สำนักนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน เปิดเผยว่า สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เห็นพ้องที่จะร่วมมือกันพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิก และขีดความสามารถในการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้สนธิสัญญาความมั่นคงไตรภาคี AUKUS ที่ผู้นำทั้งสามประเทศทำร่วมกันเมื่อปีที่แล้ว
นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งสหราชอาณาจักร ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย ระบุในแถลงการณ์ร่วมว่า พวกเขาพอใจกับความคืบหน้าของโครงการพัฒนาเรือดำน้ำที่ติดอาวุธตามแบบ และใช้พลังงานนิวเคลียร์สำหรับออสเตรเลีย
“นอกจากนี้ เรายังให้คำมั่นที่จะเริ่มต้นความร่วมมือไตรภาคีเกี่ยวกับอาวุธไฮเปอร์โซนิก และการต่อต้านอาวุธไฮเปอร์โซนิก ตลอดจนขีดความสามารถในการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์” แถลงการณ์ระบุ
สหรัฐฯ และออสเตรเลียมีโครงการพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียงอยู่แล้ว ภายใต้ชื่อโครงการ SCIFiRE ซึ่งย่อมาจาก Southern Cross Integrated Flight Research Experiment หรือโครงการทดลองวิจัยระบบการบินร่วมเซาท์เทิร์นครอส ซึ่งแม้ว่าสหราชอาณาจักรไม่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวในตอนนี้ แต่ทั้งสามประเทศจะทำงานร่วมกันในการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับอาวุธประเภทนี้
ฝ่ายบริหารของไบเดนกำลังลงทุนในการวิจัยและพัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง ซึ่งเดินทางด้วยความเร็วห้าเท่าของความเร็วเสียง เนื่องจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างมากเกี่ยวกับความมั่นคงของทวีปยุโรป
“สืบเนื่องจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียโดยปราศจากการยั่วยุ ปราศจากเหตุผล และไม่ชอบด้วยกฎหมาย เราขอย้ำถึงความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ของเราต่อระบบระหว่างประเทศที่เคารพสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และการแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติโดยปราศจากการบีบบังคับ” ผู้นำทั้งสามกล่าวในแถลงการณ์ พร้อมทั้งยืนยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง
ขณะที่ จางจวิน เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติ ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับข้อตกลงความร่วมมือระหว่างอังกฤษ สหรัฐฯ และออสเตรเลียในการพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียง โดยจางกล่าวเตือนถึงเรื่องดังกล่าวว่า หากไม่ต้องการเห็นวิกฤตแบบยูเครนเกิดขึ้นในส่วนอื่นๆ ของโลก ก็ควรหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจนำไปสู่วิกฤตแบบเดียวกัน
“คนจีนมีคำกล่าวว่า ถ้าไม่ชอบก็อย่าไปทำแบบนั้นกับคนอื่น” จางกล่าวกับผู้สื่อข่าว
เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้ประกาศความร่วมมือในสนธิสัญญาความมั่นคงอินโด-แปซิฟิกฉบับใหม่ และจัดตั้ง ‘พันธมิตรไตรภาคีด้านความมั่นคง’ หรือที่เรียกว่า AUKUS ซึ่งไบเดนยืนยันว่าเป็นความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในระยะยาว ในขณะที่หลายฝ่ายมองว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นความพยายามในการต่อต้านอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ที่มีหลายประเทศอ้างสิทธิ์
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างความโกรธเคืองให้กับฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก เนื่องจากการจับมือกันของสามชาติได้ส่งผลกระทบต่อข้อตกลงซื้อเรือดำน้ำมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่ออสเตรเลียทำร่วมกับฝรั่งเศสก่อนหน้านั้น
ทั้งนี้ ภายใต้กรอบความร่วมมือไตรภาคี AUKUS ออสเตรเลียจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการสร้างเรือดำน้ำที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งจะทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นหนึ่งในเพียง 7 ประเทศในโลกที่ได้ครอบครองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ นอกจากนี้ ชาติพันธมิตรยังจะแบ่งปันขีดความสามารถทางด้านไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอื่นๆ ร่วมกันด้วย
ภาพ: Kent Nishimura / Los Angeles Times via Getty Images
อ้างอิง: