×

“กทม. ต้องเป็นพื้นที่เมืองประชาธิปไตย มันไม่ใช่แค่รองรับการชุมนุม” มองนโยบายผ่านสายตา ประจักษ์ ก้องกีรติ

02.05.2022
  • LOADING...
ประจักษ์ ก้องกีรติ

HIGHLIGHTS

  • พื้นที่แสดงออกทางการเมือง: ควรจัดการพื้นที่ชุมนุมแสดงออกทางการเมืองอย่างไร ในเมื่อการชุมนุมกลายเป็น New Normal หนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจ ซึ่ง รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ยังไม่ค่อยให้ความชัดเจนมากนัก
  • ประจักษ์กล่าวว่า อยากฝากบอกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตย ทำอย่างไรให้ กทม. เป็นพื้นที่ของเมืองประชาธิปไตย มันไม่ใช่แค่รองรับการชุมนุม คือการชุมนุมเกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนมี Input ส่งเสียงให้นักการเมือง เราจะทำอย่างไรให้มี Input แบบอื่นๆ โดยไม่ต้องชุมนุมก็ได้ ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของเมืองที่จะทำให้เขารู้สึกว่าเขามีความเป็นเจ้าของ ซึ่ง กทม. ขาดตรงนี้

รายการ THE STANDARD NOW เผยแพร่ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center: UddC) และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เกาะติดการแข่งขันชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ในมุมใหม่ กับ THE STANDARD NOW: BKK ELECTION Policy Critic พลิกนโยบายแคนดิเดต ในซีรีส์ 4 ตอนพิเศษ ทุกวันศุกร์ ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์

 

คลิกชมรายการ https://thestandard.co/bkk-election-now-x-uddc/

 

 

สำหรับวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา เป็นตอนแรก พบกับการนำเสนอ 3 นโยบายจาก 3 ผู้เชี่ยวชาญ ในหัวข้อ ‘3 นโยบายนอกสายตาผู้สมัคร’ ประกอบด้วย 

 

เมืองซื้อกิน: นโยบายว่าด้วยเรื่องการขายบริการทางเพศ ทำอย่างไรถึงจะจัดระเบียบและสร้างสวัสดิการให้กับผู้ประกอบอาชีพได้ โดย รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ประชากรแฝง: นโยบายในการจัดการและดูแลประชากรแฝงที่เข้ามาประกอบอาชีพในกรุงเทพฯ​ ตั้งแต่วณิพกจนถึงชุมชนพื้นที่ริมทางรถไฟ โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

พื้นที่แสดงออกทางการเมือง: ควรจัดการพื้นที่ชุมนุมแสดงออกทางการเมืองอย่างไร ในเมื่อการชุมนุมกลายเป็น New Normal โดย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

– หมดยุค ‘ไม่เลือกเราเขามาแน่’ 

 

ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้มีตัวเลือกหลายคน หากเทียบกับก่อนหน้านี้จะแข่งขันกันเพียง 2 คน จาก 2 พรรคการเมืองใหญ่ เป็น 2 ขั้ว บางครั้งไม่มีทางเลือกที่ถูกใจแต่ต้องไปเลือก 

 

ครั้งนี้มีแคนดิเดตหลักๆ อย่างน้อย 6-7 คน สะท้อนทุกเฉดสีทั้ง 2 ฝั่ง จากเข้มไปอ่อน ทำให้ไม่มี Negative Campaign เช่นการบอกว่าไม่เลือกเราเขามาแน่ ซึ่งดีแล้วที่ไม่ค่อยมีเพราะเป็นสิ่งไม่สร้างสรรค์ เราควรไปเลือกเพราะชอบนโยบายของคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่เลือกเพราะเกลียดอีกฝั่งหนึ่งมากกว่า 

 

– ในอดีตหลายนโยบายเป็นเรื่องชายขอบ 

 

สำหรับนโยบายในการแข่งขันครั้งล่าสุด ประจักษ์กล่าวว่า ในอดีตมักจะมีการพูดเพียงแค่เรื่องรถติด น้ำท่วม แต่ครั้งนี้มีการพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในเมืองสำหรับผู้หญิง คนเดินเท้า ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ คนจนเมือง ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเมื่อก่อนเป็นเรื่องชายขอบ และครั้งนี้มีการพูดเรื่องส่วย คอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาใน กทม. ที่พ่อค้าแม่ค้าโดนรีดไถ

 

– อำนาจผู้ว่าฯ ถ้าไม่มี ก็ต้องทำหน้าที่ประสาน

 

ประจักษ์กล่าวว่า เรื่อง Facilitate การอำนวยความสะดวกก็สะท้อนวิธีคิด เนื่องจากผู้สมัครทุกคนหาเสียงด้วยการบอกว่าตัวเองจะทำอะไรในฐานะผู้ว่าฯ กทม. แต่จริงๆ แล้วทำไม่ได้ ไม่ใช่แค่ไม่มีอำนาจหน้าที่ แต่ทรัพยากรก็มีจำกัดด้วย 

 

ฉะนั้นผู้ว่าฯ ในหลายเมืองที่เป็นระดับมหานคร เช่น กรุงโซล เกาหลีใต้ เวลาหาเสียงเขาจะบอกว่า เขาจะประสานงานกับภาคธุรกิจเอกชนในเรื่องไหนอย่างไรบ้าง กับภาคประชาชนในเรื่องไหนอย่างไรบ้าง เพราะเป็นมหานครที่มีคนเป็น 10 ล้านคน โซลกับกรุงเทพฯ ใกล้เคียงกัน 

 

ช่วงโควิดทางนายกเทศมนตรีของโซลไปประสานขออาหารฟรีจากบริษัทเอกชนใหญ่ๆ นำไปแจก ขอหน้ากากฟรี ขอมือถือที่ใช้แล้วให้นักเรียนที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์เหล่านี้ 

 

คือต้องทำหน้าที่ประสานงานด้วย จะประสานเอาทรัพยากรจากภาคส่วนอื่นๆ มาอย่างไร เพราะลำพัง กทม. ไม่มีทรัพยากรมากขนาดนั้นที่จะทำเองทั้งหมด               

 

– ถึงเวลาเปลี่ยนวิธีคิด ใครมีสิทธิ์เลือกผู้ว่าฯ กทม. 

 

ประจักษ์กล่าวว่า เมื่อก่อนมีผู้สมัครคนหนึ่งชื่อ อากร ฮุนตระกูล หาเสียงประหลาดมากด้วยการบอกว่าถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะทำให้ กทม. เล็กลง ถือว่าแกมีวิสัยทัศน์ เพราะในระยะยาวถ้า กทม. โตแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ทรัพยากรจะเอามาจากไหน บริหารไม่ไหว ไม่ต้องพูดถึงปัญหาขยะ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และ Climate Change ที่อีก 30-40 ปี กทม. ก็คงเสี่ยงสำหรับการจมน้ำ ถ้าคนทะลักเข้ามาอยู่ กทม. กันมากๆ เป็นโจทย์ที่ต้องคิดไม่ใช่แค่ผู้ว่าฯ กทม. แต่รวมถึงรัฐบาล ถ้าปล่อยให้ กทม. โตแบบนี้ไปเรื่อยๆ แล้วมีประชากรแฝง มีคนเข้ามาเยอะขนาดนี้ เป็นเรื่องยาก 

 

อีกเรื่องจะทำอย่างไรเรื่องสิทธิคนที่จะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อาจจะต้องเปลี่ยนฐานคิด เช่น ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาทำงานจุฬาฯ เป็นสิบๆ ปี แต่บ้านไม่ได้อยู่ใน กทม. ไม่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 

 

ควรจะมีวิธีคิดใหม่หรือไม่ ใครที่จะเป็นโหวตเตอร์ที่มีสิทธิเลือกผู้ว่าฯ กทม.

 

– รัฐรวมศูนย์ ประท้วงใหญ่ทุกครั้งเกิดใน กทม. 

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า กทม. เป็นพื้นที่ที่เกิดการชุมนุมมากที่สุดในประเทศ แต่นโยบายเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะในการพูดการแสดงออกทางการเมืองไม่ค่อยถูกหยิบยกเป็นนโยบายสักเท่าไร นอกจากนักข่าวไปถามผู้สมัครฯ อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร 

   

ประจักษ์กล่าวว่า น่าประหลาด คล้ายเป็นการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ทั้งที่ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เป็นตำแหน่งจากการเลือกตั้ง เป็นตำแหน่งทางการเมืองอยู่แล้ว แล้วไม่ว่าใครจะชนะก็หลีกเลี่ยงการชุมนุมไม่ได้ ดูแล้วการเมืองไทยในอีก 1-2 ปีข้างหน้า อย่างไรก็มีแต่ปัญหายังไม่สงบ 

 

การเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องเผชิญกับม็อบแน่ๆ ไม่ใช่แค่ 2-3 ปีที่ผ่านมาที่มีการประท้วงเยอะใน กทม. เพราะการประท้วงมีตลอดประวัติศาสตร์ เนื่องจากเราเป็นรัฐรวมศูนย์มาก การประท้วงทุกครั้งในประวัติศาสตร์เหตุการณ์ใหญ่ๆ ก็เกิดใน กทม. ทั้งนั้น 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภา35, การชุมนุมเสื้อเหลือง, เสื้อแดง, กปปส. หรือทหารจะรัฐประหารก็ต้องยึดอำนาจในกรุงเทพฯ เขาก็ไม่ไปยึดลพบุรี เชียงใหม่ 

 

กทม. เป็นพื้นที่เสี่ยงของม็อบและความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ตลอด ฉะนั้นผู้ว่าฯ กทม. จะไม่คิดถึงเรื่องนี้ไม่ได้ คุณจะต้องเผชิญมันอยู่แล้ว ฉะนั้นก็อยากได้ยินนโยบายแต่ละท่านที่ชัดเจนในเรื่องนี้ 

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. บางคนเลือกที่จะลงในนามอิสระ ทั้งที่เห็นชัดเจนว่าอยู่ข้างไหน แต่ดูเหมือนมีความระมัดระวังเรื่องนี้ เป็นการหนีปัญหาของผู้ว่าฯ กทม. หรือไม่ จะเป็นปัจจัยส่งผลต่อความรู้สึกของคนที่จะออกไปเลือกหรือไม่ 

 

ประจักษ์กล่าวว่า อาจจะไม่เท่าไร เพราะเวลาเลือกตั้งท้องถิ่น คนไม่ได้ตัดสินใจโดยดูพรรคการเมืองเป็นหลัก แตกต่างจากการเลือกตั้งระดับชาติ ส่วนปัญหาว่าทำไมคนมาสมัครอิสระหลีกเลี่ยงพรรค ก็สะท้อนปัญหาใหญ่ของการเมืองไทย คือเราไปทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่เลวร้าย มีการสร้างภาพลบมากเกินไป ขณะที่พรรคการเมืองควรจะผลิตผู้นำไม่ว่าจะระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ผลิตนโยบาย แต่ในไทยมีการป้ายสีจนดูเหมือนพรรคการเมืองเป็นสิ่งเลวร้าย คนจำนวนหนึ่งจึงคิดว่าลงอิสระอาจจะได้คะแนนมากกว่าหรือเปล่า อาจจะทำให้ได้แฟนคลับกว้างมากกว่าหรือเปล่า เพราะว่าการเมืองมีการแบ่งขั้วสูง มีความเกลียดชังที่มีต่อพรรคการเมืองไม่ว่าขั้วไหนก็ตาม

 

– สปิริตผู้ว่าฯ กทม. จังหวัดเดียวที่มาจากการเลือกตั้ง  

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า ผู้ว่าฯ กทม. คนก่อนๆ มีใครมีบทบาทสนับสนุนการใช้เสรีภาพชุมนุมในพื้นที่สาธารณะหรือไม่ 

 

ประจักษ์กล่าวด้วยว่า ผู้ว่าฯ กทม. ในอดีตไม่ค่อยมีจุดยืนที่มั่นคงเรื่องเปิดพื้นที่สาธารณะให้แสดงออกทางการเมือง ทั้งๆ ที่ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ถือว่ามีอภิสิทธิ์เยอะ ถ้าไม่นับพัทยาซึ่งเป็นเมือง เราเป็นจังหวัดเดียวที่ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ฉะนั้นจริงๆ ควรจะมีสปิริตของประชาธิปไตยสูงที่สุดแล้ว ขณะที่จังหวัดอื่นไม่มีผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้ง การเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้ง ยิ่งต้องดีเฟนด์เรื่องประชาธิปไตย ยึดโยงกับประชาชน

 

“หลักการง่ายๆ เลยที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ควรจะยึดถือคือในระบอบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ฉะนั้นทุกพื้นที่ใน กทม. ในเมือง ควรเป็นพื้นที่ชุมนุมได้ ตราบใดที่การชุมนุมนั้นสงบ สันติ และไม่ผิดกฎหมาย เขาจะชุมนุมที่สนามหลวง ที่ Public Space ที่ไหน ถ้าสงบ สันติ ไม่ได้ไปยึดสถานที่ราชการ มันก็ควรจะชุมนุมได้ ผู้ว่าฯ ก็ควรจะอำนวยความสะดวกให้กับทุกกลุ่ม โดยต้องตาบอดสี ไม่เลือกข้าง ต่อให้มีจุดยืนทางการเมืองยังไงก็ต้องพักไว้ก่อน คุณมีหน้าที่อำนวยความสะดวก Facilitate คือประสาน อำนวยความสะดวกให้การชุมนุมผ่านไปอย่างราบรื่น ไม่เกิดการปะทะ ไม่เกิดความรุนแรง กระทั่งบางครั้งถ้ามันตึงเครียดมาก ผมยังคิดว่าผู้ว่าฯ จะต้องไปเจรจากับตำรวจด้วยซ้ำ ไปช่วยเพราะคุณเป็นพ่อเมืองนี่เป็นพื้นที่ของคุณ แม้ว่าตำรวจไม่ได้อยู่ภายใต้การบริหารบังคับบัญชาของคุณ แต่ระดับเจ้าพ่อ พ่อเมืองลงไปเจรจาช่วยประสานงาน ผมว่าตำรวจก็ต้องฟัง” ประจักษ์กล่าว

 

ผู้ดำเนินรายการถามถึงประเด็นดราม่าข้อถกเถียงควรจัดพื้นที่ชุมนุมหรือควรให้ชุมนุมที่ไหนก็ได้ 

 

ประจักษ์กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดโซนนิ่ง และคิดว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะจัดโซนนิ่งอย่างนั้น คงสื่อความหมายกันเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนเล็กน้อย ชัชชาติเพียงแต่บอกว่ามีบางพื้นที่ที่ใหญ่และเหมาะ มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไปชุมนุมก็น่าจะดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปิดกั้นไม่ให้ไปชุมนุมที่อื่น ส่วนที่ พรรณิการ์ วานิช ออกมาพูดหลักการก็ถูกต้องแล้ว ถือว่าเมืองในสังคมประชาธิปไตยทุกพื้นที่ก็ชุมนุมได้ 

 

คือผู้ชุมนุมต้องเป็นคนเลือกเอง ไม่ใช่กำหนดว่าโซนนี้ต้องชุมนุมที่นี่เท่านั้น เพราะเดี๋ยวจะไปเหมือนบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ซึ่งก็ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยเท่าไร สิงคโปร์มีการจัดจุดชุมนุม ปรากฏว่าแทบไม่มีใครไปชุมนุมเพราะเป็นที่ที่คนไม่ค่อยสนใจ สื่อก็เข้าไม่ถึง เวลาคนจะชุมนุมเขาต้องเลือกเอง เขารู้ว่าที่ไหนจะสร้างแรงกดดัน สร้างแรงกระเพื่อมได้ หรือที่ไหนมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ในสังคมไทย ทำไมต้องไปชุมนุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหรือราชดำเนิน มันก็มีที่มาที่ไป เราจะไปจัดโซนนิ่งชุมนุมตรงนี้เท่านั้น คงขัดกับหลักประชาธิปไตย

 

– การส่งเสียงโดยไม่ต้องชุมนุม และข้อเสนอถ่ายทอดสดประชุมสภา กทม. 

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่าโมเดลพื้นที่การแสดงออกทางการเมือง มีแบบประเทศไหนที่สามารถนำมาปรับใช้กับ กทม. หรือประเทศไทย 

 

ประจักษ์กล่าวว่า ทุกเมืองที่เป็นประชาธิปไตย คนชอบยกตัวอย่าง London Hyde Park จริงๆ อย่างเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ก็ชุมนุมได้หมดในพื้นที่ต่างๆ เราก็ต้องยึดหลักนั้น 

 

จริงๆ หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า กทม. มีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีมาพักใหญ่ เหมือนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้วมีความทะเยอทะยานจะให้ กทม. เป็นมหานครประชาธิปไตยแต่ก็เป็นด้านที่ล้มเหลวที่สุดถ้าเทียบกับยุทธศาสตร์ด้านอื่นๆ เช่น ยุทธศาสตร์เมืองปลอดภัย เมืองสิ่งแวดล้อม เมืองน่าอยู่ เมืองเศรษฐกิจก็มี ด้านอื่นมีแผนรูปธรรมการขับเคลื่อน 

 

ส่วนยุทธศาสตร์มหานครประชาธิปไตย ผ่านมาเกินครึ่งแผนแล้วยังไม่มีการขยับไปไหน เพราะคนทำงานกับตัวผู้นำ ผู้ว่าฯ เขาไม่มีวิสัยทัศน์เรื่องนี้ก็เลยมองไม่ออกว่าจะต้องทำอะไร

 

อยากฝากบอกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตย ทำอย่างไรให้ กทม. เป็นพื้นที่ของเมืองประชาธิปไตย มันไม่ใช่แค่รองรับการชุมนุม คือการชุมนุมเกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนมี Input ส่งเสียงให้นักการเมือง เราจะทำอย่างไรให้มี Input แบบอื่นๆ โดยไม่ต้องชุมนุมก็ได้ ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของเมืองที่จะทำให้เขารู้สึกว่า เขามีความเป็นเจ้าของ กทม. ขาดตรงนี้ เป็นเมืองที่มีเสน่ห์หลายอย่าง แต่คนอยู่ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของเมืองเท่าไร มีบางคนบอกว่าเหมือนเป็นเมืองให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยว แต่ไม่ค่อยแคร์คนที่อยู่จริงๆ คนที่ทำงาน ผู้ว่าฯ คนใหม่ต้องคิดถึงเรื่องนี้เยอะๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Open Data ใช้เทคโนโลยี ใช้ข้อมูลข่าวสารที่โปร่งใส ลองดูไหมถ่ายทอดสดการประชุมสภา ส.ก. เพราะคนไม่ค่อยรู้จัก ไม่ค่อยมีบทบาท ปิดประตูประชุมแบบนั้น คนไม่รู้หรอก 

 

ประชุมสภา ส.ส. เรายังมีโอกาสได้ดูถ่ายทอดสด แล้ววัยรุ่นก็ดู คนก็สนใจ ไม่ใช่คนไม่สนใจ ฉะนั้น กทม. ก็ต้องเปิดตัวเอง ที่ผ่านมาเป็นเหมือนแดนสนธยา เลือกเสร็จไปทำอะไรกันก็ไม่รู้ใน 4 ปี ส.ก. ผู้ว่าฯ ไปปิดประตูประชุมกัน เราไม่รู้เรื่องเลยไม่ได้มีส่วนร่วม ลองไหม Facebook Live ถ่ายทอดประชุมสภานัดแรก หรือจะเสนอโครงการอะไร ตรวจสอบเลย ผู้ว่าฯ จะทำสวนสาธารณะ แล้วมีการอภิปรายคัดค้าน จะเอาภาษีเราไปใช้ทำโน่นทำนี่ เราควรจะมีโอกาสได้ฟัง แล้วฟีดแบ็ก เปิดเว็บไซต์ให้วิจารณ์เลย 

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า นโยบายที่อาจารย์กล่าวมา พอจะมองเห็นจากผู้สมัครปัจจุบันในรอบนี้หรือไม่

 

ประจักษ์กล่าวว่า มีเรื่องหนึ่งที่พอเห็น หลายคนเริ่มพูดว่าให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงบประมาณ ซึ่งเป็นเรื่องดี เราเรียกว่า Participatory Budgeting ตอนนี้หลายคนเริ่มเสนอ 

 

จริงๆ เท่าที่เคยไปทำงานด้วยกับ กทม. เพราะคณะรัฐศาสตร์ไปช่วยอบรม ระดับข้าราชการของ กทม. เขามีความรู้เรื่องนี้แล้ว เขาเคยไปดูงานต่างประเทศที่ทำเรื่องนี้ ถ้าผู้ว่าฯ มีวิสัยทัศน์และอยากผลักดันเรื่องนี้ตามที่หาเสียงไว้ จะสามารถเปลี่ยนกรุงเทพฯ ไปได้เยอะ หลักการเรื่องนี้ พูดง่ายๆ คือกันงบประมาณส่วนหนึ่งไว้เลย ส่วนนี้ไม่ใช่ผู้ว่าฯ กับ ส.ก. จะมาทำกันเอง เป็นงบที่ให้สภาประชาชนซึ่งมีวิธีสรรหากันมาตั้งเป็นกรรมการแล้วโหวตเลือกว่าจะเอางบก้อนนี้ไปทำอะไรบ้างพัฒนาเมือง ซึ่งหลายประเทศนำไปใช้แล้วปรากฏว่ามันดี เพราะโครงการก็จะไม่ใช่ทำเสาไฟกินรีถ้าประชาชนได้ใช้งบเอง เขาก็ไม่เอาไปสร้างเสาไฟกินรี แต่จะไปทำเรื่องการศึกษา สาธารณสุข ทางเท้า หรือถ้าจะติดไฟก็ติดจุดที่มืด ไม่ต้องสวยงามแค่สว่างก็พอ ลองดู 4 ปีผ่านไปจะเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง งบประมาณจะถูกใช้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น เรื่องนี้บางคนหาเสียงหวังว่าถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ จะเอาไปผลักดันใช้จริง                                                                     

 

อยากได้ยินรูปธรรมว่าจะสร้างช่องทางการมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง เทคโนโลยีที่จะเอามาใช้เปิดเผยข้อมูล ประชาชนควรเข้าถึงข้อมูลได้หรือสื่อจะขอข้อมูลอะไรก็ควรจะง่าย กทม. กำลังจะทำโครงการอะไรอยู่ พิจารณากฎหมายอะไรอยู่

 

อย่างโซล เกาหลีใต้ หน้าศาลาว่าการ จะมี Big Ears หูใหญ่ คนสามารถไปพูดระบาย เสียงจะไปตามสายเข้าไปศาลาว่าการ ข้าราชการและผู้ว่าฯ ก็จะได้ยิน แล้วก็มีระบบเรื่องไหนที่คนสนใจเยอะจะเป็นเรคคอร์ดเข้าไปในระบบ เขาจะต้องตอบมาว่าเมื่อประชาชนว่าอย่างนี้ เขาจะว่าอย่างไร เขาจะตอบสนองยังไงบ้าง ต้องทำรูปธรรมเหล่านี้

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า นโยบายใดที่อยากให้ผู้ว่าฯ กทม. ทำเป็นเรื่องแรก

 

ประจักษ์กล่าวว่า ถ่ายทอดสดประชุมสภา กทม. และงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอโครงการที่อยากจะทำ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X