เรื่องราวผู้ชายตั้งครรภ์อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในแวดวงซีรีส์และภาพยนตร์ อย่างน้อยๆ เราก็เคยดูผ่านหูผ่านตามาบ้าง เช่น ในหนังตลกในปี 1994 เรื่อง Junior ที่เอาผู้ชายกล้ามโตอย่าง อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ มาสวมบทผู้ชายตั้งครรภ์ หรือในซีรีส์ เด็กใหม่ 2 ตอน นักล่าแต้ม ก็ฉายภาพผู้ชายที่ต้องรับกรรมจากความเจ้าชู้ด้วยการตั้งท้อง แต่สำหรับ He’s Expecting หรือผู้ชายก็ท้องได้ นั้นแตกต่างด้วยการเล่าเรื่องในอารมณ์จริงจังแฝงมุกตลก และอิงกับสภาพความเป็นจริงว่า หากวันใดวันหนึ่งผู้ชายเกิดตั้งท้องได้ขึ้นมา สังคมจะว่าอย่างไร?
He’s Expecting หรือผู้ชายก็ท้องได้ สร้างจากการ์ตูนมังงะเรื่อง Hiyama Kentarō no Ninshin เล่าเรื่องในโลกที่ผู้ชายสามารถตั้งครรภ์ได้ ผ่านชีวิตของ เคนทาโร ฮิยามะ (ทาคุมิ ไซโตะ) หนุ่มนักโฆษณาวัย 37 ปีที่กำลังรุ่งโรจน์ในหน้าที่การงาน เขามีความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัดกับ อากิ เซโตะ (จูริ อุเอโนะ) นักเขียนสาวผู้รักอิสระ แต่แล้ววันหนึ่งเคนทาโรก็พบว่าตัวเองตั้งครรภ์ นำมาสู่เรื่องราวที่พาผู้ชมเข้าไปเรียนรู้ถึงบทบาทและหน้าที่ (ที่เคยเป็น) ของผู้หญิง ว่าเมื่อเกิดขึ้นกับผู้ชาย พวกเขาต้องพบเจอกับอะไรบ้าง
ซีรีส์เริ่มต้นด้วยการพื้นเพชีวิตของเคนทาโร เขาจริงจังกับงานและยังสนุกกับชีวิตโสด จนแอบตำหนิเพื่อนร่วมงานที่ต้องจัดสรรเวลาไปให้ครอบครัว แต่เมื่อต้องมาตั้งท้องเอง เขาก็พบกับประสบการณ์อันยากลำบากหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การต้องปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพร่างกาย การถูกลดบทบาทจากบริษัท ฯลฯ เขาเริ่มมีความคิดที่จะทำแท้ง โดยต้องได้รับการยินยอมจากอากิเสียก่อน แต่แล้วทั้งคู่ก็ตัดสินใจที่จะเก็บเด็กไว้และสร้างครอบครัวสมัยใหม่ด้วยกัน โดย 3 ตอนแรกเรียกว่าใส่ทุกเม็ด เก็บทุกดอกของความลำบากที่ผู้หญิงทุกยุคทุกสมัยต้องเผชิญ อย่างการที่อากิเซ็นใบรับรองการทำแท้ง ก็เหมือนเป็นการเสียดสีโลกที่ผู้ชายทิ้งภาระเรื่องลูกไปได้ง่ายๆ รวมทั้งการมองว่าการตั้งท้องเป็นอาการป่วยไข้ และลดโอกาสที่ผู้หญิงจะทำงานได้อีกต่อไป
He’s Expecting ตั้งใจให้น้ำหนักในเรื่องบทบาททางเพศและสังคม เลยไม่ได้อ้างถึงหลักวิทยาศาสตร์ว่าจู่ๆ ผู้ชายตั้งท้องได้อย่างไร เพียงให้ข้อมูลไว้ว่าผู้ชายตั้งท้องได้ราวๆ 1 ต่อ 10 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนน้อยมากๆ ยิ่งเมื่อเกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องการแบ่งแยกบทบาททางเพศอย่างชัดเจน การตั้งท้องจึงลดทอนคุณค่าความเป็นชายที่ถูกมองว่าต้องแข็งแรง มั่นคง ผู้ชายตั้งท้องในเรื่องเลยกลายเป็นคนกลุ่มน้อยที่สังคมรังเกียจ เพราะนี่คือการท้าทายความคาดหวังที่ว่าการให้กำเนิดและการเลี้ยงดูลูกคือหน้าที่ของผู้หญิงเท่านั้น
ในเรื่องเคนทาโรได้เป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ให้กับเสื้อผ้ายี่ห้อหนึ่ง ทำให้เขากลายเป็นกระบอกเสียงให้กับเหล่า ‘ผู้ชายก็ท้องได้’ และได้รับรู้ถึงทัศนคติด้านลบของสังคมที่คนอื่นๆ ต้องเผชิญ โดยความคิดเรื่องแบ่งแยกบทบาททางเพศไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในหมู่ผู้ชายด้วยกัน แม้แต่ผู้หญิงบางคนก็คิดแบบนี้ อย่างในเคสที่มีตัวละคร ‘ท้องไม่มีแม่’ เพราะคนรักรับไม่ได้ที่ต้องอยู่กับผู้ชายท้อง หรือภรรยาที่โล่งอกเมื่อสามีแท้งลูก เพราะไม่รู้ว่าลูกที่เกิดมาจะต้องเจอกับแรงต้านของสังคมอย่างไรถ้ารู้ว่าเกิดมาจากท้องพ่อ
ในเรื่องยังย้ำประเด็นเรื่องนี้ผ่านตัวละครอากิและคนรอบข้าง เช่น แม่ของอากิที่แทนภาพของผู้หญิงยุคเก่า ผู้ยอมดับฝันตัวเองเพื่อมีลูก อย่างที่เธอได้บอกกับอากิว่า “สุดท้ายผู้หญิงก็ไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ” ในขณะที่อากิคือผู้หญิงยุคใหม่ที่มุ่งมั่นกับการทำงาน และไม่ค่อยใส่ใจกับความคาดหวังของสังคมเท่าไร แต่ก็อดไม่ได้ที่จะหวั่นไหวว่า การที่ต้องกลายเป็นแม่ที่ไม่ได้อุ้มท้องและให้กำเนิดลูก เป็นการลดคุณค่าความเป็นผู้หญิงในตัวเธอหรือเปล่า ยิ่งมาเจอกรณีแม่ของเคนทาโร ซึ่งก็เคยผ่านประสบการณ์ที่เธอกำลังจะเจอ ยิ่งทำให้อากิต้องชั่งใจระหว่างความฝันเรื่องหน้าที่การงานกับการเป็นแม่ สิ่งไหนสำคัญกว่ากัน
นอกจากการได้ท่องโลกอันแปลกประหลาดและค่อยๆ ขบคิดเรื่องบทบาททางเพศไปตลอดทั้งเรื่อง He’s Expecting ยังส่งท้ายด้วยการให้นิยามความหมายของครอบครัวสมัยใหม่ ที่ภาระหน้าที่ของพ่อกับแม่อาจจะไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบของสังคมอีกต่อไป การเป็นแม่ที่ทำงานนอกบ้านเพื่อทำให้ลูกภูมิใจ ก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของความเป็นแม่ลดลง หรือการเป็นพ่อที่ต้องเลี้ยงดูลูกอยู่กับบ้าน ก็ไม่ได้ทำให้คำว่าพ่อดูด้อยค่า โดยรวมแล้ว He’s Expecting คือซีรีส์ 8 ตอนสั้นๆ ที่ดูเพลินและสอดแทรกแง่คิดเรื่องเพศที่น่าสนใจทีเดียว
ภาพ: He’s Expecting