เสียงเชียร์จากผู้ชมหลายหมื่นคนดังกึกก้องอยู่ใน ‘โรงละครแห่งความฝัน’
เดวิด เบ็คแฮม ซูเปอร์สตาร์หมายเลข 7 ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้บอลก่อนจะส่งต่อให้กับ ‘เจสส์’ สาวน้อยบริติชเอเชียน ที่จัดการโซโล่ควบพาบอลไปข้างหน้า ก่อนที่จะสังหารประตูเข้าไปตุงตาข่ายอย่างเฉียบขาด
ทันทีที่ลูกบอลกระทบตาข่าย เบ็คแฮมปรี่เข้าหาเจสส์ด้วยความดีใจ และทั้งสองกำลังจะได้มีโมเมนต์ที่ดีที่สุดในชีวิตกับการฉลองประตูด้วยกัน ขณะที่กองเชียร์เรดอาร์มีต่างร้องเรียกชื่อของเจสส์ดังกระหึ่ม
ก่อนที่เจสส์จะได้สติกลับมาและพบว่า คนที่เรียกเธอนั้นไม่ใช่กองเชียร์ในโอลด์แทรฟฟอร์ด หากแต่เป็นแม่ของเธอที่ตะโกนสั่งให้เธอลงมาช่วยงานในครัว
นี่คือตอนหนึ่งของเรื่องราวในภาพยนตร์โรแมนติก-คอเมดี้ ที่ใช้โลกฟุตบอลเป็นฉากหลัง และมีเบ็คแฮม ซูเปอร์สตาร์หมายเลขหนึ่งของโลกลูกหนังเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เป็นจุดขายในฐานะของ ‘แรงบันดาลใจ’ ที่เป็นต้นธารของเรื่องราวทั้งหมด
แต่ความดีความงามต้องยกให้ พาร์มินดา นากรา ผู้รับบทเป็น เจสมินเดอร์ ภามรา สาวน้อยเชื้อสายบริติชเอเชีย กับครอบครัวที่ไม่เข้าใจความฝันของเธอ กับ เคียรา ไนท์ลีย์ ในบท จูเลียต แพ็กซ์ตัน หรือ ‘จูลส์’ สาวน้อยชาวอังกฤษแท้ๆ ที่ใช้ฟุตบอลเพื่อไล่ตามความรัก ซึ่งทั้งสอง (และโค้ช ‘โจ’ หนุ่มหล่อที่มาสร้างสีสันในเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของวัยใส) ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของตัวละครออกมาได้เป็นอย่างดี
และนั่นทำให้ Bend It Like Beckham กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่อยู่ในใจและในความทรงจำของผู้คนมากมายตั้งแต่ฉายครั้งแรกเมื่อปี 2002 ซึ่งวันนี้ (12 เมษายน) ก็เป็นวันครบรอบ 20 ปีของภาพยนตร์เรื่องนี้พอดี
คำถามที่น่าสนใจคือ กาลเวลาผันผ่านมานานขนาดนี้ โลกฟุตบอลสำหรับผู้หญิงเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่?
สิ่งแรกและสิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องรู้ก่อนคือ เมื่อครั้งที่ Bend It Like Beckham ออกฉายนั้นฟุตบอลหญิงในอังกฤษยังไม่ได้จัดว่าเป็นกีฬาอาชีพ การยกเลิกห้ามผู้หญิงเล่นฟุตบอลเพิ่งจะมีขึ้นในปี 1971 และเราแทบไม่มีโอกาสได้ดูการแข่งขันของฟุตบอลหญิงทางโทรทัศน์เลยด้วยซ้ำ
ในประเทศอังกฤษมีเด็กสาวมากมายที่เกิดและเติบโตในยุค 90 และรักในเกมฟุตบอล พวกเธอวาดลวดลายบนฟลอร์หญ้ากับเด็กผู้ชายมาตลอด จนกระทั่งเมื่อเด็กน้อยกำลังจะก้าวเข้าสู่วัยรุ่นพวกเธอก็ต้องพบกับความจริงที่โหดร้ายว่า ในขณะที่เด็กผู้ชายมีโอกาสจะได้ไปต่อไม่ว่าจะเป็นการเข้าอะคาเดมี หรืออย่างน้อยได้เล่นฟุตบอลต่อกับเพื่อนในระดับไฮคูลหรือมหาวิทยาลัย
เด็กสาวในประเทศที่บอกตัวเองว่าเป็นต้นกำเนิดของเกมฟุตบอลสมัยใหม่ไม่มีเส้นทางให้ไปต่อ เพราะในขณะที่พวกเธอเริ่มจะไม่สามารถแข่งขันกับเด็กผู้ชายได้ด้วยธรรมชาติของสรีระร่างกาย ปัญหาก็คือไม่มีทีมฟุตบอลหญิงให้พวกเธอเล่นแล้ว
Bend It Like Beckham จึงเป็นสิ่งที่จุดประกายให้สังคมได้รับรู้ว่าผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นเด็กน้อย เด็กสาว หรือสุภาพสตรี ก็สามารถเล่นฟุตบอลได้ โดยไม่เกี่ยวกับชนชาติ เชื้อสาย ผิวสี หรืออะไรก็ตามที่มันไม่ได้เกี่ยวกับการเตะลูกกลมๆ ในสนามหญ้า
ฟุตบอลคือกีฬาของทุกคนและควรจะเป็นของทุกคนอย่างแท้จริง
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมาคือ ฟุตบอลหญิงได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ และความนิยมก็สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยตามรายงานจากสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) เมื่อปี 2020 ระบุว่า มีผู้หญิงทั้งเด็กและสาวๆ เล่นฟุตบอลมากกว่า 3.4 ล้านคน และมีจำนวนทีมฟุตบอลหญิงสำหรับเด็กและสาวๆ เพิ่มขึ้นจากปี 2017 มากถึง 54%
ฟุตบอลกลายเป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยมสำหรับสาวๆ ในสหราชอาณาจักร และลีกฟุตบอลหญิงของอังกฤษที่ไม่เคยมีมาก่อนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งในภาพยนตร์จูลส์ได้บอกกับเจสส์ที่อยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพว่า “ที่นี่ไม่มีหรอก แต่เธอเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ที่อเมริกา พวกเขามีโปรลีก มีสนาม มีทุกอย่าง” วันนี้นักเตะที่ดีที่สุดของอเมริกาก็ยังมาเล่นใน Women’s Super League ของอังกฤษ
เช่นเดียวกับอีกหนึ่งประเด็นใหญ่คือ ความเป็น ‘ชาวอังกฤษ’ ซึ่ง กูรินเดอร์ ชาดา ผู้กำกับ ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพของ เอียน ไรต์ ตำนานดาวยิงอาร์เซนอลสวมชุดที่มีธงยูเนียนแจ็ก ซึ่งเธอต้องการที่จะเปลี่ยนคอนเซปต์ของความเป็นคนอังกฤษใหม่ ที่ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติไหน หากเกิดหรือเติบโตที่อังกฤษก็คือคนอังกฤษ ไม่ได้เป็นคนแปลกแยกแต่อย่างใด
ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเปิดประตูหัวใจให้ทุกคนเข้าใจในความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของชาวบริติชเอเชีย (หรือจริงๆ คือบริติชอินเดีย) ได้มากขึ้นผ่านเรื่องราวชีวิตประจำวันที่ตัวเอกสาวต้องพบเจอ ที่แม้ว่ามันอาจจะดูเหมือนวุ่นวาย แต่ก็มีความงดงามในแบบของพวกเขาเอง
ฟุตบอล วัฒนธรรม และเชื้อชาติ คือสิ่งที่ Bend It Like Beckham ได้พยายามเชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกันผ่านลูกกลมๆ และการปั่นโค้งของเบ็คแฮม
ในอีกด้านชีวิตของเจสส์ในภาพยนตร์ยังโดนใจเด็กสาวอีกมากมาย โดยเฉพาะเด็กสาวในครอบครัวชาวบริติชเอเชียที่มีกรอบความคิดที่ค่อนข้างปิด เหมือนที่ครอบครัวของเจสส์คาดหวังให้เธอจบการศึกษาสูงๆ ได้งานดีๆ แต่งงาน มีครอบครัวของตัวเอง มากกว่าจะใส่เสื้อแขนสั้น กางเกงขาสั้น รองเท้าสตั๊ด ไปไล่เตะลูกฟุตบอลอยู่ในสนาม ซึ่งการเห็นตัวเอกทำตามความฝันได้สำเร็จก็เป็นการจุดประกายให้แก่พวกเธอแล้ว
แต่สิ่งนั้นไม่ได้โดนใจแค่เด็กสาวๆ เหล่านั้น แต่มันยังทำให้ครอบครัวอีกมากมายได้ฉุกคิดว่าตกลงสิ่งที่พวกเขาเชื่อนั้นคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกๆ จริงหรือไม่
เหมือนที่พ่อของเจสส์ซึ่งเคยเป็นนักคริกเก็ตที่มีพรสวรรค์ ก่อนที่จะย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ลอนดอน แต่สุดท้ายต้องตัดใจเลิกเล่น เพราะไม่มีทีมไหนในอังกฤษจะต้อนรับเขาเลย และยังถูกเหยียดเชื้อชาติจนทำให้เป็นปมในใจ ทำให้เขาไม่อยากเห็นลูกสาวต้องเจอสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน
สุดท้ายเจสส์ ผู้ซึ่งพยายามที่จะเชื่อมระหว่างโลกของครอบครัวบริติชเอเชียและโลกของกีฬาฟุตบอลเข้าด้วยกัน ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันไปด้วยกันได้นะ (และสุดท้ายพ่อของเธอก็ยอมรับและก้าวผ่านปมในใจของตัวเองด้วยการกลับมาเล่นคริกเก็ตอีกครั้ง)
และวิธีของเจสส์ในการที่จะทำให้ความฝันของเธอเป็นจริงได้ก็ได้มาจากลูกปั่นโค้งๆ ของเบ็คแฮมนี่แหละ ซึ่งเราจะได้เห็นว่าเธอพยายามที่จะหาทางทำให้ความฝันของเธอยังคงอยู่ โดยที่ไม่ได้ปฏิเสธรากเหง้าวัฒนธรรมของเธอเอง ขณะที่จูลส์เองก็กล้าหาญพอที่จะปฏิเสธที่จะใส่ชุดแบบผู้หญิง เพราะใจจริงแล้วหัวใจของเธอไม่ได้เป็นแบบนั้น
ชาดาเคยให้สัมภาษณ์ในปี 2003 เกี่ยวกับสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้แอบสอดแทรกเอาไว้ว่า “เราสามารถมองเห็นเป้าหมายของเราได้ แต่แทนที่เราจะลุยฝ่าไปตรงๆ เราสามารถที่จะบิดหรือดัดกฎบางอย่างให้โค้งงอ เพื่อที่เราจะได้ในสิ่งที่เราต้องการ” ซึ่งหมายถึงการที่ชีวิตไม่ได้มีเส้นทางเดียวเสมอไป
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งดีๆ ที่ภาพยนตร์เรื่อง Bend It Like Beckham ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศอังกฤษที่เป็นฉากหลังของเรื่องเท่านั้น แต่ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โลกทั้งใบได้ด้วย โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่เติบโตมากับภาพยนตร์เรื่องนี้ในวันนั้นที่กลายเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ ซึ่งพยายามจะสร้างโลกใบใหม่ที่ดีกว่าให้แก่คนรุ่นต่อไป
ไม่ต่างอะไรจากลูกปั่นโค้งของเบ็คแฮม เรื่องราวของเจสส์และจูลส์ได้หมุนคว้างเป็นเส้นโค้งกลางอากาศ เสียบเข้าสามเหลี่ยมกลางหัวใจของคนทั้งโลก และยังคงเป็นสิ่งที่ผู้คนรักแม้ว่าเวลาจะผ่านมา 20 ปีแล้วก็ตาม
“ใครก็ทำอาลูโกบี (แกงแบบอินเดีย) ได้ แต่ใครจะปั่นบอลได้เหมือนเบ็คแฮม?” 🙂
อ้างอิง: