นับตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันต้องถือเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายสำหรับธุรกิจประกันภัย การแพร่ระบาดที่รุนแรงของโควิดส่งผลให้ยอดเคลมประกันโควิดแบบต่างๆ โดยเฉพาะประกันแบบ เจอ จ่าย จบ พุ่งทะยานจนส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของหลายบริษัท
โดยปัจจุบันมีบริษัทประกันที่ขาดสภาพคล่องรุนแรงจนไม่สามารถไปต่อไป จำต้องเลิกกิจการไปแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า ประเทศไทยมียอดเคลมประกันภัยโควิดสะสมตั้งแต่ ปี 2563 ถึง 15 มีนาคม 2565 อยู่ที่ 5.18 หมื่นล้านบาท เป็นยอดเคลมเจอ จ่าย จบ ราว 4.2 หมื่นล้านบาท และที่เหลือราว 9.8 พันล้านบาท เป็นยอดเคลมค่ารักษาพยาบาลและชดเชยรายได้ จากการรับประกันภัยโควิดทั้งระบบที่มีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยสะสม 20.55 ล้านฉบับ เป็นผู้เอาประกันภัยสะสม 30.16 ล้านราย เบี้ยประกันภัยสะสม 1.09 หมื่นล้านบาท
แม้ว่าบริษัทประกันทุกแห่งจะยุติการขายประกันโควิดแบบ เจอ จ่าย จบ กันไปหมดแล้วตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา แต่จากการคุ้มครองที่ยังทยอยมีต่อไปจนถึงช่วงกลางปีนี้ ประกอบกับยอดผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในปัจจุบันที่ยังอยู่ในหลักหมื่นรายและมีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้นอีกหลังเทศกาลสงกรานต์ จึงน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดเหตุบริษัทประกันภัยขาดสภาพคล่องและถูกเพิกถอนใบอนุญาตเพิ่มเติมขึ้นอีกหรือไม่ในช่วงหลังจากนี้
ล่าสุดสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ออกมาเปิดเผยว่า ยอดการเคลมประกันภัยโควิด ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ได้พุ่งขึ้นแตะระดับ 6 หมื่นล้านบาทแล้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทะลุ 150% หรือ1.5 เท่า ยอดเคลม ณ สิ้นปี 2564 ที่ 4 หมื่นล้านบาท และยังมีความเสี่ยงยอดเคลมสูงขึ้นต่อเนื่องทุกวัน โดยคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีโอกาสที่ยอดผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงกว่าช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE ได้คาดการณ์ว่า ยอดเคลมประกันภัยโควิดทั้งระบบอาจปรับเพิ่มขึ้นไปถึง 1 แสนล้านบาทในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่กรมธรรม์ส่วนใหญ่จะสิ้นสุดความคุ้มครอง
จากความเสี่ยงที่ยอดผู้ติดเชื้อจะเร่งตัวขึ้นในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ขณะนี้บริษัทประกันส่วนใหญ่ได้ประกาศหยุดขายแบบประกันโควิดกันแล้ว ซึ่งจากการสำรวจของ THE STANDARD WEALTH พบว่าแบบประกันโควิดที่ยังมีจำหน่ายอยู่มีเพียงประกันโควิดที่คุ้มครองเฉพาะ ‘ภาวะโคม่า’ เท่านั้น
โดยแบบประกันโควิดเดียวที่พบว่ายังมีจำหน่ายอยู่ คือ แผน 1BX และ 2BX ของทิพยประกันภัย คิดเบี้ยประกัน 300 บาท และ 480 บาทต่อปี คุ้มครองการเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่าจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 300,000 และ 500,000 บาทตามลำดับ
ขณะที่เอฟดับบลิวดีประกันภัยได้แจ้งผ่านเว็บไซต์ว่า บริษัทตัดสินใจหยุดขายกรมธรรม์ประกันโควิด โดยยังให้ความคุ้มครองลูกค้าที่ถือกรมธรรม์ปัจจุบันไปจนถึงวันที่กรมธรรม์หมดอายุ
ปิดฉาก ‘ประกันโควิด’ เหลือแค่คุ้มครองกรณีโคม่า
อานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในช่วงหลังจากนี้ ถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บริษัทประกันตัดสินใจยุติการขายและไม่ออกแบบประกันโควิดใหม่ๆ สู่ตลาด โดยแบบประกันที่ยังมีวางขายอยู่จะเป็นแบบประกันที่มีความเสี่ยงไม่มากนัก เช่น ประกันโคม่า
“ขณะนี้หลายบริษัทยังมียอดเคลมโควิดที่ต้องบริหารจัดการรออยู่ เวลาที่ไฟไหม้บ้านเราก็ดับไฟก่อน คงไม่มีใครปลูกต้นไม้หรือออกผลิตภัณฑ์โควิดใหม่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง ผมคิดว่าประกันโควิดใหม่ๆ อาจจะไม่มีแล้วก็ได้ เพราะลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหม่ รายได้ไม่สูง และยังขาดความเข้าใจเรื่องเงื่อนไขกรมธรรม์” อานนท์กล่าว
ข้อมูลบ่งชี้อาจมี ‘ทุจริต’ เคลมประกัน
อานนท์กล่าวว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ไม่มีผลิตภัณฑ์โควิดใหม่ออกสู่ตลาดในเวลานี้ คือ การที่หน่วยงานกำกับในช่วงที่ผ่านมามีคำสั่งห้ามยกเลิกกรมธรรม์โควิด แม้ว่าแบบประกันดังกล่าวจะขาดทุน 10-20 เท่าแล้วก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้ทำให้บริษัทประกันไม่กล้าทดลองออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
นอกจากนี้อานนท์ยังตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติของการเคลมประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบในช่วงนี้ด้วยว่า ปัจจุบันอัตราคนติดเชื้อโควิดของประเทศคิดเป็น 2.3% ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่กลับมีอัตราคนติดเชื้อโควิดของผู้ที่มีประกันคิดเป็น 10% ของจำนวนกรมธรรม์โควิดทั้งหมด ซึ่งถือว่าผิดธรรมชาติ
ทั้งนี้ โดยปกติแล้วอัตราส่วนทั้งสองส่วนนี้ควรเป็นตัวเลขที่สอดคล้องกัน แต่การที่อัตราคนติดเชื้อโควิดของประกันภัยกลับมากกว่าถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับอัตราคนติดเชื้อโควิดของประเทศ จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดการทุจริต เคลมสินไหมจากผู้เอาประกันภัยเพิ่มขึ้นจากผู้ที่ซื้อประกันหลายฉบับจากหลายบริษัทในช่วงที่กรมธรรม์ใกล้หมดอายุ ด้วยการนำตัวเองเข้าไปเสี่ยงติดโควิด
บริษัทประกันลุ้นผ่านเดือนเมษายน กรมธรรม์สิ้นสุดกว่า 70%
อย่างไรก็ดี ยังประเมินว่าหากบริษัทรับประกันภัยโควิดเจอ จ่าย จบ สามารถผ่านพ้นช่วงเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่กรมธรรม์ประกันโควิดจะสิ้นสุดความคุ้มครองลงถึง 70% ไปได้ สถานการณ์ต่างๆ และยอดเคลมประกันภัยโควิดจะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น
“ในภาพรวมบริษัทขนาดใหญ่ที่รับประกันภัยโควิดยังรับไหวและให้ความคุ้มครองได้ตามเงื่อนไข ส่วนกรณีการเคลมประกันภัยโควิดที่เป็นค่ารักษาพยาบาลและชดเชยรายได้จะส่งผลต่อบริษัทประกันในระยะยาวหรือไม่นั้น คงต้องรอประเมินสถานการณ์ระยะถัดไป แต่เชื่อว่าบริษัทประกันส่วนใหญ่ยังบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี และการขายประกันภัยประเภทอื่นๆ ยังเติบโตได้” อานนท์กล่าว
ประเมินความเสี่ยงยาก ทำบริษัทไม่กล้าออกกรมธรรม์ใหม่
ขณะที่แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจประกันภัยรายหนึ่งเปิดเผยว่า สาเหตุหลักที่บริษัทประกันไม่มีการออกผลิตภัณฑ์ประกันโควิดมารองรับความต้องการของผู้บริโภคในช่วงนี้ เกิดจากการที่ช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลมีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์และกติกากลางทาง เช่น เดิม Home Isolation ไม่ต้องจ่าย แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาจ่าย ทำให้การประเมินความเสี่ยงของบริษัทประกันทำได้ยากขึ้น
“การออกผลิตภัณฑ์ประกันจะต้องคำนวณจากสถิติ ถ้าเราออกแบบมาภายใต้กติกาแบบหนึ่ง แล้วจู่ๆ กติกานั้นถูกเปลี่ยน เบี้ยที่ตั้งไว้ก็อาจไม่รองรับความเสี่ยงได้แล้ว เมื่อมีความเสี่ยงที่กติกาจะถูกเปลี่ยนกลางทางหรือถูกบีบให้ต้องจ่าย บริษัทประกันก็เลือกที่จะไปเล่นในสนามที่เขาเข้าใจกติกาดีกว่า” แหล่งข่าวระบุ
ประกันโควิดคุ้มครองโคม่ายังพอขายได้
ด้าน พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน นักคณิตศาสตร์ประกันภัย บริษัท แอคชัวเรียล บิสซิเนส โซลูชั่น (ABS) ประเมินว่า แบบประกันโควิดที่ออกมาในระยะข้างหน้าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้จำกัดความเสี่ยงได้มากขึ้น เช่น แบบประกันอาจจะมีการระบุเจาะจงเลยว่าให้ความคุ้มครองเชื้อสายพันธุ์ใด หรืออาจจะมีแบบประกันเป็นแพ็กเกจมากับการฉีดวัคซีน โดยคำนวณเบี้ยอิงจากจำนวนเข็มวัคซีนที่ฉีด เพื่อให้บริษัทประเมินความเสี่ยงได้ดีขึ้น
“แบบประกันโควิดที่ผมมองว่ายังไปต่อได้คือประกันโคม่า เพราะโอกาสที่คนจะโคม่ายังต่ำกว่า 1% ถ้าบริษัทประกันมองว่าเขาจำกัดความเสี่ยงได้ เราก็อาจได้เห็นแบบประกันโควิดใหม่ๆ ออกมาอีก เช่น ต่อไปคนที่ฉีดวัคซีน 1 เข็ม กับคนที่ฉีด 3 เข็ม ไม่ควรต้องจ่ายเบี้ยเท่ากัน หรือการกำหนดเงื่อนไขการคุ้มครองแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น” พิเชฐกล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP