×

เจาะลึกพลัง ‘มูเตลู’ Soft Power ของไทยที่สร้างรายได้สะพัดมหาศาล

26.04.2022
  • LOADING...
พุทธพาณิชย์

พูดถึงคำว่า Soft Power ช่วงนี้คงเป็นคำฮิตที่ใครๆ ก็พูดถึง จริงๆ แล้วคำนี้น่าจะเริ่มฮิตติดปากคนไทยกันมามากขึ้นตั้งแต่กระแส ‘ลิซ่า แห่งวง BLACKPINK’ ที่พูดถึงลูกชิ้นยืนกินจนเป็นที่รู้จัก หรือซีรีส์เกาหลีใต้เรื่อง Squid Game จนกระทั่งมาถึงกระแส มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล นักร้องไทยคนแรกที่ได้ขึ้นเวที Coachella 2022 เวทีเทศกาลดนตรีระดับโลก โดยเทศกาลนี้ในแต่ละปีจะรวมศิลปินดังยอดนิยมทั้งปัจจุบันและทั้งยังเป็นที่นิยมอยู่มาขึ้นเวทีมากมาย

 

แต่ที่เป็นประเด็นและเป็นที่กล่าวถึงกันมากในโลกออนไลน์ คือท่อนแรปของมิลลิที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน “Country is good. People is good. Our food is good. But government is บูด” ไม่เพียงเท่านั้น ที่สร้างกระแสฮือฮาและสร้างความตื่นเต้นสำหรับคนไทยก็คงเป็นการกินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีของมิลลิ จนกลายเป็นกระแสไวรัลในโลกออนไลน์ ทำเอาคนไทยจำนวนมากพากันแห่ซื้อข้าวเหนียวมะม่วงมากิน ถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ โพสต์กันในเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทำให้ความต้องการบริโภคข้าวเหนียวมะม่วงพุ่งสูงทันที

 

🙏🏻🔮 Soft Power ไม่ได้หมายถึงแค่ความเป็นไทยตามขนบ 🔮🙏🏻

หลายคนเรียกสิ่งนี้ว่า Soft Power แต่รู้หรือไม่ว่า Soft Power ไม่ได้หมายถึง ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ไม่ได้หมายถึงธรรมชาติ ไม่ได้หมายถึงภาพยนตร์ ไม่ได้หมายถึงชุดไทย ไม่ได้หมายถึงรำไทย และไม่ได้หมายถึงมวยไทย แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงสื่อหรือช่องทางที่จะช่วยผลักดันจิตวิญญาณ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม (ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ความเป็นไทยตามขนบ) ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของคนทั้งโลก และสิ่งสำคัญคือสร้างรายได้อันมหาศาลกลับเข้าประเทศเจ้าของวัฒนธรรมและจิตวิญญาณเหล่านั้น โดยที่เราไม่ใช้ปืน หรือรถถัง หรือนิวเคลียร์ ไปยิง ไประเบิด ไปถล่มใครต่อใครให้ยอมรับในความคิด ความเชื่อ หรือจิตวิญญาณของชาติเรา อันนี้เรียก Soft Power

 

รู้ไหมว่าสื่อกลางที่เป็นตัวผลักดัน Soft Power ไทยที่แข็งแกร่ง และสามารถสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับประเทศคือ Sex Worker และ มูเตลู นี่คือตัวตนของความเป็นไทยที่ต่างชาติรู้จัก เพียงแต่ว่าเราคนไทยทั้งหลายไม่ยอมรับตัวตนของเราที่เขารู้จัก และมักจะหลอกตัวเองว่า ‘ไม่จริง’ ด้วยข้ออ้างทางชุดศีลธรรม

 

🙏🏻🔮 พลังมูเตลู = Soft Power ไทย 🔮🙏🏻

ผู้เขียนจะยังไม่กล่าวถึงประเด็น Sex Worker แต่จะขอพูดถึงพลังแห่ง Soft Power สาย ‘มูเตลู’ ที่คนไทยหลายต่อหลายคนมักหลงลืม และมองข้ามไปว่ามูเตลูสร้างเม็ดเงินและสร้างพลังอำนาจแบบที่เราเรียกกันติดปากว่า Soft Power อย่างไรบ้าง

 

‘มูเตลู’ เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่อยู่กับสังคมไทยมาช้านาน มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นเครื่องราง วัตถุมงคล สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงความเชื่อดั้งเดิมที่เป็นของภูมิภาค ไม่ว่าจะเรื่องพญานาค เรื่องพระเครื่อง เรื่องพระเกจิชื่อดัง หรือแม้แต่การสักยันต์ ซึ่งเชื่อกันว่าช่วยดลบันดาลหรือสร้างความหวังให้กับคนที่นับถือบูชา ทั้งมีเสน่ห์ เมตตามหานิยม ในปัจจุบันก็พบว่ามีการนำความเชื่อเหล่านี้มาปรับประยุกต์เพื่อมาสร้างรายได้ให้แก่วัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จนถูกกล่าวหาโจมตีว่าเป็นพุทธพาณิชย์ เป็นของปลอม ไม่ใช่แก่นแท้ของศาสนา 

 

แต่สิ่งเหล่านี้กลับสามารถดึงนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนจีนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นจีนมาเลย์ จีนสิงคโปร์ จีนฮ่องกง จีนไต้หวัน และจีนแผ่นดินใหญ่ ให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเราได้

 

จากข้อมูลที่เคยมีการสัมภาษณ์จากเซียนพระรายใหญ่อย่าง ‘เซียนจั๊ว เมืองนนท์’ กล่าวว่า ‘คนจีนถือเป็นลูกค้ารายใหญ่’ รวมถึงเฮียตี๋เหล้า ท่าพระจันทร์ ก็บอกว่าคนจีนเป็นลูกค้าตลาดใหญ่ที่สุดของเมืองไทย

 

ไม่เพียงแค่คนจีนเท่านั้นที่ชอบ ดารานักแสดงระดับโลกก็หลงใหลในเรื่องมูเตลูของเรา แอนเจลินา โจลี และ แบรด พิตต์ ก็หลงใหลการสักยันต์ของอาจารย์หนู กันภัย อย่างมาก โดยมีข่าวลือกันว่ามีค่าจ้างในการสักสูงถึงครั้งละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว หลงใหลถึงขั้นจองตั๋วเครื่องบินให้อาจารย์หนูไปสักให้ถึงที่ประเทศกัมพูชา ตอนที่มาถ่ายทำภาพยนตร์เลยทีเดียว รวมถึง ฟาบิโอ คันนาวาโร อดีตกองหลังทีมชาติอิตาลีก็มาสักกับอาจารย์หนูด้วย

 

ในแง่ของรายได้ เซียนจั๊วกล่าวว่า เคยมีรายได้จากการขายพระให้แก่นักท่องเที่ยวจีนได้มากถึงวันละ 50,000 บาท รวมถึงเฮียตี๋เหล้าก็กล่าวว่า กลุ่มลูกค้าคนจีนนอกจากจะเช่าไว้บูชาเองแล้วยังซื้อสินค้าเพื่อนำออกไปขายต่อในประเทศของตนเองด้วย โดยเฉพาะพ่อค้าชาวจีนสิงคโปร์และมาเลเซีย ความนิยมนี้คาดว่าเงินในตลาดพระต่อปีอาจจะสะพัดมาถึง 1 พันล้านบาท หรือเจ้าของเว็บไซต์ท่าพระจันทร์ดอทคอมระบุว่าอาจจะมากถึงหลักหมื่นล้านบาทต่อปีเลยด้วยซ้ำ

 

🙏🏻🔮 วงการพระเครื่อง เงินหมุนเวียนหลายหมื่นล้าน 🔮🙏🏻

จากข้อมูลเรื่องวงเงินหมุนเวียนในระบบตลาดพระที่กล่าวมาสอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุว่า มูลค่าของธุรกิจพระเครื่องขยายตัวต่อเนื่อง จากในปี 2546 ที่มีมูลค่าสูงเกือบ 1 หมื่นล้านบาท มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2548 มีมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท และได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2550 มากถึง 4 หมื่นล้านบาท และในปี 2551 ก็คาดการณ์ว่าจะยังคงตัวอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท 

 

ในงานศึกษาของ ฉลอง สุนทราวาณิชย์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาพัฒนาการนวัตกรรมพระเครื่องและอุตสาหกรรมพระเครื่องไว้ในปี 2551 (10 กว่าปีที่ผ่านมา) โดยกล่าวว่า ‘วัฒนธรรมพระเครื่อง’ นับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมแขนงหนึ่งที่มีบทบาทไม่น้อยในระบบเศรษฐกิจไทย คาดกันว่ามีตัวเลขเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมดังกล่าวทั้งระบบอยู่ระหว่าง 1-2 หมื่นล้านบาทต่อปี

 

ไม่เพียงเท่านั้น ในวงการมูเตลูยังพบว่ามีธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมพระเครื่องอีกมากมายหลายสาขาธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือคู่มือ ตำรา สารานุกรม สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์ คอลัมน์ประจำในสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงร้านรับถ่ายรูปพระเครื่อง ทำกรอบพระ เป็นต้น 

 

นี่เป็นเพียงแค่พลังในวงการมูเตลูในอุตสาหกรรมพระเครื่องและเครื่องรางเท่านั้น ยังไม่รวมถึงเรื่องการท่องเที่ยวอะไรต่างๆ อีกมากมาย ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้คนในท้องถิ่นได้อีกมหาศาล

 

บทความต่อเนื่องจากบทความนี้ ผู้เขียนจะพาไปสำรวจว่าสถานที่ท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากพลังมูเตลูสร้างรายได้เข้าประเทศและให้กับชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนมากน้อยแค่ไหน รวมถึงจะพาไปสำรวจความสำเร็จของธุรกิจมูเตลูยักษ์ใหญ่อย่างแบรนด์ไลลา  (Leila Amulets) และธุรกิจเบอร์มงคล ว่าความสำเร็จเขาเกิดขึ้นได้อย่างไร และสร้างมูลค่าให้ธุรกิจมากน้อยแค่ไหน

 

ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังจะชวนพี่น้องชาวไทยจำนวนมากตั้งคำถามกันว่า “เราพร้อมแล้วหรือยังสำหรับการยอมรับตัวตนที่แท้จริงของตนเอง” และ “พร้อมแล้วหรือยังกับการผลักดันความเป็นตัวตนนี้ให้เป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก เพื่อสร้างรายได้อันมหาศาลเข้าประเทศ” (โปรดติดตาม)

 

อ้างอิง:

  • บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด. ธุรกิจพระเครื่องปี 51: มูลค่าเกือบ 20,000 ล้านบาท, 19 มกราคม 2548.
  • ฉลอง สุนทราวานิช. นวัตกรรมพระเครื่องไทย: ก่อนจะเป็นอุตสาหกรรมพระเครื่อง เมื่อพระเครื่องก้าวขึ้นมาเป็น “สุดยอด” ของเครื่องรางไทย.
  • เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ เรื่อง โลกของอิสลามและมุสลิมอุษาคเนย์. จัดกิจกรรมโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์, 28-29 พฤศจิกายน 2551 ณ โรงแรมทวินโลตัส นครศรีธรรมราช.
  • https://thematter.co/social/photo-album-buddha-amulet-market/159676
  • https://www.matichon.co.th/local/news_34413
  • https://thestandard.co/thai-buddhist-amulets-of-high-value/
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X