ก้าวล่วงสู่ปีที่ 3 แล้วที่พวกเราทุกคนต้องใช้ชีวิตท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด ซึ่งทุกวันนี้ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่หลักหมื่นคนต่อวัน
แม้วันนี้การฉีดวัคซีนจะช่วยให้ความรุนแรงของโรคไม่มากนัก แต่หนทางที่ดีที่สุดคือการ ‘ไม่ติด’ จะดีกว่า แม้อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่จะดีขึ้นภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ และมักจะหายขาดภายใน 12 สัปดาห์
แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพที่เรียกว่า ‘ลองโควิด’ (Long COVID) หรือที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด (CDC) ของสหรัฐอเมริกา เรียกอาการที่ยังพบหลังจากติดเชื้อไปแล้ว 4 สัปดาห์ว่า ภาวะ ‘โพสต์โควิด’ (Post-COVID Conditions)
ข้อมูลจากกรมอนามัยพบว่า อาการ Long COVID มีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30-50% จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่รักษาหายแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง
Long COVID นั้นเป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่อง ส่วนมากตั้งแต่ 3 เดือนหลังการติดเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน โดยอาการดังกล่าวไม่สามารถอธิบายด้วยสาเหตุอื่น
อาการส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น เช่น อ่อนเพลีย, หอบเหนื่อย, แน่นหน้าอก, ไอ และไม่ได้กลิ่น
ในเมื่อเราไม่สามารถทำนายได้ว่าเราจะติดโควิดตอนไหน หรือที่ใดบ้างที่มีเชื้ออยู่ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการ ‘ป้องกัน’ ผ่านวิธีการง่ายๆ ที่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง
โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อนั้นพบว่า ‘ผู้ป่วยได้รับเชื้อมาจากการสัมผัสใกล้ชิดกับคนในครอบครัว’ ดังนั้นเพื่อให้การป้องกันโรคครอบคลุมได้อย่างทั่วถึงในทุกมิติ ‘กรมประชาสัมพันธ์’ จึงได้จัดทำวิดีโอคลิป ‘12 แนวทางป้องกันโควิดในครอบครัว’ ไว้ดังนี้
- ใส่แมสก์ตลอดถ้าอยู่บ้านเกิน 2 คน
- อาบน้ำทันทีที่กลับถึงบ้าน
- คุยกันห่าง 1 เมตร หรือนอนห้องเดียวกันห่าง 1 เมตร
- กินข้าวด้วยกัน นั่งห่าง 1 เมตร
- ล้างมือก่อนกินข้าวทุกครั้ง
- ล้างภาชนะทันทีหลังใช้งาน
- ไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน
- ทำความสะอาดสิ่งที่ใช้ร่วมกันก่อนใช้ห้องน้ำ
- แยกของใช้ในห้องน้ำ
- หมั่นทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม
- ฉีดแอลกอฮอล์พัสดุที่รับมาก่อนเอาเข้าบ้าน
- รู้ว่าติดโควิดอย่าตื่นตูม ให้รีบแยกตัวเองออกก่อน
ภายในคลิปวิดีโอก็จะเป็นวิธีการง่ายๆ ที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง และเป็นภาพที่ทำให้เราได้เห็นชัดเจนมากขึ้นว่าควรต้องปฏิบัติตัวเองอย่างไร
โดยสมาชิกทุกคนในครอบครัวควรปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโรค แม้จะอยู่ภายในที่พักอาศัยก็ตาม
แต่มาตรการเดิมที่เน้นการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่นอกบ้านหรือการอยู่ในที่สาธารณะก็ยังเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้เช่นกัน
ดังนั้นจึงควรปฏิบัติควบคู่กันไปเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการรับและแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิดมาสู่สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว ด้วยความปรารถนาดีจากกรมประชาสัมพันธ์
ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของคลิปวิดีโอเพิ่มเติมได้ที่ prd.go.th/th/content/category/detail/id/34/iid/89162
#เดินหน้าพร้อมสู้โควิด
อ้างอิง:
- https://thestandard.co/key-messages-long-covid/
- https://thestandard.co/long-covid-symptoms-long-term-effects-for-people-who-have-had-covid-19/
- https://thestandard.co/anamai-advises-long-covid-patients-about-nutrients/