวบางกอกอีกครั้ง

11.05.2022
  • LOADING...
Hormones วัยว้าวุ่น

“เราโตมากับฮอร์โมนส์”

 

คือคอมเมนต์ส่วนหนึ่งบนโลกออนไลน์หลังจากได้ยินข่าวการปิดตัวของ นาดาว บางกอก บริษัทผู้ผลิตซีรีส์ ผลงานเพลง และดูแลศิลปินเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทยกันแล้ว หลังจากสร้างสรรค์ผลงานดีๆ และพัฒนาศิลปินคุณภาพให้กับวงการบันเทิงไทยมากว่า 12 ปี

 

แน่นอนว่านี่เป็นข่าวที่ทำให้ใครหลายๆ คนรู้สึกใจหาย ในขณะเดียวกันก็ทำให้เราย้อนไปคิดถึงเรื่องราวมากมายใน ‘โรงเรียนนาดาวบางกอก’ หรือ น.ด.บ. จากซีรีส์เรื่อง Hormones วัยว้าวุ่น ซีรีส์วัยรุ่นที่ทำให้เราได้รู้จักบริษัท นาดาว บางกอก แห่งนี้ 

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Hormones วัยว้าวุ่น เป็นซีรีส์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในยุคหนึ่ง ที่สร้างทั้งค่านิยมใหม่ๆ ให้กับสังคม รวมไปถึงการสร้างนักแสดงคุณภาพมากมายมาประดับวงการบันเทิงไทยอีกเรื่องหนึ่ง (อ่านต่อได้ที่ https://thestandard.co/nadao-bangkok/)

 

Hormones วัยว้าวุ่น คือซีรีส์ที่มีทั้งหมด 3 ซีซัน เริ่มฉายครั้งแรกในวันที่ 18 พฤษภาคม ปี 2556 หรือประมาณ 9 ปีที่แล้ว ในตอนนั้นซีรีส์เรื่องนี้ดูจะเป็นซีรีส์วัยรุ่นที่ไม่เป็นมิตรเท่าไร เนื่องจากเนื้อหาที่เต็มไปด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และปัญหาของช่วงวัยที่ไม่มีใครกล้าหยิบขึ้นมาพูดถึง 

 

การตั้งคำถามและพูดถึงประเด็นปัญหาที่หลากหลายในรั้วโรงเรียน อย่างการตั้งคำถามกับกฎระเบียบชุดนักเรียนของ วิน (พีช พชร) ตัวละครหัวขบถ ผู้จุดกระแสใส่ชุดไพรเวตของนักเรียน น.ด.บ., ปัญหาเรื่องพวกพ้องและการต่อยตีกับคู่อริของ ไผ่ (ต่อ ธนภพ), ปัญหาความรุนแรงภายในโรงเรียนที่มี เต้ย (ปันปัน สุทัตตา) เป็นเหยื่อ และอีกสารพัดปัญหาในระบบการศึกษาที่ไม่มีใครกล้าพูดถึง

 

รวมถึงในซีซัน 3 ที่มีการพูดถึงปัญหาของกีฬาสี และการให้ความสำคัญกับเชียร์ลีดเดอร์ที่อยู่หน้าฉากมากกว่าคนที่ร้องเพลงอยู่บนสแตนด์เชียร์ จนทำให้เกิดคำพูดสุดฮิตจาก บอส (พี สาริษฐ์) อย่าง “ปลอม เปลือก” และ “ลุกออกมาเลย! เสียงของพวกแกมีความหมายนะเว้ย”

Hormones วัยว้าวุ่น Hormones วัยว้าวุ่น

 

แน่นอนว่าถ้าเราพูดเรื่องประโยคที่ฝังหัวในฮอร์โมนส์ หลายๆ คนคงต้องนึกถึงสไปรท์กับประโยค 

 

“อารมณ์กูก็มี แต่ถ้าไม่มีถุงยางก็ไม่เอาเว้ย” และ “อยากกินสไปรท์ต้องใส่ถุง” 

 

ที่นำเสนอแนวคิดการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย แม้ว่าเรื่องเพศที่ดูจะเป็นเรื่องต้องห้ามมากๆ ในวัยเรียนเวลานั้น แต่ซีรีส์กลับกล้าหยิบประเด็นนี้มาสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาผ่านตัวละครของสไปรท์ได้อย่างดี รวมถึงประเด็นเรื่องการใช้ยาคุมฉุกเฉินหลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันของตัวละคร ดาว (ฝน ศนันธฉัตร) ก็เป็นเรื่องแรงๆ ที่เป็นประโยชน์และถูกพูดถึงในวงกว้างเช่นกัน

 

Hormones วัยว้าวุ่น ถือเป็นซีรีส์เรื่องแรกๆ ของไทยที่มีการพูดถึงปัญหาของกลุ่ม LGBTQ ผ่านตัวละคร ภู (มาร์ช จุฑาวุฒิ) – ธีร์ (ตั้ว เสฎฐวุฒิ) และ ก้อย (เบลล์ เขมิศรา) – ดาว (ฝน ศนันธฉัตร) ที่แม้ทั้งสองคู่จะไม่ได้ลงเอยกันแบบที่ใครๆ อยากให้เป็น แต่มันก็เป็นเชื้อไฟก้อนเล็กๆ ที่ทำให้ผู้ชมได้ทำความเข้าใจกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

 

Hormones วัยว้าวุ่น

 

นอกจากนี้ ตัวซีรีส์เรื่องนี้ยังสอดแทรกความรู้ที่ไม่มีในบทเรียนอย่างการพูดถึงโรค HIV แต่กำเนิดของ พละ (สกาย วงศ์รวี) ที่ทำให้พละเป็นตัวละครที่ไม่มีเพื่อนมากนัก แต่สุดท้ายซีรีส์ก็ทำให้เราเห็นว่าพละไม่ได้ต่างจากเด็กทั่วไปที่สามารถมีความรักและมีชีวิตแบบเด็กคนอื่นๆ ได้ เพียงแค่เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอเท่านั้น และทำให้คนหันมาสนใจโรคทางจิตมากยิ่งขึ้น จากตัวละคร ออย (ฟรัง นรีกุล) ที่ป่วยเป็นโรคเรียกร้องความสนใจ อีกหนึ่งกลุ่มอาการทางจิตที่อันตรายแต่ไม่ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปมากนัก 

Hormones วัยว้าวุ่น

 

แม้ว่าเนื้อหาที่เราพูดมาจะดูรุนแรงและตึงเครียด แต่ในขณะเดียวกันซีรีส์เรื่องนี้ก็เต็มไปด้วยความสัมพันธ์น่ารักของตัวละครหลายๆ คู่ ไม่ว่าจะเป็นคู่ของต้ากับเต้ย คู่ของพีทและขวัญ หรือคู่ของพละและส้มส้ม 

 

ทั้งยังสอดแทรกความสวยงามและความฝันของชีวิตวัยรุ่นไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความรักในการถ่ายรูปของ หมอก (ไมเคิล ศิรชัช) และความฝันบนเส้นทางดนตรีของต้า (กันต์ ชุณหวัตร) นน (แบงค์ ธิติ) และ ซัน (เจมส์ ธีรดนย์) ที่ทำให้วง See Scape และเพลง แตกต่างเหมือนกัน กลายเป็นความทรงจำอันสวยงามของผู้ชมหลายๆ คนจนถึงทุกวันนี้

Hormones วัยว้าวุ่น

 

Hormones วัยว้าวุ่น ซีซัน 3 จบลงในวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2558 พร้อมตัวละครที่เดินทางมาไกลกว่าวันแรกที่เราได้รู้จักพวกเขาอย่างสิ้นเชิง เช่นเดียวกันกับผู้ชมหลายๆ คนที่เติบโตจากเด็กมัธยมต้นไปเป็นเด็กมัธยมปลาย และเติบโตจากเด็กมัธยมปลายเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย จนหลายคนสามารถพูดได้เลยว่า “เราเติบโตมากับนาดาวและฮอร์โมนส์”

 

ทุกอย่างย่อมมีวันที่ต้องแยกย้ายไปเติบโต เหมือนกับภาพรั้วโรงเรียนนาดาวบางกอกที่ปิดลงในตอนจบของซีซัน 3 และบริษัทนาดาว บางกอก และนักแสดงทุกคนที่ได้เวลาแยกย้ายในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ หลังจากสร้างผลงานดีๆ ด้วยกันมาตลอด 12 ปี แน่นอนว่าวันปัจฉิมฯ ดูเป็นวันที่น่าเศร้าไปนิด แต่เราเชื่อว่า Hormones วัยว้าวุ่น และผลงานคุณภาพจากนาดาว บางกอก จะกลายเป็นผลงานในความทรงจำที่อนุญาตให้เราแวะเวียนไปเยี่ยมชมและนึกถึงตลอดไป  

 

ดู Hormones วัยว้าวุ่น ทั้ง 3 ซีซัน ย้อนหลังได้ทาง Netflix และ YouTube ช่อง GTHchannel

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X