Swensen’s ยังคงเดินหน้าเปิด Region Flagship Store โดยคราวนี้หวนกลับไปที่ภาคใต้อีกครั้งด้วยการเปิดสาขาที่ 5 และเป็นร้านรูปแบบนี้สาขาที่ 2 ของปีที่นครศรีธรรมราช
Region Flagship Store จะเป็นร้าน Stand Alone ค่อนข้างใหญ่ มีพื้นที่ 1 หรือ 2 ชั้น ใช้การออกแบบและตกแต่งที่อิงเอกลักษณ์จากท้องถิ่นเข้ามาผสมผสาน อย่างที่ภูเก็ตทาวน์ใช้การตกแต่งแบบชิโนโปรตุกีส, กาดน่านใช้ไทลื้อ, ยะลาปาร์คใช้สไตล์อาหรับ และที่พิษณุโลกหยิบเอาหนึ่งในคำขวัญของจังหวัดอย่างสองฝั่นน่านและเรือนแพมาเป็นไอเดียหลักในการทำร้าน
สำหรับ Region Flagship Store นครศรีธรรมราช ก็ยังใช้คอนเซ็ปต์เดียวกัน โดยที่นี่หยิบเอาบ้านเรือนไทยสไตล์โคโลเนียลของท่านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ ซึ่งมีอายุกว่า 108 ปี มาเป็นกิมมิกในการออกแบบอาคารภายนอก ส่วนด้านในก็หยิบหนังตะลุงมาตกแต่ง
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- Swensen’s เดินเกม Region Flagship Store บุกเปิดสาขา 2 ‘กาดน่าน’ ที่มาพร้อมกับโลโก้สีขาว
- Swensen’s เปิด Region Flagship Store สาขา 4 ที่ ‘พิษณุโลก’ ใหญ่ที่สุดและใช้งบลงทุนมากที่สุด
- ‘ยะลาปาร์ค’ สาขาใหม่ของ Swensen’s ที่หยิบเอาสถาปัตยกรรมอาหรับมาผสมผสานกับความเป็น ‘ยะลา’ ได้อย่างลงตัว
- เบื้องหลัง ‘Swensen’s Craft Bar at Siam Paragon’ ร้าน Swensen’s สาขาแรกในโลกที่เสิร์ฟไอศกรีมปั่นสดๆ ขึ้นมาในร้าน
ร้านแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ศิรินครสแควร์ มีพื้นที่ 400 ตารางเมตร จำนวน 160 ที่นั่ง ใช้งบลงทุนกว่า 120 ล้านบาท โดยเป็นร้าน Swensen’s สาขาที่ 3 ในจังหวัดนครศรีธรรมราช
“เราต้องการให้ Region Flagship Store เป็นจุดหมายที่นักท่องเที่ยวอยากไปเยือน” อนุพนธ์ นิธิยานันท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สเวนเซ่นส์ (ไทย) จำกัด กล่าว “ซึ่งเราก็ทำได้สำเร็จ เห็นได้จากร้านในภูเก็ตทาวน์หรือกาดน่าน เป็นต้น”
ที่ผ่านมา Swensen’s มักขยายสาขาที่อยู่ในศูนย์การค้าหรือไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นหลัก ซึ่งจะใช้งบลงทุนอยู่ราว 5 ล้านบาท แต่ Region Flagship Store นั้นด้วยความที่ร้านตั้งอยู่ด้านนอก ทำให้ต้องใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
อย่างภูเก็ตทาวน์ Swensen’s ลงทุนเองก็ใช้งบลงทุนกว่า 14 ล้านบาท ส่วนสาขาที่เหลือล้วนเป็นแฟรนไชส์ซึ่งมีสัญญา 10 ปี
“ด้วยความที่ลงทุนมากกว่าการคืนทุนจากปกติ 3 ปี จึงขยับมาเป็น 5 ปี” แม่ทัพ Swensen’s กล่าว “แต่ก็อาจคืนทุนได้เร็วกว่านั้น เพราะยอดขายของ Region Flagship Store มักจะมากกว่าร้านทั่วไป 3 เท่าตัว”
Region Flagship Store เป็นหนึ่งในรูปแบบร้านใหม่ๆ ของ Swensen’s ที่ทำขึ้นมาเพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งนอกจากร้านในภูมิภาคแล้วเรายังได้เห็นร้านอื่นๆ อีก เช่น Swensen’s Craft Bar ที่พารากอน หรือ Swensen’s At Ekkamai ที่ทำขึ้นมาเพื่อจับกลุ่ม Café Hopper
“เราไม่สามารถ One Size Fits All ได้อีกต่อไปแล้ว ด้วยลูกค้าที่เดินเข้ามาที่ร้านไม่ได้แค่กินไอศกรีม แต่มาเพื่อรับประสบการณ์ด้วย ดังนั้นเราจึงต้องทำร้านให้เป็น Instagram Friendly ด้วย” อนุพนธ์กล่าว พร้อมเสริมว่า “เป้าหมายของเราไม่ใช่แค่ร้านไอศกรีมอีกต่อไป แต่เราต้องการเป็นร้านของหวานที่พัฒนาขึ้นจากไอศกรีม”
ปัจจุบัน Swensen’s มีร้านทั้งหมด 315 สาขา ช่วงเวลาที่เหลือของปีจะเปิดอีก 5 สาขา โดยสาขาที่สามารถเปิดเผยได้แล้วมี 3 สาขา คือ เซ็นทรัล จันทบุรี, โรบินสัน บ้านฉาง และเทอร์มินอล 21 พระราม 3
ส่วน Region Flagship Store ปีนี้จะไม่ได้เปิดแล้ว โดยอยู่ระหว่างหาพื้นที่ซึ่งคาดว่าต่อไปจะเปิดเพิ่มปีละ 2 สาขา ซึ่งยังมีภาคอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ไปเปิดอีก เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
Swensen’s เป็นหนึ่งในเชนร้านอาหารที่อยู่ภายใต้บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ซึ่งปี 2564 ที่ผ่านมา มีรายได้รวมทั้งสิ้น 21,173 ล้านบาท เติบโตขึ้น 2%
“สำหรับ Swensen’s เราคาดว่ารายได้ปีนี้อยากให้กลับไปเท่ากับปี 2563” แม่ทัพ Swensen’s กล่าวทิ้งท้าย
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP