พิษเศรษฐกิจและโควิด-อย่างยาวนานทำให้ความสุขในการใช้ชีวิตของคนไทยน้อยลง
สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน หรือ Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN เผยผลการศึกษาชิ้นใหม่ ภายใต้หัวข้อ ‘ความสุขของคนไทย และพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค’ ผลปรากฏว่า ค่าความสุขของคนไทยนั้นลดลง สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดและเศรษฐกิจถดถอย
ผลสำรวจประจำเดือนเมษายน 2565 เผยให้เห็นถึงภาพรวมของค่าความสุขของคนไทยที่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ไวรัสโควิดที่ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองซึ่งสร้างความกังวลใจให้กับคนไทยในการใช้จ่าย โดยรายการสินค้าที่ผู้บริโภคไทยให้ความสำคัญมากที่สุดในช่วงนี้ ได้แก่ อาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน และโทรศัพท์มือถือ เน้นซื้อของที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และยังคงให้ความสำคัญกับการซื้อของต่างๆ เพื่อคนในครอบครัว
นอกจากนี้ ประเด็นสงคราม การเมือง ฯลฯ ที่ส่งผลให้สินค้าอุปโภคและบริโภคมีราคาสูงขึ้น ทำให้คนไทยมองหาความมั่งคั่งมากกว่างานที่มั่นคง เพื่อให้มีรายได้ที่มากขึ้นชดเชยกับค่าใช้จ่าย และต้องวางแผนการจับจ่ายให้รัดกุมมากขึ้น ลดการเดินทางและการท่องเที่ยว แต่ยังคงใส่ใจครอบครัวด้วยการซื้อของให้ญาติผู้ใหญ่ในวันสำคัญ
Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN คือศูนย์วิจัยแห่งใหม่ของกลุ่มฮาคูโฮโดในภูมิภาคอาเซียน การศึกษาเกี่ยวกับ ‘การคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย’ ทุกๆ สองเดือน ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ รวมข้อมูลจากวันที่ 21 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2565 ผ่านการทำแบบสอบถามเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จากประชากรเพศชายและหญิงจำนวน 1,200 คน อายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาค ทั่วประเทศ
ภาพ: Shutterstock